คูหาใต้ดินฮัลซัฟลีนี

คูหาใต้ดินฮัลซัฟลีนี (มอลตา: Ipoġew ta' Ħal Saflieni) เป็นโครงสร้างใต้ดินยุคหินใหม่ในเมืองราฮัลจดีต ประเทศมอลตา มีอายุย้อนไปถึงระยะฮัลซัฟลีนี (3,300–3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของมอลตา เชื่อกันว่าคูหาใต้ดินแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นทั้งบริเวณศักดิ์สิทธิ์และสุสาน โดยนักโบราณคดีได้ค้นพบและบันทึกการมีอยู่ของซากมนุษย์ประมาณกว่า 7,000 คนภายในคูหา[1] ฮัลซัฟลีนีเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีที่สุดของวัฒนธรรมการสร้างวิหารมอลตาซึ่งยังก่อกำเนิดหมู่วิหารหินใหญ่และวงหินอิชชาราด้วย

คูหาใต้ดินฮัลซัฟลีนี
"ห้องศักดิ์สิทธิ์ของศักดิ์สิทธิ์" ในชั้นกลางของคูหา
ภาพถ่ายโดยริชาร์ด เอลลิส ก่อน ค.ศ. 1910
คูหาใต้ดินฮัลซัฟลีนีตั้งอยู่ในประเทศมอลตา
คูหาใต้ดินฮัลซัฟลีนี
ที่ตั้งคูหาใต้ดินฮัลซัฟลีนีในประเทศมอลตา
ชื่ออื่นคูหาใต้ดินก่อนประวัติศาสตร์ฮัลซัฟลีนี (ชื่อทางการ)
ที่ตั้งราฮัลจดีต มอลตา
พิกัด35°52′10.5″N 14°30′24.5″E / 35.869583°N 14.506806°E / 35.869583; 14.506806
พื้นที่500 ตร.ม.
ความเป็นมา
วัสดุหินปูน
สร้างประมาณ 4,000 ปีก่อน ค.ศ. (จากซากที่เก่าแก่ที่สุด)
ละทิ้งประมาณ 2,500 ปีก่อน ค.ศ.
สมัยระยะฮัลซัฟลีนี
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ขุดค้นค.ศ. 1903–1908, ค.ศ. 1990–1993
ผู้ขุดค้นมานูเอล มากรี
ทิมิสโตคลีส แซมมิต
สภาพบูรณะแล้วเสร็จใน ค.ศ. 2017
ผู้ถือกรรมสิทธิ์รัฐบาลมอลตา
ผู้บริหารจัดการเฮริทิจมอลตา
การเปิดให้เข้าชมเปิด (จำกัดผู้ชม)
เว็บไซต์เฮริทิจมอลตา
คูหาใต้ดินฮัลซัฟลีนี *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ลวดลายที่เพดาน "ห้องโหร" ในชั้นกลางของคูหา
ประเทศ มอลตา
ภูมิภาค **ยุโรปและอเมริกาเหนือ
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(iii)
อ้างอิง130
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน1980 (คณะกรรมการสมัยที่ 4)
พื้นที่0.13 เฮกตาร์ (0.32 เอเคอร์)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก
รูปปั้น "สตรีนิทรา"

