จีระพันธ์ วีระพงษ์

จีระพันธ์ วีระพงษ์ เป็นนักร้องลูกทุ่งชายเสียงดี ที่อยู่ในวงการเพลงลูกทุ่งมามากกว่า 35 ปี และมีผลงานเพลงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางหลายเพลง เสียงของจีระพันธ์ วีระพงษ์ ออกมาในทางเดียวกับ ระพิน ภูไท ปัจจุบันก็ยังคงผลิตผลงานเพลงออกสู่ท้องตลาด จีระพันธ์ วีระพงษ์ โด่งดังมาจากเพลง คุณนายใจบุญ และโด่งดังอย่างมากจากเพลง ไก่นาตาฟาง และ มาดามดิงดอง

จีระพันธ์ วีระพงษ์
ชื่อเกิดจีระพันธ์ วีระพงษ์
เกิด10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 (73 ปี)
ที่เกิดอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แนวเพลงลูกทุ่ง
อาชีพนักร้อง

ประวัติ แก้

จีระพันธ์ วีระพงษ์ มีชื่อเล่นว่า นะ เกิดเมื่อ 10 ก.พ. 2494 เป็นชาว อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในครอบครัวนักดนตรีพิณพาทย์ โดยมีพ่อเป็นมือระนาด ดนตรีจึงอยู่ในสายเลือดของเขามาตั้งแต่เด็ก ตอนยังเล็กเขาก็ช่วยครอบครัวในเรื่องดนตรีด้วยการตีฉิ่ง และอื่นๆ พร้อมๆกับชอบการร้องเพลง โดยเขาชอบเพลงแนวเพลงของสมยศ ทัศนพันธ์ แต่ก็ไม่ได้ร้องเป็นชิ้นเป็นอัน

เข้าวงการ แก้

ต่อมาเมื่อครอบครัวที่พอมีพอกินของเขา (เคยมีเรือยนต์ เรือเมล์ ) ถูกโกง และหมดเนื้อหมดตัว เมื่อเรียนจบโรงเรียนภาคบังคับ (ประถม) จีระพัน วีระพงษ์ ก็ออกมาหางานทำ โดยเขาทำงานมาหลากหลาย รวมทั้งการเป็นเด็กขายขนมปัง เด็กเสิร์ฟ และพออายุ 15 ก็มาเป็นกระเป๋ารถเมล์ โดยเมื่อครั้งที่เป็นกระเป๋ารถเมล์ เมื่อมีงานชุมนุมรื่นเริงในหมู่เพื่อนฝูงที่ทำงานด้วยกัน เขาก็มักเป็นต้นเสียงในการร้องเพลงในกลุ่มเสมอ ในช่วงนั้น เขาได้ลองไปสมัครร้องเพลงในรายการเลียนแบบดารา โดยการร้องเพลงเลียนแบบแนวเสียงของระพิน ภูไท ที่โทรทัศน์ช่อง 3 ปรากฏว่า ตกรอบแรก

ต่อมาเมื่ออายุ 17 ลูกพี่ที่ขับรถเมล์มองเห็นแววดัง จึงพาเขามาฝากกับวงดนตรี โดยเริ่มต้นกับวงเทวัญ ขวัญพนา แถวห้วยขวาง ซึ่งที่นี่เขาทั้งเป็นนักร้องและมือกลอง จากนั้นก็มาอยู่กับวงกาสะลอง ซึ่งเป็นวงคอมโบ้ ต่อมาเมื่ออายุ 19 ปีก็ย้ายมาจับงานจัดรายการอยู่ที่สถานีวิทยุยานเกราะแถวบางกระบือ และกลับไปเป็นนักร้อง ก่อนจะเลิก และหันไปทำขนมขาย ก่อนที่จะย้ายมาอยู่กับวงบรรจบ เจริญพร ซึ่งที่นี่เขาได้เจอกับครูฉลอง ภู่สว่าง ครูเพลงชื่อดัง ครูฉลองเห็นแววดังของเขาจึงแต่งเพลงให้ 5 เพลง และพาไปบันทึกเสียงเมื่อ 7 พ.ค. 2515 โดยหนึ่งในเพลงชุดแรกของเขาก็คือเพลง ” คุณนายใจบุญ “ หลังจากที่เชียร์อยู่กว่า 4 เดือน พอถึงเดือนตุลาคม จีระพันธ์ วีระพงษ์ ก็แจ้งเกิดในวงการลูกทุ่งอย่างเต็มภาคภูมิกับเพลงคุณนายใจบุญ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าเพลงนี้ดังได้ เพราะเป็นเพลงต่อเนื่องจากเพลงคุณนายโรงแรม ของระพิน ภูไท ที่ครูฉลองแต่ง และดังมาก่อนแล้ว

