มาดามรอล็อง
มารี-ฌาน รอล็อง เดอ ลา ปลาเตียร์ (ฝรั่งเศส: Marie-Jeanne Roland de la Platière) นามเดิมว่า มารี-ฌาน ฟลีปง (Marie-Jeanne Phlipon) หรือนิยมเรียก มาดามรอล็อง (Madame Roland) เป็นนักเขียน, ผู้จัดซาลง (เสวนาสโมสร) และนักกิจกรรมในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส
มารี-ฌาน รอล็อง เดอ ลา ปลาเตียร์ Marie-Jeanne Roland de la Platière | |
---|---|
เกิด | มารี-ฌาน ฟลีปง 17 มีนาคม ค.ศ. 1754 กรุงปารีส ราชอาณาจักรฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1793 ปลัสเดอลาเรวอลูว์ซียง กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส | (39 ปี)
อาชีพ | นักกิจกรรมการเมือง, ผู้จัดซาลง, นักเขียน |
คู่สมรส | ฌ็อง-มารี รอล็อง เดอ ลา ปลาเตียร์ (สมรส 1780; เสียชีวิต 1793) |
ลายมือชื่อ | |
เดิมทีนางใช้ชีวิตอย่างธรรมดาและสงบในชนบทร่วมกับสามีซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เมื่อการปฏิวัติฝรั่งเศสปะทุขึ้นใน ค.ศ. 1789 นางจึงเริ่มสนใจการเมือง นางเข้าร่วมช่วงแรกของการปฏิวัติในลียง ในช่วงนี้เองที่นางเริ่มรู้จักนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์หลายคน ต่อมาใน ค.ศ. 1791 นางกับสามีย้ายไปยังกรุงปารีส นางกลายเป็นหนึ่งในแกนนำของฌีรงแด็ง กลุ่มการเมืองปฏิวัติสายกลาง นางได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีความสามารถในการเจรจาและการวิ่งเต้น เสวนาสโมสรได้รับการจัดขึ้นที่บ้านในปารีสหลายครั้งต่อสัปดาห์ มีนักสาธารณรัฐนิยมหลายคนเข้าร่วม ซึ่งรวมถึงรอแบ็สปีแยร์ และโทมัส เพน[1] ระหว่างการเสวนานี้ นางจะนั่งอ่านหนังสือหรือเย็บปักถักร้อยที่โต๊ะ นางไม่เคยมีส่วนร่วมในบทสนทนาแต่ตั้งใจฟังอย่างดี
ในขณะที่หญิงนักกิจกรรมหญิงคนอื่นรณรงค์เรื่องสิทธิทางการเมืองของสตรี แต่รอล็องไม่ได้รณรงค์ในด้านนี้ นางเชื่อว่าสตรีควรจะมีบทบาททางด้านการบ้านการเมืองให้น้อยที่สุด หลายคนมองว่าความคิดและการกระทำของเธอย้อนแย้งกัน เพราะตัวเธอเองก็มีบทบาทสำคัญในกลุ่มฌีรงแด็ง เมื่อสามีได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยใน ค.ศ. 1792 อิทธิพลของนางก็มากขึ้นตาม นางมีอำนาจครอบงำสามี โดยเป็นผู้ดูแลเอกสาร จดหมาย ตลอดจนร่างสุนทรพจน์ แม้กระทั่งออกความเห็นการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งต่าง ๆ นางมองว่าการใช้กำลังถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมืองเป็นเรื่องยอมรับได้เพื่อทำการปฏิวัติในอุดมคติให้สำเร็จ[2] และเมื่อสงครามกับต่างชาติปะทุขึ้น นางจึงผิดใจกับรอแบ็สปีแยร์ที่คัดค้านสงคราม[3] นางถูกนักสื่อสารมวลชนอย่างมาราและเอแบร์กล่าวโจมตีอย่างสาดเสียเทเสียในช่วงการแย่งชิงอำนาจระหว่างฌีรงแด็งกับลามงตาญ
ในเช้าวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1793 นั้นเอง นางถือเป็นสมาชิกฌีรงแด็งคนแรกที่ถูกจับกุม ซึ่งตามมาด้วยการหว่านจับกุมสมาชิกฌีรงแด็งอีกจำนวนมาก นางถูกกิโยตีนในอีกห้าเดือนถัดมา เมื่อสามีซึ่งกำลังซ่อนตัวอยู่ในเมืองรูอ็องทราบข่าวการประหาร เขาก็ฆ่าตัวตายตามนาง[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ Reynolds 2012, p. 159.
- ↑ Tarbell 1896, pp. 124–27.
- ↑ Reynolds 2012, pp. 168, 174, 179.
- ↑ Tarbell, p. 302