ประวัติ แก้

คูหาใต้ดินฮัลซัฟลีนีได้รับการค้นพบโดยบังเอิญใน ค.ศ. 1902 เมื่อคนงานที่กำลังขุดโถงเก็บน้ำใต้ดินสำหรับโครงการที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ขุดทะลุหลังคาคูหาโดยไม่เจตนา[2][3] ในตอนแรกคนงานพยายามปกปิดการค้นพบนี้เอาไว้ แต่ในที่สุดก็ได้รับการเปิดเผย การศึกษาโครงสร้างของคูหาดำเนินการเป็นครั้งแรกโดยมานูเอล มากรี ซึ่งกำกับการขุดค้นในนามของคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1903[4] แต่ระหว่างการขุดค้น โบราณวัตถุส่วนหนึ่งของฮัลซัฟลีนี (เช่น สิ่งของในหลุมฝังศพ กระดูกมนุษย์) ถูกนำออกจากพื้นที่และทิ้งไปโดยไม่มีการขึ้นทะเบียนอย่างเหมาะสม[5] ยิ่งไปกว่านั้น มากรีเสียชีวิตใน ค.ศ. 1907 ระหว่างภารกิจเผยแผ่ศาสนาในตูนิเซีย และรายงานของเขาเกี่ยวกับฮัลซัฟลีนีก็สูญหายไป[2]

การขุดค้นยังคงดำเนินต่อไปภายใต้การนำของทิมิสโตคลีส แซมมิต ซึ่งมีเป้าหมายที่จะกอบกู้ทุกสิ่งเท่าที่เป็นไปได้ แซมมิตเริ่มเผยแพร่รายงานชุดหนึ่งใน ค.ศ. 1910 และดำเนินการขุดค้นต่อไปจนถึง ค.ศ. 1911 โดยฝากโบราณวัตถุที่ค้นพบไว้ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติในกรุงวัลเลตตา[6] ฮัลซัฟลีนีเปิดให้เข้าชมเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1908 ระหว่างที่การขุดค้นยังดำเนินอยู่[7]

บ้านเรือนสมัยใหม่ 4 หลังที่สร้างขึ้นบนฮัลซัฟลีนีถูกรื้อถอนเพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์[8] การขุดค้นเพิ่มเติมเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1990–1993 โดยแอนโทนี เพซ, นาแทเนียล คิวทาจาร์ และรูเบิน กรีมา จากนั้นฮัลซัฟลีนีถูกปิดไม่ให้เข้าชมระหว่าง ค.ศ. 1991–2000 เพื่อบูรณะและปรับปรุงคูหาสำหรับการเข้าชม[9] และตั้งแต่เปิดใหม่ เฮริทิจมอลตา (หน่วยงานของรัฐบาลที่มีหน้าที่ดูแลโบราณสถาน) จำกัดให้มีผู้เข้าชมได้เพียง 80 คนต่อวัน ในขณะที่ภูมิอากาศระดับจุลภาคได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวด[10][11] ใน ค.ศ. 2011 มีการเปิดตัวโครงการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อเฝ้าระวังความทรุดโทรมของคูหา[9] การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ว่าด้วยฮัลซัฟลีนีกำลังดำเนินอยู่ และใน ค.ศ. 2014 ทีมนักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติได้เข้าเยี่ยมชมสถานที่เพื่อศึกษาเกี่ยวกับสวนศาสตร์[12]

ฮัลซัฟลีนีเปิดให้เข้าชมอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2017 หลังจากปิดไปหนึ่งปีเพื่อปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม[9]

ภาพรวม แก้

การขุดค้นทางโบราณคดีในสมัยหลังบ่งชี้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีสักการสถานบนพื้นผิวบริเวณทางลงไปยังคูหาใต้ดิน การพังทลายลงของสักการสถานในเวลาต่อมาคงทำให้โครงสร้างใต้ดินถูกซ่อนไว้เป็นเวลาหลายพันปี[2][13] อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันไม่เหลือซากกำแพงของโครงสร้างใด ๆ ที่อาจเคยใช้เป็นเครื่องหมายระบุตำแหน่งทางเข้าคูหา[9] โครงสร้างใต้ดินอาจมีต้นกำเนิดมาจากถ้ำธรรมชาติที่ได้รับการขยายต่อเติมเมื่อเวลาผ่านไปโดยใช้เครื่องมือหยาบ ๆ (ทำจากเขากวาง หินเหล็กไฟ หินเชิร์ต และหินออบซิเดียนเป็นต้น)[13] ตัดเข้าไปในหินโดยตรง ห้องฝังศพในชั้นบนของคูหามีอายุย้อนไปถึงระยะต้น ๆ ของยุควิหารมอลตา ส่วนห้องต่าง ๆ ในชั้นกลางและชั้นล่างสร้างขึ้นในภายหลัง[2] สันนิษฐานกันว่าอาจมีการใช้ประโยชน์จากแหล่งนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ 4,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และน่าจะใช้ประโยชน์มาจนถึงประมาณ 2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยพิจารณาจากการวิเคราะห์ตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาและการตรวจสอบซากมนุษย์[2][6][แหล่งอ้างอิงอาจไม่น่าเชื่อถือ]

