"ซิงจงเอี๋ยน" (จีน: 新中原報; พินอิน: Xīn zhōng yuán bào; อักษรโรมัน: New Chinese Daily News) เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีน ที่ตีพิมพ์จำหน่ายในประเทศไทย

ซิงจงเอี๋ยน
ตราสัญลักษณ์ของหนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน
ประเภทหนังสือพิมพ์รายวัน
ขนาดหนังสือพิมพ์ผู้นำ
(Elite Newspaper)
เจ้าของบริษัท ตลาดน้อย จำกัด
ผู้เผยแพร่บริษัท ตลาดน้อย จำกัด
บรรณาธิการนางผุสดี คีตวรนาฎ (何韻)
คอลัมนิสต์นางผุสดี คีตวรนาฎ (何韻), สุเทพ ศุภภัทรานนท์ (林宏)
ก่อตั้งเมื่อ29 มิถุนายน พ.ศ. 2517[1]
นโยบายทางการเมืองสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่
ภาษาภาษาจีน
สำนักงานใหญ่เลขที่ 1022-30 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
ยอดจำหน่าย3,000 ฉบับ[2]

ประวัติ แก้

"ซิงจงเอี๋ยน" ก่อตั้งขึ้นมาครั้งแรกด้วยแรงหนุนของบรรดานักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนชื่อดัง เมื่อปี 2481 ในยุคแรกใช้ชื่อว่า "ตงง้วน" ซึ่งอ่านออกเสียงตามภาษาจีนแต้จิ๋ว ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกญี่ปุ่นเข้าควบคุมกิจการอยู่ 1 ปี เพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงสงคราม เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามกลางเมืองจีน หนังสือพิมพ์ตงง้วนได้ถือนโยบายสายกลาง "แต่เอียงซ้ายนิด ๆ" ทำให้ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่คนไทยเชื้อสายจีนในขณะนั้น ในเดือนตุลาคม 2501 ได้ปิดตัวลงหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ในข้อหา "ซ้ายเกินไป" ตงง้วน กลับมาเปิดใหม่อีกครั้งโดยนายลี่ คี่ ย้งในปี 2517 หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจร ออกนอกประเทศ พร้อมกับชื่อที่เปลี่ยนจาก "ตงง้วน" เป็น "ซิงจงเอี๋ยน" ซิง แปลว่า ใหม่ จงเอี๋ยน เป็นคำที่เขียนแบบเดิม ทว่าอ่านออกเสียงแบบจีนกลางแมนดาริน[3]

ต่อมานายผิน คิ้วไพศาล เจ้าของภูเก็ตแฟนตาซี และซาฟารีเวิลด์ ได้ขายกิจการให้นางผุสดี คีตวรนาฎ กระทั่งปี 2538 นายชาตรี โสภณพาณิชย์ เจ้าของธนาคารกรุงเทพ มาขอซื้อหุ้นกว่า 50% จากนางผุสดี และบริหารงานเอง ปัจจุบันนางผุสดียังเป็นผู้ถือหุ้น และเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา โดยนายชาตรีได้มอบให้ที่ปรึกษาส่วนตัว นายสุเทพ ศุภภัทรานนท์ มาเป็นกรรมการผู้อำนวยการ และบรรณาธิการบริหาร นายชาญศักดิ์ หิรัญสินสุนทร เป็นผู้จัดการทั่วไป[1] โดยนางผุสดีได้กล่าวว่า ตัวเองอายุมากแล้ว ลูกเต้าก็ไม่อยากจะมาทำหนังสือพิมพ์ ทางแบงก์กรุงเทพ ก็อยากจะได้ แล้วตอนนั้นเขาก็มีแผนกภาษาจีน คนรู้ภาษาจีนเยอะ เขาก็ซื้อไปส่วนหนึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้ดิฉันก็ยังเป็นหุ้นส่วนใหญ่คนหนึ่งแต่ไม่ใช่ใหญ่ที่สุด แบงก์กรุงเทพถือหุ้นใหญ่ที่สุดเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน[4]

สถานการณ์ปัจจุบัน แก้

ในปัจจุบัน หนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยนตีพิมพ์อยู่ที่ 3,000 ฉบับต่อวัน โดยกระจายส่งไปยังสมาชิกที่บอกรับหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศซึ่งทำให้ควบคุมปริมาณการพิมพ์ได้ และแทบจะไม่มีการวางขายตามแผงหนังสือพิมพ์[2][3]

หนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยนมีความต่างจากหนังสือพิมพ์ภาษาจีนฉบับอื่น จากการที่หน้าในค่อนข้างจะเน้นในเรื่องของสุขภาพผู้สูงวัย ทานอะไรทำให้อายุยืน ต้องออกกำลังกายอย่างไร ต้องหลีกเลี่ยงอะไร[4] และมีคอลัมน์วิจารณ์การเมืองไทยและสังคมจีนที่รุนแรงและฉุนเฉียว ที่เขียนโดยสุเทพ ศุภภัทรานนท์ ในนามปากกา “及時風” (พินอิน: jíshí fēng) ซึ่งผู้อ่านบางคนที่ยังคงซื้อหนังสือหนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยนกล่าวว่าเขายังซื้อหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เพื่ออ่านบทความของบุคคลผู้นี้บุคคลเดียว[5]

ผุสดี คีตวรนาฎ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราไว้ว่า กองบรรณาธิการเน้นรับคนจีนจากแผ่นดินใหญ่เข้าทำงาน เพราะเกิดปัญหาขาดแคลนคนทำงาน เป็นผลจากชาวไทยเชื้อสายจีนขาดช่วงในการเรียนภาษาจีน และชาวจีนยูนนานที่มากับกองพล 93 มีจำนวนไม่พอ และบอกถึงคุณลักษณะที่ดีของคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ไว้ว่าพวกเขาเพียงแค่เรียนภาษาไทยประมาณ 1 ปี ก็สามารถแปลข่าวจากไทยเป็นจีนได้[6]

หนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยนไม่มีนโยบายทำข่าวออนไลน์ มุ่งไปทางคนมีอายุ เพราะไม่ได้ผู้อ่านเท่าไร โดยอ้างถึงกรณีของหนังสือพิมพ์จีนสากล[4]

อ้างอิง แก้