เจ้าหลวงพญาแก้ว บ้านสบสาย จังหวัดน่าน แก้

ประวัติความเป็นมาเจ้าหลวงพญาแก้ว แก้

                                                     

ประวัติเจ้าหลวงพญาแก้ว

เจ้าหลวงพญาแก้ว เดิมชื่อ พ่อท้าวแก้ว หรือ พ่อพญาแก้ว กำเนิดที่เมืองเชียงแสน เป็นหลานเจ้าพญาลาวครอบ ซึ่งภายหลังย้ายมาปกครองเมืองเชียงของ พ่อพญาแก้ว สืบเชื้อสายจากราชวงค์ลวจักรราช แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงแสน พ่อพญาแก้วมีชายาชื่อ แม่นางข่ายคำ มี ราชบุตร ๓ คน คือ ๑.เจ้าลังกา ๒.เจ้าหนานนนท์ ๓.เจ้าแก้วมาเมือง เมื่อปีไก๊ วันเม็ง ศักราชได้ ๑๑๒๘ ตัว (ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐) พ่อพญาแก้ว พร้อมกับแสนหลวงราชสมภาร มีครูบาอินต๊ะวิไชย เป็นสังฆะ แสนหลวงคำเฮือง แสนหลวงปัญญาราช แสนหลวงคำแดง แสนหลวงสารใจ แสนหลวงอินน้อย แสนหลวงจันฟุ่น ขุนหลวงอินสอน ขุนหลวงผาคำ ขุนหลวงปายสาร นางคำเกี้ยว นางคำผอง นางยอดหล้า นางยอดแก้ว เหล่าทหารแกล้วทั้งหลาย และราษฏร อพยพย้ายหนีกองทัพม่าน(พม่า) ที่ยึดเมืองเชียงแสน ลงมาอยู่เมืองเชียงของ แต่ไม่พ้นการถูกรุกราน เมื่อเจ้าอริยวงศ์ เจ้าหลวงเมืองน่าน ได้ทราบข่าวจึงเชิญให้อพยพมาอยู่ที่เมืองน่าน ให้ทำนาข้าวและธัญญาหารส่งให้เจ้าหลวงเมืองน่าน แทนการขอบคุณ เมื่อได้เดินทางมาเจอชัยภูมิที่ดี มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน เรียกกันว่า "ศรีพรหม " หรือ ชัยพรม ประกอบกับมีชุมชนและวัดร้างของชาวพม่า ตั้งอยู่ก่อนแล้ว จึงพากันตั้งรกรากอยู่ที่นี่ อยู่กันร่มเย็นเป็นสุขเรื่อยมา ด้วยคุณงามความดี ความชื่อตรง กล้าหาญชาญชัย ที่พ่อพญาแก้ว ได้ปกป้องดูแลราษฏรที่อพยพมานั้น จึงได้ร่วมกันสถาปนา พ่อพญาแก้ว เป็นเจ้าหลวงพญาแก้ว นับแต่นั้นมา เจ้าหลวงพญาแก้วได้ถึงแก่พิราลัย สิริอายุได้ ๘๖ ปี ชาวเมืองจัดพิธีปลงศพที่ บริเวณปง (พื้นที่ชุ่มน้ำ)ตะวันออกแม่น้ำน่าน ชาวเมืองจึงได้ตั้งหอหลวงขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงสักการะและเคารพท่าน ต่อมาหอหลวงได้ถูกแม่น้ำน่านกัดเซาะพังลงไป ชาวบ้านสบสายจึงร่วมกันสร้างหอเจ้าหลวงพญาแก้วขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๐ บริเวณปากสบสาย ภายหลังถูกน้ำท่วมบ่อยครั้งจึงย้ายมาตั้งบนเนินหลังวัดโพกเก๊าฆ้อง (วัดร้าง) ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ จนถึงปัจจุบัน


                                                                             
                                                                                        อนุเสาวรีย์เจ้าหลวงพญาแก้ว


อ้างอิง แก้

ตำนานเจ้าหลวงพญาแก้ว ปราชญ์ชาวบ้าน