ผังของฮัลซัฟลีนีได้รับการออกแบบมาให้แสงอาทิตย์จากด้านบนส่องลอดลงไปถึงห้องต่าง ๆ ที่อยู่ชั้นล่างได้อย่างชาญฉลาด ที่เพดานห้องหลายห้องมีการวาดลวดลายสลับซับซ้อน (เช่น ลายจุด ลายก้นหอย ลายรวงผึ้ง)[1][2] โดยใช้รงควัตถุโอเคอร์แดง ห้องหลักห้องหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า "ห้องศักดิ์สิทธิ์ของศักดิ์สิทธิ์" ดูเหมือนจะได้รับการวางตำแหน่งให้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ในวันเหมายัน เพื่อให้แสงอาทิตย์ส่องจากทางเข้าดั้งเดิมบนพื้นผิวลงมาถึงส่วนหน้าของห้องในวันนั้น[14]

ในห้องชั้นกลางห้องหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า "ห้องโหร" มีช่องเว้าที่เกิดจากการตัดเข้าไปในหินและสามารถก่อเสียงสะท้อนที่ทรงพลัง ช่องนี้อาจได้รับการออกแบบมาเพื่อทำให้เสียงสวดมนต์หรือเสียงตีกลองในห้องโหรก้องกังวานไปทั่วส่วนที่เหลือของคูหา[1][15][16]

มีการค้นพบโบราณวัตถุหลากชนิดในฮัลซัฟลีนี รวมถึงภาชนะดินเผาที่ตกแต่งอย่างประณีต ลูกปัดที่ทำจากหินและดินเหนียว กระดุมที่ทำจากเปลือกหอย เครื่องราง หัวขวาน และรูปแกะสลักที่แสดงภาพคนและสัตว์[2][13] การค้นพบที่โดดเด่นที่สุดคือ "สตรีนิทรา" ซึ่งเป็นรูปปั้นดินเหนียวที่คาดกันว่าเป็นตัวแทนของพระแม่องค์หนึ่ง รูปปั้นเหล่านี้มีลักษณะต่างกันตั้งแต่เหมือนจริงไปจนถึงเป็นนามธรรม โดยดูเหมือนว่ามีแก่นหลักอยู่ที่การเคารพผู้ตายและการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ[1] นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิคทางศิลปะที่ซับซ้อน เช่นในกรณีอ่างดินเผาขนาดใหญ่ใบหนึ่งที่มีทั้งลวดลายเลียนธรรมชาติและลวดลายที่ปรุงแต่งขึ้น โดยด้านหนึ่งแสดงภาพวัว หมู และแพะอย่างสมจริง ในขณะที่อีกด้านหนึ่งแสดงภาพสัตว์แฝงตัวอยู่ในแบบรูปเรขาคณิตที่ซับซ้อน[1]

