จ๊อกกี้ ศิษย์กันภัย

จ๊อกกี้ ศิษย์กันภัย เจ้าของฉายา ขุนเข่าพลังม้า มีชื่อจริงคือ พุทธา นารี เป็นนักมวยไทยชาวไทย ในปี พ.ศ. 2520 เขาได้จับคู่จิตติ เมืองขอนแก่น ขึ้นชกกับโพธิ์ไทร สิทธิบุญเลิศ ในแบบสองต่อหนึ่ง นับเป็นการต่อสู้แบบสองต่อหนึ่งครั้งแรกของวงการมวยไทย[1]

จ๊อกกี้ ศิษย์กันภัย
(Jockey Sitkanpai)
ชื่อจริงพุทธา นารี
ฉายาขุนเข่าพลังม้า
รุ่นแบนตัมเวท
เกิด18 เมษายน พ.ศ. 2497 (69 ปี)[ต้องการอ้างอิง]
ไทย ตำบลหนองโก อำเภอกระนวน
จังหวัดขอนแก่น
ผู้จัดการสมมาตร หงสกุล
ค่ายมวยประเสริฐ กันภัย
เทรนเนอร์สายัณห์ สิงห์สายัณห์ (พี่ชาย)

นอกจากนี้ เขายังเป็นเจ้าของผลงานโดดเด่นของเวทีมวยลุมพินี ด้วยการเป็นฝ่ายชนะนักคาราเต้ชาวอเมริกันผู้มีนามว่าลินเซย์ เฟอร์กูสัน ในยุคที่ พ.อ.ชาย ดิษยเดช เป็นนายสนามมวย โดยมีผู้ชมนับหมื่นคนในการแข่งขันนัดดังกล่าว และสามารถเก็บค่าผ่านประตูได้ถึง 1.12 ล้านบาท[2]

ประวัติ แก้

จ๊อกกี้ ศิษย์กันภัย มีชื่อจริงคือ พุทธา นารี เกิดวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2497 ที่ตำบลหนองโก อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น เขาได้รับการฝึกมวยไทยจาก สายัณห์ สิงห์สายัณห์ ผู้เป็นพี่ชาย และเขาได้เข้าแข่งขันมวยไทยครั้งแรกเมื่ออายุ 12 ปี โดยใช้ชื่อ พุทธศักดิ์ สิงห์สายัณห์ และเป็นฝ่ายชนะจากการใช้เข่า โดยได้รับเงินรางวัลจากการแข่งขันครั้งดังกล่าวที่ 30 บาท

ครั้นเมื่ออายุได้ 17 ปี เขาได้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร โดยได้อาศัยอยู่กับบุญชู ทรัพย์แก้ว และเปลี่ยนชื่อในการแข่งขันใหม่เป็น จ๊อกกี้ สิงห์ธ.ส. และมีผลงานชนะยอด สิงห์สามเหลี่ยม ที่เวทีพระประแดง จากนั้นเพียงสองปีกว่า ชื่อเสียงของจ๊อกกี้ก็เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ เมื่อครั้งที่เขาได้เป็นฝ่ายชนะสกัด เพชรยินดี อย่างราบคาบด้วยการใช้เข่าเข้าโจมตี จากการต่อสู้ที่ดุเดือดและรุนแรง ของการแข่งขันศึกน้ำเงินมหากุศล ที่เวทีมวยราชดำเนิน ณ วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 โดยเก็บค่าผ่านประตูได้ 880,000 บาท

ต่อมา เขาได้ย้ายไปอยู่ที่ค่ายมวยของประเสริฐ กันภัย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อชกใหม่เป็น จ๊อกกี้ ศิษย์กันภัย

จ๊อกกี้ได้รับการกล่าวว่าเป็นยอดนักมวยแห่งยุคที่เคยขึ้นชกกับเผด็จศึก พิษณุราชันย์, สกัด เพชรยินดี, หนองคาย ส.ประภัสสร, ผุดผาดน้อย วรวุฒิ[3][4], วิชาญน้อย พรทวี, ณรงค์น้อย เกียรติบัณฑิต, เริงศักดิ์ พรทวี, โพธิ์ไทร สิทธิบุญเลิศ, ขุนพลน้อย เกียรติสุริยา และวังวน ลูกมาตุลี[5] โดยได้รับค่าตัวที่กว่า 5 หมื่นบาทในทุกการแข่งขันของช่วงดังกล่าว

