ชั้นสแคโฟโปดา
เปลือกหอยชนิด Antalis vulgaris จากฝรั่งเศส
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Mollusca
ชั้น: Scaphopoda
Bronn, 1862
อันดับ

ชั้นสแคโฟโปดา (ชั้น: Scaphopoda) เป็นหนึ่งในชั้นของไฟลัมมอลลัสคาที่ยังสืบเผ่าพันธุ์มาจนปัจจุบัน ซึ่งสัตว์ในชั้นนี้พบมีอยู่มายาวนานกว่า 240 ล้านปีมาแล้ว โดยพบหลักฐานในซากดึกดำบรรพ์ ปัจจุบันพบแล้วประมาณ 1,000 ชนิด ซึ่งเรียกกันในชื่อสามัญว่า หอยงาช้าง หรือ หอยฟันช้าง[1](อังกฤษ: Tusk Shell)

ทุกชนิดจะอาศัยอยู่ภายใต้พื้นทรายใต้ทะเล มีรูปร่างโดยรวม คือ เปลือกมีรูปร่างคล้ายฝักดาบซามูไรหรืองาของช้าง มีลักษณะเรียวยาว โค้งตรงกลางเล็กน้อย หน้าตัดเป็นทรงค่อนข้างกลม มีช่องเปิดที่ปลายสุดของทั้งสองด้านซึ่งด้านหนึ่งจะใหญ่กว่าอีกด้านเสมอ มีขนาดตั้งแต่ 5 มิลลิเมตรจนถึง 15 เซนติเมตร

ศัพท์คำว่า Scaphopoda นั้น สามารถแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "เท้าเป็นจอบ" (shovel-footed)

มีลักษณะโครงสร้างคือ ไม่มีตา ไม่มีเส้นเลือด ไม่มีแม้กระทั่งอวัยวะสำคัญอย่าง หัวใจ โดยเลือดจะถูกสูบโดยแรงดันน้ำภายในเนื้อเยื่อจากการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเท้าที่มีรูปร่างคล้ายจอบ ที่ใช้ขุดเจาะเพื่อแทรกเปลืองลงวางตัวดิ่งในพื้นทราย มีอวัยวะพิเศษคล้ายหนวดเล็ก ๆ รอบ ๆ ปากด้านล่างเรียกว่า "captacula" ทำหน้าที่ดักจับอาหารเข้าสู่ปากเพื่อบดเคี้ยวและย่อยสลาย แล้วพ่นทิ้งออกอีกทางเป็นของเสีย

เปลือกของหอยงาช้าง นั้น ผู้หญิงในอินเดียนแดงเผ่าลาโคตาใช้ทำเครื่องประดับสำหรับตกแต่งเสื้อผ้าหรือชุดที่สวมใส่เช่นเดียวกับขนของเม่น[2]

อ้างอิง แก้

  1. ความหมายของคำว่า งาช้าง ๒ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
  2. คอลัมน์ Aqua Pets โดย จอม ปัทมคันธิน หน้า 100-108 นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 7 ปีที่ 1 ประจำเดือนมกราคม 2011