ประมาณกันว่าพบซากของมนุษย์ราว 7,000 คนในคูหานี้ และแม้ว่ากระดูกหลายชิ้นจะสูญหายไปในช่วงแรก ๆ ของการขุดค้น แต่กะโหลกศีรษะส่วนใหญ่ได้รับการเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งชาติ[17] กะโหลกศีรษะส่วนน้อยมีลักษณะยืดยาวผิดปกติคล้ายกับกะโหลกศีรษะนักบวชจากอียิปต์โบราณ นำไปสู่การตั้งสมมุติฐานเกี่ยวกับผู้คนที่ครอบครองและใช้ประโยชน์จากคูหา ตลอดจนหลักปฏิบัติและความเชื่อของพวกเขา[17][18]

โครงสร้าง แก้

ฮัลซัฟลีนีเป็นโครงสร้างใต้ดินทั้งหมดและประกอบด้วยชั้นซ้อนเหลื่อมกัน 3 ชั้นที่สกัดเข้าไปในหินปูนแพลงก์ตอนโกลบิเจอไรนา มีโถงและห้องเชื่อมต่อกันผ่านขั้นบันได ทับหลัง และช่องประตูที่เป็นเขาวงกต[13] คาดกันว่าผู้ก่อสร้างคงเข้าครอบครองพื้นที่ชั้นบนเป็นชั้นแรก จากนั้นจึงขุดขยายลงเป็นชั้นกลางและชั้นล่างในภายหลัง ห้องชั้นกลางบางห้องดูเหมือนจะมีลักษณะร่วมกับวิหารหินใหญ่ร่วมสมัยที่พบทั่วมอลตา[13]

ชั้นบน แก้

ชั้นสุดท้ายโผล่พ้นพื้นผิวเพียงหนึ่งเมตรและแตกต่างจากสุสานที่ซ่อนอยู่ในมอลตาใกล้กับอีร์ราบัตมาก บางห้องเป็นถ้ำธรรมชาติที่ได้รับการขยายออกไปภายหลัง ชั้นนี้มีห้องหลายห้อง บางห้องในจำนวนนี้ใช้สำหรับฝังศพ[19]

ชั้นกลาง แก้

ชั้นที่สองเป็นชั้นที่ขยายลงมาในภายหลัง ชั้นนี้มีห้องเด่น ๆ หลายห้อง ได้แก่

  • ห้องหลัก: ห้องนี้มีลักษณะเป็นทรงกลมและแกะสลักเข้าไปในหิน มีช่องทางเข้าเป็นโครงสร้างหินสามแท่งหลายช่อง บางช่องเป็นช่องหลอก และบางช่องพาไปสู่ห้องอื่น พื้นผิวผนังส่วนใหญ่ได้รับการเคลือบด้วยรงควัตถุโอเคอร์แดง รูปปั้นขนาดเล็ก "สตรีนิทรา" ได้รับการค้นพบที่ห้องนี้
  • ห้องโหร: เป็นห้องที่มีรูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าและเป็นหนึ่งในห้องด้านข้างที่เล็กที่สุด มีความพิเศษตรงที่สามารถสร้างเสียงสะท้อนอันทรงพลังจากเสียงใด ๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นภายในนั้น[ต้องการอ้างอิง] เพดานห้องมีการลงสีอย่างประณีต ประกอบด้วยลายก้นหอยและลายวงกลมทึบที่วาดโดยใช้รงควัตถุโอเคอร์แดง
  • ห้องตกแต่ง: ใกล้กับห้องโหรมีห้องโถงกว้างอีกห้องหนึ่ง เป็นห้องทรงกลม มีผนังลาดเอียงเข้าหาด้านใน ตกแต่งอย่างหรูหราด้วยลายก้นหอยเรขาคณิต ที่ผนังด้านขวาของทางเข้าห้องมีภาพสลักหินรูปมือมนุษย์
  • ห้องศักดิ์สิทธิ์ของศักดิ์สิทธิ์: บางทีอาจเป็นโครงสร้างที่สำคัญที่สุดของคูหาใต้ดินนี้ ห้องนี้ดูเหมือนจะสร้างให้หันไปทางดวงอาทิตย์วันเหมายันซึ่งจะส่องแสงลอดผ่านทางเข้าดั้งเดิมจากพื้นผิวมาที่ส่วนหน้าของห้อง[14] ไม่พบกระดูกมนุษย์ระหว่างการขุดค้นในห้องนี้[6] จุดสนใจของห้องคือช่องหน้าต่างภายในโครงสร้างหินสามแท่ง หรือโครงสร้างที่ประกอบด้วยหินแนวตั้งขนาดใหญ่สองแท่ง ล้อมกรอบอยู่ภายในโครงสร้างหินสามแท่งที่ใหญ่กว่า และยังล้อมกรอบอยู่ภายในโครงสร้างหินสามแท่งที่ใหญ่กว่าอีกทอดหนึ่ง บัวและเพดานโค้งแบบก่อยื่นบ่งชี้เป็นนัยว่าวิหารหินใหญ่บนพื้นดินของมอลตาซึ่งได้รับการค้นพบแล้วอาจเคยมีหลังคาคลุมในลักษณะเดียวกัน

