คำมอกหลวง
ต้นคำมอกหลวง ทรงปลูกโดยสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Asterids
อันดับ: Gentianales
วงศ์: Rubiaceae
สกุล: Gardenia
สปีชีส์: G.  sootepensis
ชื่อทวินาม
Gardenia sootepensis

คำมอกหลวง หรือ คำมอกช้าง ยางมอกใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์: Gardinia sootepensis ภาษากะเหรี่ยงเรียก เพาะกะ เป็นไม้ในสกุลพุด วงศ์ Rubiaceae เป็นไม้ยืนต้นสูง 7-15 เมตร ผลัดใบในช่วงสั้นๆ ก่อนออกดอก มียางสีเหลือง กิ่งอ่อนมีขนสั้นปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบเหนียวและสากคาย ใบเดี่ยว มีหูใบลักษณะเป็นปลอกหุ้มกิ่ง หลุดร่วงง่าย เห็นรอยแผลชัดเจน ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว 5–10 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบหนาขอบบิดและม้วน เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5–7 เซนติเมตร ดอกทยอยบานจนเต็มต้นในเวลาใกล้เคียงกัน ดอกแรกแย้มช่วงเย็นเป็นสีขาวนวลและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม เมื่อใกล้โรยมีกลิ่นหอมแรงมากขึ้น และร่วงตอนบ่ายวันรุ่งขึ้น ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดวันและหอมแรงใกล้พลบค่ำ ออกดอกเดือนมีนาคม – เมษายน ผลมีเมล็ดเดียว สีเขียว เมล็ดแบน

คำมอกหลวงกระจายพันธุ์ในป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง พบครั้งแรกที่ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยหมอคาร์ ชาวไอริช ชื่อสปีชีส์ตั้งตามดอยสุเทพ ใช้เป็นไม้ประดับ ชาวกะเหรี่ยงนำผลไปรับประทาน


อ้างอิง แก้

  • ปิยะ เฉลิมกลิ่น จิรพันธุ์ ศรีทองกุล และอนันต์ พิริยะภัทรกิจ. พรรณไม้ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย. กทม. โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพ. 2551. หน้า 105
  • ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่271 หน้า ดูฉบับเต็ม เก็บถาวร 2021-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน