ชาร์ล็อต กอร์แด
มารี-อาน ชาร์ล็อต เดอ กอร์แด ดาร์มง (ฝรั่งเศส: Marie-Anne Charlotte de Corday d'Armont) หรือเรียกย่อว่า ชาร์ล็อต กอร์แด เป็นบุคคลในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส เธอถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนในค.ศ. 1793 ในข้อหาลอบสังหารฌ็อง-ปอล มารา ผู้นำฝ่ายฌากอแบ็งซึ่งรับผิดชอบด้านการโฆษณาชวนเชื่อแนวคิดการปฏิวัติ มารามีส่วนสำคัญในการกำจัดอิทธิพลทางการเมืองของฝ่ายฌีรงแด็งที่กอร์แดฝักใฝ่อยู่ ในค.ศ. 1847 นักเขียนและกวีอย่างอาลฟงส์ เดอ ลามาร์ตีน ตั้งฉายาให้เธอว่า "เทพธิดาสังหาร" (l'ange de l'assassinat) เธอกลายเป็นหนึ่งในสตรีทรงอิทธิพลอันเป็นสัญลักษณ์ของยุคปฏิวัติฝรั่งเศสเฉกเช่นมารี อ็องตัวแน็ต และมาดามรอล็อง
ชาร์ล็อต กอร์แด Charlotte Corday | |
---|---|
ภาพวาดของกอร์แด ถูกวาดขึ้นตามคำขอของเธอไม่กี่ชั่วโมงก่อนถูกประหาร | |
เกิด | 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1768 เอกอร์ช (จังหวัดออร์น) นอร์ม็องดี, ฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1793 กรุงปารีส ฝรั่งเศส | (24 ปี)
สาเหตุเสียชีวิต | ถูกประหารโดยกิโยตีน |
มีชื่อเสียงจาก | ลอบสังหารฌ็อง-ปอล มารา |
ขบวนการ | ฌีรงแด็ง |
กอร์แดมีโอกาสได้ฟังการปราศรัยของพวกฌีรงแด็งในเมืองก็องและมีใจโน้มเอียงไปกับพวกเขา หลังการสังหารหมู่เดือนกันยายนในปี ค.ศ. 1792 (Massacres de Septembre) ซึ่งมารามีส่วนรับผิดชอบ กอร์แดก็เชื่อว่ามาราเป็นบุคคลอันตรายต่อประเทศอย่างแท้จริง นอกจากนี้เธอยังมีความเชื่อว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ไม่สมควรถูกประหาร[1] เธอมีความนิยมโครงสร้างสังคมอย่างในสมัยกรีกโบราณหรือโรมโบราณ[2] ซึ่งเป็นแนวทางที่เธอเห็นว่าขัดกับสิ่งที่มารากำลังทำอยู่
การลอบสังหารฌ็อง-ปอล มารา
แก้ฌ็อง-ปอล มาราเป็นสมาชิกแนวหน้าของฝ่ายหัวรุนแรงฌากอแบ็งที่มีบทบาทสำคัญในยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวของฝรั่งเศส มาราซึ่งเป็นนักสื่อสารมวลชนที่ทรงอิทธิพลผ่านหนังสือพิมพ์ L'Ami du people ("เพื่อนประชาชน")[3]
ในวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1972 กอร์แดออกเดินทางไปกรุงปารีสและเช่าโรงแรมอยู่ เธอซื้อมีดยาวหกนิ้วและเขียนจดหมายจ่าหน้าซอง "ถึงประชาชนฝรั่งเศส เหล่าสหายแห่งกฎหมายและสันติภาพ"[4] เพื่ออธิบายถึงแรงจูงใจในการสังหารมารา เดิมทีเธอตั้งใจจะสังหารมาราต่อหน้าสมาชิกที่ประชุมใหญ่แห่งชาติ แต่เมื่อเธอทราบว่ามาราเลิกเดินทางมาประชุมได้สักพักหนึ่งแล้วจากอาการป่วยโรคผิวหนัง เธอจึงเปลี่ยนแผนโดยไปยังบ้านพักของมาราในช่วงบ่ายของวันที่ 13 กรกฎาคม โดยเธออ้างว่าเธอรู้แผนการของพวกฌีรงแด็งที่จะก่อการลุกฮือในเมืองก็อง อย่างไรก็ตาม กอร์แดถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าพบโดยน้องสาวของคู่หมั้นมารา[5]
เมื่อเธอกลับมาอีกครั้งในตอนค่ำ มารายอมให้เข้าพบ ขณะนั้นมาราอยู่ระหว่างการแช่อ่างอาบน้ำผสมยาเพื่อรักษาอาการป่วยทางผิวหนัง ในขณะที่มารากำลังดูรายชื่อของพวกฌีรงแด็งที่เธอส่งให้นั้น เธอก็ชักมีดออกมาและแทงไปที่หน้าอกของมารา มาราตะโกนขอความช่วยเหลือและสิ้นลมหายใจ[6] เธอถูกจับกุมและนำตัวขึ้นไต่สวนต่อศาลอาญาปฏิวัติ เธอให้การว่ามารานั้นเป็นสัตว์ประหลาดที่ถูกบูชาเฉพาะในปารีส "ฉันรู้ดี มาราน่ะกำลังพาฝรั่งเศสหลงผิด ฉันฆ่าคนไปหนึ่งคนเพื่อช่วยคนอีกนับแสน" เธอยังให้การว่าเธออาศัยโชคในการแทงมาราจนสิ้นใจในมีดเดียวโดยไม่ได้ฝึกฝนมาก่อน[7]
กอร์แดถูกประหารชีวิตโดยมือเพชฌฆาตชาร์ล-อ็องรี ซ็องซง ที่ปลัสเดอลาเรวอลูว์ซียงในกรุงปารีสต่อหน้าสาธารณชนในอีกสี่วันให้หลังก่อเหตุ เธอถูกจัดให้สวมกระโปรงตัวนอกสีแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของผู้ทรยศชาติ เมื่อหัวเธอหลุดจากบ่าด้วยเครื่องกิโยตีน พวกผู้นำฌากอแบ็งก็สั่งให้มีการพิสูจน์พรหมจรรย์เธอทันทีเนื่องจากเชื่อว่าเธออาจร่วมหลับนอนกับบุรุษซึ่งอยู่เบื้องหลังใช้ให้เธอมาสังหารมารา แต่ก็พบว่าเธอนั้นยังเป็นพรหมจารี[8] อย่างไรก็ตาม การตายของเธอมิอาจหยุดสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวอันเกิดจากการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของพวกฌากอแบ็งได้
อ้างอิง
แก้- ↑ name = "Whitham": 160
- ↑ Thomas, Chantal (1989). HEROISM IN THE FEMININE: THE EXAMPLES OF CHARLOTTE CORDAY AND MADAME ROLAND. University of Pennsylvania Press.
- ↑ Schama 2005, p. 445.
- ↑ ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส: Addresse aux Français amis des lois et de la paix
- ↑ Schama, Simon. Citizens. p. 735. ISBN 0-670-81012-6.
- ↑ Schama, Simon. Citizens. p. 736. ISBN 0-670-81012-6.
- ↑ Schama 2005, pp. 736–37.
- ↑ Corazzo, Nina; Montfort, Catherine R (1994), "Charlotte Corday: femme-homme", ใน Montfort, Catherine R (บ.ก.), Literate Women and the French Revolution of 1789, Birmingham, AL: Summa Publications, p. 45