วิหารหินใหญ่แห่งมอลตา

วิหารหินใหญ่แห่งมอลตา (มอลตา: It-Tempji Megalitiċi ta' Malta; อังกฤษ: Megalithic Temples of Malta) คือกลุ่มของวิหารยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่งบนเกาะมอลตาและเกาะโกโซ ประเทศมอลตา สร้างขึ้นในช่วงเวลาสามช่วงที่แตกต่างกันประมาณตั้งแต่ 3,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง 2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช[1] เคยมีการกล่าวอ้างว่าวิหารเหล่านี้เป็นโครงสร้างตั้งพื้นอิสระที่เก่าแก่ที่สุดในโลกจนกระทั่งมีการค้นพบเกอเบ็กลีเทแพในประเทศตุรกี[2] นักโบราณคดีเชื่อว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้เป็นผลมาจากนวัตกรรมท้องถิ่นในกระบวนการวิวัฒนาการทางวัฒนธรรม[3][4] ซึ่งนำไปสู่การสร้างวิหารหลายแห่งในระยะจกันตียา (3,600–3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช) และรุ่งเรืองถึงขีดสุดกับการสร้างหมู่วิหารฮัลตาร์ชีนซึ่งยังคงใช้งานมาจนกระทั่งเมื่อ 2,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช หลังจากนั้นวัฒนธรรมการสร้างวิหารก็สูญไป[5][6]

วิหารหินใหญ่แห่งมอลตา *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
แท่นบูชาสำหรับการบูชายัญสัตว์ในจกันตียา
ประเทศ มอลตา
ภูมิภาค **ยุโรปและอเมริกาเหนือ
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(iv)
อ้างอิง132
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน1980 (คณะกรรมการสมัยที่ 4)
เพิ่มเติม1992, 2015
พื้นที่3.155 เฮกตาร์ (7.80 เอเคอร์)
พื้นที่กันชน167 เฮกตาร์ (410 เอเคอร์)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าวิหารเหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใดเป็นหลัก แต่การปฏิบัติทางความเชื่อที่พบในสมัยนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับการบูชาเหล่าเทพีแห่งการเจริญพันธุ์และความอุดมสมบูรณ์ซึ่งได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวางทั่วภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน การค้นพบแท่นบูชาและซากสัตว์ในพื้นที่บ่งชี้ว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านี้เคยเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูชายัญ[7]

ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนหมู่วิหารจกันตียาเป็นแหล่งมรดกโลกใน ค.ศ. 1980[8] และขยายพื้นที่แหล่งมรดกโลกให้ครอบคลุมวิหารหินใหญ่อีก 5 แห่งใน ค.ศ. 1992 ได้แก่ ฮาจาร์อีม (ในอิล-อเร็นดี), ลิมนัยดรา (ในอิล-อเร็นดี), หมู่วิหารตาฮัจรัต (ในลิมจาร์), หมู่วิหารสกอร์บา (ในอิซเซ็บบีห์) และหมู่วิหารฮัลตาร์ชีน (ในฮัลตาร์ชีน)[8] ปัจจุบันแหล่งมรดกโลกเหล่านี้มีเฮริทิจมอลตาเป็นผู้บริหารจัดการ ในขณะที่กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยรอบนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละแหล่ง[9][10] นอกเหนือจากนี้ยังมีวิหารหินใหญ่อื่น ๆ ในมอลตาที่ไม่รวมอยู่ในรายการแหล่งมรดกโลกยูเนสโก

อ้างอิง แก้

  1. "Megalithic Temples of Malta – UNESCO World Heritage Centre". Whc.unesco.org. สืบค้นเมื่อ 2011-10-09.
  2. "The Prehistoric Archaeology of the Temples of Malta". Bradshawfoundation.com. สืบค้นเมื่อ 2009-07-22.
  3. Blouet, The Story of Malta, p. 22
  4. "Prehistoric Temples of Malta". สืบค้นเมื่อ 2008-09-16.
  5. Blouet, The Story of Malta, p. 28
  6. "Malta: Ancient Home to Goddesses and Fertility Cults". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-14. สืบค้นเมื่อ 2008-09-16.
  7. "The Mystery of Maltese Temples". Edinburgh University. 2021-10-17. สืบค้นเมื่อ 2022-10-09.
  8. 8.0 8.1 "Megalithic Temples of Malta". สืบค้นเมื่อ 2008-09-16.
  9. "Malta Temples and The OTS Foundation". Otsf.org. สืบค้นเมื่อ 2009-07-22.
  10. David Trump et al., Malta Before History (2004: Miranda Publishers)