ครั้นชื่อเสียงการใช้เข่าของจ๊อกกี้เป็นที่กล่าวขวัญ ก็ได้มีนักมวยไทยผู้มีชื่อเสียงด้านการใช้เข่าผงาดขึ้นมาอีกราย เขาผู้นั้นคือเรือนแพ ศิษย์วัดหนัง ซึ่งเป็นเจ้าของฉายา ขุนเข่าขมังเวทย์ แล้วในที่สุด ทั้งสองก็ได้โคจรมาพบกัน ณ การแข่งขันชิงแชมป์รุ่นแบนตัมเวท แห่งเวทีมวยราชดำเนิน จากการแข่งขันครั้งดังกล่าว จ๊อกกี้เป็นฝ่ายชนะ และถือเป็นการแข่งขันที่สร้างความประทับใจมากที่สุดสำหรับเขา

ในภายหลัง เขาได้มีโอกาสเดินทางไปแข่งขัน ณ ประเทศญี่ปุ่น 2 ครั้ง โดยผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะกับเจ้าภาพ เมื่อกลับมาแข่งที่ประเทศไทย เขาก็ได้เป็นฝ่ายแพ้ต่อไกรเพชร ส.ประทีป และนัดสุดท้ายเป็นฝ่ายแพ้ต่อสามารถ ประสานมิตร ที่ซึ่งเขาได้อำลาการแข่งขันขณะอายุได้ 26 ปี ในปี พ.ศ. 2523

ชีวิตส่วนตัว แก้

ด้านชีวิตส่วนตัว สมรสกับสำเนียง นารี และมีลูกด้วยกันทั้งหมด 3 คน โดยที่ทั้งคู่ได้ทำไร่นา ไร่อ้อย และขับรถสองแถวรับส่งนักเรียนเพื่อรายได้เสริม รวมถึงเขายังได้รับเลือกเป็นอบต.ตำบลหนองโก เนื่องจากได้รับการยอมรับและนับถือจากเพื่อนบ้าน

ผลงานระดับนานาชาติ แก้

วันที่ ผล คู่ชก รายการ สถานที่จัด วิธีชนะ ยก
ไม่ทราบ ชนะ   ลินเซย์ เฟอร์กูสัน สนามมวยเวทีลุมพินี กรรมการนับสิบ 2 [2]
ไม่ทราบ แพ้   ไม่ทราบชื่อ ประเทศญี่ปุ่น แพ้
ไม่ทราบ ชนะ   ไม่ทราบชื่อ ประเทศญี่ปุ่น ชนะ

สิ่งสืบเนื่อง แก้

ภายหลังจากจ๊อกกี้ ศิษย์กันภัย แขวนนวมจากการชกมวยไทยแล้วเขาได้ตั้งค่ายมวยไทยชื่อค่ายจ๊อกกี้ยิมซึ่งนักมวยที่โด่งดังและโดดเด่นที่สุดของค่ายคือ ศิลปไทย จ๊อกกี้ยิม แต่ในปัจจุบันค่ายมวยจ๊อกกี้ยิมได้ปิดตัวแล้ว[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง แก้

  1. เผยโฉมคู่ซก "แสนชัย" สองรุมหนึ่ง.. - มวยสากล มวยโลก มวยไทย
  2. 2.0 2.1 "Sport Classic:เว็บข่าวกีฬาและสุขภาพ » สนามมวย"ลุมพินี" 57 ปีแห่งความหลัง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-26. สืบค้นเมื่อ 2021-09-09.
  3. "ไอ้หมูแข้งทอง ผุดผาดน้อย วรวุฒิ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2014-12-16.
  4. "KBank Hall of Fame: ยอดมวยเมืองตรัง พุฒ ล้อเหล็ก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-10. สืบค้นเมื่อ 2014-12-16.
  5. "ไอ้หมัดป่าเถื่อน" วังวน ลูกมาตุลี - กะฉ่อน.คอม[ลิงก์เสีย]
บรรณานุกรม
  • สว่าง สวางควัฒน์. คอลัมน์ "ฉายาชาวยุทธ์". หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน. ISSN 1686-8218
  • หนังสือมวย บ๊อกซิ่ง. พ.ศ. 2520