หลังเพลงดัง และผู้ฟังอยากเห็นหน้าค่าตา จีระพันธ์ วีระพงษ์ จึงได้ตั้งวงออกรับงานแสดงทั่วไป ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมาก จากนั้นก็ตั้งหน้าตั้งแต่ผลิตผลงานเพลงดังออกมามากมาย โดยในยุคแรกเป็นผลงานของครูฉลองเป็นหลัก ในยุคต่อมาก็ได้เพลงของครูชลธี ธารทอง มาเสริม เขาทำวงอยู่ 7 ปี เมื่อความนิยมเริ่มเสื่อม เขาก็ยุบวงเมื่อปี 2522

หลังยุบวง แก้

ในยุคที่วงการลูกทุ่งซบเซาขนาดหนัก จีระพันธ์ วีรพงษ์ ก็หันไปจับงานร้านอาหาร – คาเฟ่ อยู่ 2 ปี ก็เลิก จากนั้นก็หยิบเพลงเก่ามาบันทึกเสียงใหม่ให้กับบริษัทนิธิทัศน์โปรโมชั่นอยู่ 2 ชุด และเมื่อวงการเพลงเริ่มฟื้นจากเพลง “สมศรี” ของยิ่งยง ยอดบัวงาม กลุ่มนักร้องลูกทุ่งยุคก่อน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น ก็มีจีระพันธ์ วีรพงษ์ รวมอยู่ด้วย ก็พยายามที่จะให้นักร้องรุ่นเก่าได้กลับสู่วงการ แต่ด้วยจุดอ่อนหลายประการ พวกเขาจึงออกมาในรูปของการนำเพลงเก่ามาทำเป็นจังหวะรำวงสนุกสนาน และรวมกันร้องทีละหลายคน โดยให้ชื่องานชุดนี้ว่า “บุญหลาย” โดยให้เหตุผลว่า การที่พวกเขาโด่งดังและอยู่รอดจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะว่าต่างคนต่างก็มีบุญหลายกันทุกคน งานเพลงชุดบุญหลายถูกผลิตออกมารวม 3 ชุด และเมื่อผู้ฟังเริ่มต้อนรับนักร้องเก่ากลับมา จากนั้นต่างคนก็กระจัดกระจายกันไปผลิตผลงานของตนเองอีกครั้ง ซึ่งก็รวมถึงวีระพันธ์ วีระพงษ์ ด้วย จีระพันธ์ วีรพงษ์ บอกว่าเสื้อลายดอก แบบที่นิยมใส่กันในช่วงสงกรานต์ปัจจุบัน มาจากอิทธิพลของชุดบุญหลาย [1]

ผลงานเพลงดัง แก้

  • ไก่นาตาฟาง
  • มาดามดิงดอง
  • โห่....กำนัน
  • คุณนายใจบุญ
  • เมษาเศร้า
  • รักเธอไม่ได้
  • ขอพบเธอเพียงครึ่งนาที
  • เจ้าซินอนกอดไผ๋
  • ฝากใจไว้ที่พิษณุโลก
  • ยิ้มระดับโลก
  • แท็กซี่ป้ายเหลือง
  • ขาอ่อนเงินล้าน
  • ผู้หญิงใจดำ
  • กลัวกรุงเทพฯ
  • คนจนไม่หวาน
  • บ๊ายบายผู้หญิง
  • เจ้าทึม
  • หัวใจชั่ว
  • ซึมๆโซๆ

ผลงานเพลง แก้

  • บุญหลาย 1 - 3 (2538 – 2540 )
  • ได้ไม่ดี ดีไม่ได้ (2550)
  • อิจฉาแมลง (2550)

ภาพยนตร์ แก้

  • อ้อนรักแฟนเพลง (2533)
  • สัตว์มนุษย์ (2519)

ปัจจุบัน แก้

จีระพันธ์ วีระพงษ์ ยังคงผลิตผลงานออกมาอยู่บ้าง รวมทั้งรับงานร้องเพลงตามที่ได้รับเชิญ นอกจากนั้นก็ยังทำสวนผลไม้ด้วย

อ้างอิง แก้

  1. "ประวัติจีระพันธ์ วีระพงษ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-25. สืบค้นเมื่อ 2014-02-06.