ซันโดร บอตตีเชลลี
อเลสซันโดร ดี มารีอาโน ดี วันนี ฟีลีเปปี หรือ ซันโดร บอตตีเชลลี หรือเรียกสั้น ๆ ว่า บอตตีเชลลี (อิตาลี: Alessandro di Mariano di Vanni Filipepi หรือ Sandro Botticelli เรียกย่อว่า Il Botticello; 1 มีนาคม ค.ศ. 1444 (พ.ศ. 1987/1988) – 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1510 (พ.ศ. 2053)[2] เป็นจิตรกรชาวอิตาลีแห่งสกุลช่างเขียนแห่งฟลอเรนซ์ระหว่างสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนต้น เพียงไม่ถึงร้อยปึต่อมาวิธีการเขียนของสกุลช่างนี้ (ภายใต้การอุปถัมภ์ของโลเรนโซ เด เมดีชี) ก็ถูกจัดโดยจอร์โจ วาซารีให้เป็น “ยุคทอง” ในบทนำของหนังสือ “ชีวิตศิลปิน” ในส่วนชีวประวัติของบอตตีเชลลี ชื่อเสียงของบอตตีเชลลีได้รับความเสียหายหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้วมาจนกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาบอตตีเชลลีก็ได้รับความนับถือว่าเป็นจิตรกรฝีมือดีของสมัยเรอแนซ็องส์ตอนต้นของอิตาลีหรือสมัยที่เรียกกันในภาษาอิตาลีว่า “กวัตโตรเชนโต” ผลงานที่เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นงานชิ้นเอกของงานเขียนแบบฟลอเรนซ์ก็ได้แก่ “กำเนิดวีนัส” และ “ฤดูใบไม้ผลิ”
ซันโดร บอตตีเชลลี | |
---|---|
ภาพเหมือนตนเอง ในภาพ การนมัสการของโหราจารย์ (1475) | |
เกิด | อเลสซันโดร ดี มารีอาโน ดี วันนี ฟีลีเปปี ป. ค.ศ.1445[1] ฟลอเรนซ์, สาธารณรัฐฟลอเรนซ์ (ปัจจุบันคือประเทศอิตาลี) |
เสียชีวิต | 17 พฤษภาคม ค.ศ.1510 (ป. 64 ปี) ฟลอเรนซ์, สาธารณรัฐฟลอเรนซ์ |
สัญชาติ | อิตาลี |
การศึกษา | ฟีลิปโป ลิปปี |
มีชื่อเสียงจาก | จิตรกร |
ผลงานเด่น | ฤดูใบไม้ผลิ กำเนิดวีนัส การนมัสการของโหราจารย์ และอื่น ๆ |
ขบวนการ | สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี |
ประวัติ
แก้เบื้องต้น
แก้ประวัติชีวิตของบอตตีเชลลีเบื้องต้นไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าใดนักเพียงแต่ทราบว่ามิได้ฝึกเป็นช่างเขียนจนอายุราวสิบสี่ปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าได้รับการศึกษามากกว่าช่างเขียนอื่น ๆ ร่วมสมัย วาซารีกล่าวว่าบอตตีเชลลีได้รับการฝึกเป็นช่างทองก่อนโดยอันโตนีโอ พี่ชาย[3] อาจจะเป็นราวปี ค.ศ. 1462 จึงได้ไปฝึกการเขียนภาพกับฟีลิปโป ลิปปี[4] งานชิ้นแรก ๆ ของบอตตีเชลลีกล่าวกันว่าเป็นงานของลิปปี แต่ก็ยังเป็นที่ไม่ตกลงกันว่าเป็นงานเขียนของผู้ใดแน่ แต่บอตตีเชลลีศึกษาการเขียนรายละเอียดและความอ่อนหวานจากลิปปี งานเขียนของจิตรกรสำคัญอีกผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลต่องานของบอตตีเชลลีคืองานของมาซัชชีโอ จากหลักฐานที่เพิ่งพบเมื่อไม่นานนี้ ในช่วงเวลานี้บอตตีเชลลีอาจจะเดินทางไปฮังการีเพื่อไปช่วยในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังของงานร่วมปฏิบัติของฟีลิปโป ลิปปี ที่แอสซ์แตร์กม (Esztergom) ที่ได้รับสัญญาจ้างจากวีติซ ยานอส (Vitéz János) ผู้เป็นอัครบาทหลวงแห่งฮังการี