ชั้นล่าง แก้

ชั้นล่างไม่พบกระดูกมนุษย์หรือเครื่องบูชาใด ๆ อาจเคยใช้เป็นที่เก็บเมล็ดธัญพืช

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Sagona, Claudia (2015). The Archaeology of Malta: From the Neolithic through the Roman Period. Cambridge University Press. ISBN 978-1107006690.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 McDonald, Neil (2016). Malta & Gozo A Megalithic Journey. lulu.com. ISBN 978-1326598358.
  3. Vella, Fiona (23 July 2019). "Hypogeum skulls to be studied". Times of Malta. p. 13.
  4. https://www.um.edu.mt/library/oar/bitstream/123456789/45738/1/Il-Għerien%20ta%27%20Ħal%20Saflieni.pdf [bare URL PDF]
  5. "The Death Cults of Prehistoric Malta". Scientific American. สืบค้นเมื่อ 10 March 2016.
  6. 6.0 6.1 6.2 Haughton, Brian (2008). Haunted Spaces, Sacred Places. New Page Books. p. 232. ISBN 978-1601630001.
  7. "Ħal Saflieni Hypogeum". Heritage Malta. สืบค้นเมื่อ 4 December 2014.
  8. https://culture.gov.mt/en/culturalheritage/Documents/form/MAR1991.pdf เก็บถาวร 2021-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [bare URL PDF]
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 Stacey McKenna, Malta’s Hypogeum, One of the World’s Best Preserved Prehistoric Sites, Reopens to the Public, Smithsonianmag.com, 23 May 2017
  10. "The Hal Saflieni Hypogeum". maltassist.com. สืบค้นเมื่อ 4 December 2014.
  11. Pace, Anthony (2004). The Ħal Saflieni Hypogeum Paola. Santa Venera: Midsea Books Ltd. ISBN 9993239933.
  12. "International team of scientists to study hypogeum acoustics". Times of Malta. 21 January 2014. สืบค้นเมื่อ 4 December 2014.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 13.4 "Ħal Saflieni Hypogeum". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 4 December 2014.
  14. 14.0 14.1 Magli, Giulio (2009). Mysteries and Discoveries of Archaeoastronomy: From Giza to Easter Island. Copernicus. ISBN 978-0387765648.
  15. Kelly, Lynne (2017). The Memory Code: The Secrets of Stonehenge, Easter Island and Other Ancient Monuments. Pegasus Books. ISBN 978-1681773254.
  16. Mysterious Ancient Temples Resonate at the 'Holy Frequency', Interestingengineering.com, 1 December 2016
  17. 17.0 17.1 "The Mysterious Disappearance of the Maltese Skulls". Hera Magazine, Italy. 1999.
  18. "Hypogeum skulls on display at the National Museum of Archaeology".
  19. UNESCO World Heritage List. "Ħal Saflieni Hypogeum." https://whc.unesco.org/en/list/130