ฌ็อง-ปอล มารา
ฌ็อง-ปอล มารา (ฝรั่งเศส: Jean-Paul Marat) เป็นนักทฤษฎีการเมือง แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส มีชื่อเสียงขึ้นมาจากการเขียนบทความทางการเมืองฝ่ายซ้ายจัดลงในหนังสือพิมพ์ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส เขาเป็นหนึ่งในสื่อมวลชนหัวซ้ายจัดที่สุดในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส เขาเป็นกระบอกเสียงให้สำคัญแก่พวกซ็อง-กูว์ล็อต (ชนชั้นกลางและล่าง) ผ่านใบปลิว ป้ายประกาศ หนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ลามีดูว์เปิปล์ ("เพื่อนประชาชน") ซึ่งช่วยทำให้เขามีเส้นสายกับกลุ่มลามงตาญในสโมสรฌากอแบ็ง ซึ่งกลุ่มนี้ก้าวขึ้นมามีอำนาจในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1793
ฌ็อง-ปอล มารา | |
---|---|
เกิด | 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1743 รัฐเนอชาแตล, ปรัสเซีย |
เสียชีวิต | 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1793 กรุงปารีส ฝรั่งเศส | (50 ปี)
สาเหตุเสียชีวิต | ลอบสังหาร |
อาชีพ | นักหนังสือพิมพ์, นักการเมือง, แพทย์, นักวิทยาศาสตร์ |
พรรคการเมือง | สโมสรฌากอแบ็ง (1789–1790) สโมสรกอร์เดอลีเย (1790–1793) |
มาราถูกสังหารโดยชาร์ล็อต กอร์แด ผู้ฝักใฝ่ฝ่ายฌีรงแด็ง เธอถูกประหารชีวิตในอีกสี่วันต่อมา หลังการเสียชีวิตของมารา มาราก็ถูกชูขึ้นเป็นมรณสักขีของสโมสรฌากอแบ็ง พิธีศพมีการยิงสลุตทุก 5 นาทีเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง
ประวัติ
แก้ฌ็อง-ปอล มารา เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1743[1] ที่เมืองบูดรี ราชรัฐเนอชาแตล ในราชอาณาจักรปรัสเซีย (ปัจจุบันตั้งอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์) เป็นบุตรคนที่สองจากเก้าคนของฌ็อง มารา (หรือ โจวันนี มารา) บิดาของเขาเป็นผู้อพยพทางศาสนาที่หันมานับถือลัทธิคาลวินในนครเจนีวา เมื่อมารามีอายุได้ 16 ปี มาราตระหนักว่าการเป็นคนอพยพในแคว้นนี้ทำให้โอกาสของเขาถูกปิดกั้น ดังนั้นมาราจึงออกจากบ้านเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ แม้จะเป็นคนที่มีการศึกษาสูงแต่มาราก็ถูกปฏิเสธจากวิทยาลัยหลายแห่ง เขาจึงย้ายไปปารีสและเข้าเรียนการแพทย์ที่นั่นโดยไม่ได้รับใบประกาศรับรองใด ๆ เลย
ในปี ค.ศ. 1765 เขาจึงย้ายไปยังกรุงลอนดอนและเริ่มประกอบอาชีพเป็นแพทย์ที่นั่น และได้เป็นเพื่อนกับอันเจลิคา คอฟมันน์ ศิลปินแห่งราชบัณฑิตยสถานศิลปะ ทำให้เขาเริ่มคบค้าสมาคมกับพวกสถาปนิกและศิลปินชาวอิตาลี ทำให้เขาเริ่มสนใจแนวคิดทางปัญญา งานเกี่ยวกับปรัชญา ตลอดจนทฤษฏีการเมือง[2]
ในปี ค.ศ. 1770 มาราย้ายไปยังนิวคาสเซิลอะพอนไทน์และเริ่มงานเขียนทางการเมืองชิ้นแรกของเขา Chains of Slavery (ห่วงโซ่ของระบอบทาส) ในค.ศ. 1776 เขาก็เดินทางไปยังกรุงปารีสโดยแวะเยี่ยมครอบครัวที่นครเจนีวา ในค.ศ. 1777 เขาได้กลายเป็นแพทย์ประจำองครักษ์ในเคานต์แห่งอาร์ตัว (ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส)[3]
ตั้งแต่ค.ศ. 1789 มาราเริ่มทำการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่ชื่อว่า ลามีดูว์เปิปล์ ("เพื่อนประชาชน") ซึ่งช่วยทำให้เขามีเส้นสายกับกลุ่มต่อต้านระบอบกษัตริย์ และทำให้งานพิมพ์ของเขากลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญของชนชั้นล่างและชั้นกลางไป อย่างไรก็ตาม แนวความคิดของมาราค่อนข้างเป็นฝ่ายซ้ายแบบสุดโต่งเกินไป งานเขียนส่วนใหญ่ของเขามีลักษณะที่ปลูกฝังความเกลียดชังต่อชนชั้นนำ แต่นี่กลับเป็นบทความที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในฝรั่งเศสยุคนั้น บางส่วนของงานเขียนของมารากล่าวไว้ว่า "ห้าหกร้อยหัวที่ถูกตัดไปจะช่วยรับประกันความสงบ, อิสรภาพ และความสุขที่แท้จริง"[4]
งานเขียนดังกล่าวทำให้มารากลายเป็นบุคคลที่ศัตรูมากขึ้นอย่างนับไม่ถ้วน ในช่วงปีค.ศ. 1790-1792 เขาต้องหนีไปหลบซ่อนตัวในท่อน้ำทิ้งและทำให้โรคผิวหนังเรื้อรังของเขาย่ำแย่ลง (คาดว่าเป็นโรคผิวหนังอักเสบจากเริม)[5] หลังจากนั้นเขาแทบจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในอ่างน้ำใส่ยา
อ้างอิง
แก้- ↑ Belfort Bax 2008, p.5.
- ↑ de Cock, J. & Goetz, C., Œuvres de Jean-Paul Marat, 10 volumes, Éditions Pôle Nord, Brussels, 1995.
- ↑ Conner, Clifford D. Jean Paul Marat: scientist and revolutionary, Humanities Press, New Jersey 1997 p.35
- ↑ Gregory Fremont-Barnes (2007). Encyclopedia of the age of political revolutions and new ideologies, 1760–1815: vol 1. Greenwood. pp. 1:450.
- ↑ Jelinek, J.E. (1979). "Jean-Paul Marat: The differential diagnosis of his skin disease". American Journal of Dermatopathology. 1 (3): 251–52. doi:10.1097/00000372-197900130-00010. PMID 396805.