ภายในปี ค.ศ. 1470 บอตตีเชลลีก็มีห้องเขียนภาพเป็นของตัวเอง แม้ว่าจะเป็นงานเขียนสมัยต้นแต่ลักษณะการเขียนก็เป็นงานเขียนที่แสดงลักษณะที่พบในประติมากรรมแบบนูนต่ำมีเน้นการเขียนขอบคันและลดความตัดกันระหว่างแสงและเงา
งานชิ้นเอก
แก้งานชิ้นเอกสองชิ้น “ฤดูใบไม้ผลิ” (Primavera) ที่เขียนราวปี ค.ศ. 1478 และ “กำเนิดวีนัส” (The Birth of Venus) ที่เขียนราว ปี ค.ศ. 1485 เป็นงานที่วาซารีเห็นที่คฤหาสน์ของโลเรนโซ ดี ปิแอร์ฟรันเชสโก เด เมดีชี ที่เมืองกัสเตลโลราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 และเป็นที่เชื่อกันมาจนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าเป็นงานเขียนที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะสำหรับคฤหาสน์ที่กัสเตลโล แต่ผู้เชี่ยวชาญเมื่อไม่นานมานี้เชื่อว่าภาพ “ฤดูใบไม้ผลิ” เขียนสำหรับคฤหาสน์ของเมดีชีในฟลอเรนซ์ และภาพ “กำเนิดวีนัส” เขียนสำหรับผู้จ้างคนอื่นสำหรับสถานที่อื่น แต่เมื่อราวปี ค.ศ. 1499 สองภาพนี้ก็ได้มาตั้งที่คฤหาสน์ที่กัสเตลโล[5]
งานสองชิ้นนี้มีอิทธิพลมาจากงานวรรณกรรมแบบสัจนิยมของกอทิกจากการศึกษางานเขียนโบราณของบอตตีเชลลี แต่ถ้าจะให้เข้าใจภาพเขียนอย่างที่ภาพควรจะเป็นที่เข้าใจ เนี้อความของภาพเขียนก็ยังกำกวมและทำให้ผู้ดูฉงนสนเท่ห์อยู่ ความซับซ้อนของความหมายทำให้ภาพยังได้รับการวิจัยศึกษาโดยผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเน้นความเข้าใจในทางปรัชญาของมานุษยวิทยาและโคลงกลอนของศิลปินร่วมสมัยของบอตตีเชลลี งานของบอตตีเชลลีมิได้พยายามสื่อสารข้อความจากบทเขียนเรื่องเดียว แต่จากหัวข้อสำคัญของบทเขียนจากหลายแหล่ง สำหรับความงามของภาพเขียนวาซารีใช้คำว่า “grace”
ต่อมา
แก้ภาพ “การนมัสการของโหราจารย์” ที่เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1476 สำหรับวัดซันตามาเรียโนเวลลา (Santa Maria Novella) มีภาพเหมือนของโกซีโม เด เมดีชี[6], จูลิอาโน เด เมดีชี (หลาน) และ โจวันนี เด เมดีชี (ลูก) วาซารีสรรเสริญคุณภาพของภาพเขียนว่าเป็นจุดสุดยอดของบอตตีเชลลี
ในปี ค.ศ. 1481 สมเด็จพระสันตะปาปาซิกส์ตุสที่ 4 เรียกตัวบอตตีเชลลีและช่างเขียนผู้มีชื่อเสียงชาวฟลอเรนซ์และอุมเบรียอื่น ๆ ไปเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่โบสถ์น้อยซิสทีน งานที่บอตตีเชลลีเขียนมีความสำเร็จพอประมาณ หลังจากนั้นบอตตีเชลลีก็กลับมาฟลอเรนซ์ และเขียนความเห็นบางส่วนของงานของดันเตและเขียนภาพประกอบ “ไฟนรก” (Inferno) สำหรับมหากาพย์ ดีวีนากอมเมเดีย (ไตรภูมิดันเต) ซึ่งบอตตีเชลลีทุ่มเททั้งทางใจและทางกำลังทรัพย์จนทำให้ชีวิตออกจะไม่เข้าร่องเข้ารอยอยู่ระยะหนึ่ง
