ศิลปะทรงกลม

(เปลี่ยนทางจาก จิตรกรรมทรงกลม)

ศิลปะทรงกลม (อิตาลี: Tondo พหูพจน์ Tondi หรือ Tondos) เป็นคำที่ใช้ในสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาที่หมายถึงจิตรกรรมหรือประติมากรรมที่เป็นทรงกลม เป็นคำที่มาจากภาษาอิตาลีว่า “rotondo” ที่แปลว่า “กลม” คำนี้มักจะไม่ใช้กับภาพเขียนขนาดเล็กที่มีลักษณะกลมแต่มักจะใช้กับภาพเขียนที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกว่าสองฟุตขึ้นไป ฉะนั้นจึงไม่รวมจุลจิตรกรรมภาพเหมือน (portrait miniature) แต่สำหรับประติมากรรมแล้วคำนี้ยืดหยุ่นกว่า

ประติมากรรมภาพนูนทอนโดโดยอันเดรอา เดลลา รอบเบีย (Andrea della Robbia) ที่หน้าโรงพยาบาลที่พิสโตเอีย
จิตรกรรมทรงกลม “พระแม่มารีถือผลทับทิม” โดย ซานโดร บอตติเชลลี, ราว ค.ศ. 1487 (หอศิลป์อุฟฟิซิ)

ศิลปินสร้างงานลักษณะนี้มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ จิตรกรรมทรงกลมมักจะเขียนบนแจกันเครื่องปั้นดินเผาของกรีกจากสมัยที่เรียกว่าทอนดี และภายในก้นชามไวน์ก้นตื้นที่เรียกว่าคิลิกซ์[1] (Kylix) ที่เป็นทรงกลมอยู่แล้ว ศิลปะลักษณะมาฟื้นฟูทำกันอีกครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 15 และ 16 โดยเฉพาะในอิตาลี แต่ตั้งแต่นั้นมาความนิยมก็ลดถอยลง แต่ในภาพเขียน “ทัศน์สุดท้ายของอังกฤษ” (The Last of England) โดยจิตรกรชาวอังกฤษฟอร์ด แมดด็อกซ บราวน์ (Ford Madox Brown) ในปี ค.ศ. 1855 ก็เป็นลักษณะนี้โดยบราวน์เน้นความกลมด้วยราวเชือกรอบบุคคลในภาพ

ฉากหลังของศิลปะทรงกลมมักจะไม่ใช่สิ่งสำคัญหรือบางครั้งก็ละเว้นไปเลย ในจิตรกรรมทรงกลมมักจะมองเห็นฉากหลังและในประติมากรรมภาพนูนฉากหลังจะหายไป อันเดรอา เดลลา รอบเบียและศิลปินในครอบครัวเดียวกันสร้างงานประติมากรรมดินเผาเคลือบที่เรียกว่า “ทอนดี” ที่มักจะมีกรอบเป็นมาลัยใบไม้และผลไม้ที่ตั้งใจไว้ใช้ตกแต่งผนังสตัคโค บนตัวตึกโอสเปดาเลเดกลิอินโนเชนติ (Ospedale degli Innocenti) ในฟลอเรนซ์ที่สร้างโดยฟีลิปโป บรูเนลเลสกี เดลลา รอบเบียก็สร้างงานประติมากรรมทรงกลมเป็นภาพเด็กบนฉากหลังที่เป็นสีน้ำเงินสำหรับตกแต่งในช่องโค้งสแปนเดรลซึ่งเป็นช่องสามเหลี่ยมระหว่างซุ้มโค้งด้านหน้า


ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 การเขียนภาพตกแต่งลักษณะที่เรียกว่า “istoriato” สำหรับเครื่องเคลือบดีบุกมายอลิคา (Maiolica) ใช้กับการตกแต่งชิ้นที่มีลักษณะกลม

นอกจากนั้นแล้วลักษณะกลมก็ยังใช้ในการออกแบบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ที่อาจจะใช้ประกอบการตกแต่งหน้าบันที่เป็นโค้งที่มานิยมกันในคริสต์ศตวรรษที่ 15

ศิลปะทรงกลมมาเป็นที่นิยมกันในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในฟลอเรนซ์ เช่นในงานเขียนหลายชิ้นโดยซานโดร บอตติเชลลี ไมเคิล แอนเจโลใช้ศิลปะทรงกลมเป็นองค์ประกอบในงานหลายชิ้นทั้งในงานจิตรกรรมและประติมากรรม ที่รวมทั้งภาพ “ครอบครัวพระเยซูกับนักบุญจอห์นแบ็พทิสต์” และภาพที่มีชื่อเสียง “พระแม่มารีในกรอบกลม” (Doni Tondo) ที่หอศิลป์อุฟฟิซิ[1] ศิลปินอื่นที่ใช้ทรงกลมในการสร้างงานศิลปะผู้อื่นก็ได้แก่ราฟาเอล, บรอนซิโน , ฟราอันเจลิโค และจาโคโป ปอนตอร์โม

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ศิลปะทรงกลม