คาร์ล ลันท์ชไตเนอร์

(เปลี่ยนทางจาก คาร์ล ลันด์สไตเนอร์)

คาร์ล ลันท์ชไตเนอร์ (เยอรมัน: Karl Landsteiner; 14 มิถุนายน ค.ศ. 1868 – 26 มิถุนายน ค.ศ. 1943) เป็นแพทย์ชาวออสเตรีย/อเมริกัน เกิดที่เมืองบาเดินไบวีน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (ใกล้กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียในปัจจุบัน) เป็นบุตรของเลโอพ็อลท์และฟันนี (นามสกุลเดิม เฮ็ส) ลันท์ชไตเนอร์[2] เรียนจบด้านการแพทย์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ระหว่างปี ค.ศ. 1891–1893 ลันท์ชไตเนอร์เรียนวิชาเคมีที่เมืองเวือทซ์บวร์ค, มิวนิก และซือริช เมื่อกลับมาที่เวียนนา ลันท์ชไตเนอร์ทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิทยาแบคทีเรีย อันโทน ไวค์เซิลเบาม์ ที่มหาวิทยาลัยเวียนนา ในปี ค.ศ. 1901 ลันท์ชไตเนอร์ประสบความสำเร็จในการจำแนกหมู่โลหิต A, B และ O และพบว่าการถ่ายเลือดให้กับผู้ที่มีหมู่เลือดเดียวกันไม่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดถูกทำลาย จากการค้นพบดังกล่าวทำให้ในปี ค.ศ. 1907 รูเบน ออตเตนเบิร์ก นายแพทย์ชาวอเมริกันประสบความสำเร็จในการถ่ายเลือดเป็นครั้งแรก[3]

คาร์ล ลันท์ชไตเนอร์
เกิด14 มิถุนายน ค.ศ. 1868(1868-06-14)
บาเดินไบวีน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
เสียชีวิต26 มิถุนายน ค.ศ. 1943(1943-06-26) (75 ปี)
นครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ
สัญชาติออสเตรีย/อเมริกัน
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเวียนนา
มีชื่อเสียงจาก
รางวัล
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาการแพทย์, วิทยาไวรัส
สถาบันที่ทำงานมหาวิทยาลัยเวียนนา
สถาบันร็อกเกอะเฟลเลอร์เพื่อการวิจัยทางการแพทย์

ต่อมาลันท์ชไตเนอร์ทำงานที่โรงพยาบาลวิลเฮ็ลมีเนินชปีทาล (Wilhelminenspital) ในปี ค.ศ. 1909 ลันท์ชไตเนอร์และเพื่อนร่วมงาน แอร์วีน พ็อพเพอร์ ค้นพบโปลิโอไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคโปลิโอ[4] หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ลันท์ชไตเนอร์พบว่างานในออสเตรียหายากขึ้น จึงย้ายไปที่ประเทศเนเธอร์แลนด์[5] ต่อมาในปี ค.ศ. 1922 ลันท์ชไตเนอร์ได้รับเชิญให้มาทำงานที่สถาบันร็อกเกอะเฟลเลอร์เพื่อการวิจัยทางการแพทย์ในสหรัฐ ในปี ค.ศ. 1930 ลันท์ชไตเนอร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์จากการบุกเบิกการศึกษาเกี่ยวกับหมู่โลหิต[6] ต่อมาในปี ค.ศ. 1940 ลันท์ชไตเนอร์และเพื่อนร่วมงาน อเล็กซานเดอร์ เอส. ไวเนอร์ และฟิลิป เลวีน ค้นพบอาร์เอชแฟกเตอร์

ด้านชีวิตส่วนตัว ลันท์ชไตเนอร์แต่งงานกับเลโอพ็อลดีเนอ เฮเลเนอ วลัสโทในปี ค.ศ. 1916 มีบุตรด้วยกัน 1 คน[7] ลันท์ชไตเนอร์เสียชีวิตด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือดในปี ค.ศ. 1943[8] ในปี ค.ศ. 2016 กูเกิล ดูเดิลฉลองวันเกิดครบรอบ 148 ปีให้แก่เขา[9]

อ้างอิง

แก้
  1. Rous, P. (1947). "Karl Landsteiner. 1868-1943". Obituary Notices of Fellows of the Royal Society. 5 (15): 294–226. doi:10.1098/rsbm.1947.0002.
  2. Karl Landsteiner| Encyclopedia.com
  3. Karl Landsteiner discovered the four blood groups - Healio
  4. Paul JR (1971). A History of Poliomyelitis. (Yale studies in the history of science and medicine). New Haven, Conn: Yale University Press. ISBN 0-300-01324-8.
  5. Karl Landsteiner - Biographical - Nobelprize.org
  6. The Nobel Prize in Physiology or Medicine 1930
  7. Karl Landsteiner - Whonamedit
  8. Karl Landsteiner - Famous Scientists
  9. "Karl Landsteiner's 148th birthday". Google.com. สืบค้นเมื่อ 2016-06-14.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้