กลางคริสต์ทศวรรษ 1480 บอตตีเชลลีเขียนจิตรกรรมฝาผนังชิ้นสำคัญร่วมกับปีเอโตร เปรูจีโน, โดเมนีโก กีร์ลันดาโย และฟีลิปปีโน ลิปปี ให้กับโลเรนโซ เด เมดีชีที่คฤหาสน์ใกล้เมืองวอลแตร์รา นอกไปจากการเขียนจิตรกรรมฝาผนังสำหรับวัดหลายแห่งในฟลอเรนซ์
ในปี ค.ศ. 1491 บอตตีเชลลีทำงานให้กับสมาคมที่มีอำนาจในการตัดสินในการตกแต่งด้านหน้าของมหาวิหารฟลอเรนซ์ ในปี ค.ศ. 1502 บอตตีเชลลีถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในการสมสู่วัจมรรคแต่ต่อมาศาลก็ยกเลิกข้อกล่าวหา ในปี ค.ศ. 1504 บอตตีเชลลีได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมการที่มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับที่ตั้งของประติมากรรมดาวิดโดยมีเกลันเจโล งานเขียนสมัยต่อมา โดยเฉพาะงานเขียนในชุดประวัติของนักบุญเซนอบิอุส (Saint Zenobius) แสดงการเปลื่ยนแปลงวิธีการเขียนรูป ตัวแบบจะออกไปทางบิดเบือนและการใช้สีที่ไม่เป็นธรรมชาติ เช่นที่เห็นในงานเขียนของฟราอันเจลีโกเกือยร้อยปีก่อนหน้านั้น
อ้างอิง
แก้- ↑ Ettlingers, หน้า 7. แหล่งข้อมูลอื่นระบุ 1446, 1447 หรือ 1444–45.
- ↑ ซันโดร บอตตีเซลลี NNDB.com.
- ↑ Lightbown, หน้า 19. ตามข้อเขียนของวาซารี, เขายังคงอยู่ในโรงเรียนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1458 เป็นลูกศิษย์ที่มีความสามารถ เขาไม่ชอบอยู่ว่าง และเริ่มฝึกหัดเป็นช่างทอง.
- ↑ Lightbown, หน้า 20.
- ↑ Smith, Webster (มีนาคม 1975). "On the Original Location of the Primavera". The Art Bulletin. 57 (1): 31–40. doi:10.2307/3049335.
- ↑ Giorgio Vasari (1912). Lives of the Most Excellent Painters, Sculptors, and Architects. แปลโดย Gaston du C. de Vere. London: Macmillan and co. ld. & the Medici Society, ld.
บรรณานุกรม
แก้- "Ettlingers": Leopold Ettlinger with Helen S. Ettlinger (1976). Botticelli. Thames & Hudson (World of Art). ISBN 0-500-20153-6.
- Lightbown, Ronald (1989). Sandro Botticelli: Life and Work. Thames & Hudson. ISBN 978-0-500-09206-4.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ “ฤดูใบไม้ผลิ”
- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ “กำเนิดวีนัส”
- ภาพเขียนของซันโดร บอตตีเชลลี ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเว็บ
- ซันโดร บอตตีเชลลี ที่ "A World History of Art" เก็บถาวร 2013-05-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ซันโดร บอตตีเชลลี ที่ Panopticon Virtual Art Gallery เก็บถาวร 21 มิถุนายน 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- "งานศิลปะ โดย ซันโดร บอตตีเชลลี". owlstand.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2015.