พุทธชัยมงคลคาถา

(เปลี่ยนทางจาก คาถาพาหุง)

พุทธชัยมงคลคาถา หรือมักเรียกว่า คาถาพาหุง ตามบาทแรกของพระคาถา เป็นชื่อพระคาถาในพระพุทธศาสนา มีความยาวแปดบท ใช้สวดสรรเสริญชัยชนะแปดประการที่พระสมณโคดมทรงมีเหนือมนุษย์และอมนุษย์ด้วยธรรมานุภาพ มิใช่ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ พระคาถานี้ปัจจุบันมักใช้สวดต่อจากคาถาทำวัตรเช้าหรือเย็น

ที่มา แก้

ที่มาของพุทธชัยมงคลคาถาไม่เป็นที่แน่ชัดนัก ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต แสดงความเห็นไว้ว่า คาถาพาหุง เรียกเป็นทางการว่า ชยมังคลอัฏฐกคาถา อ่านว่า “ชะยะมังคะละอัตถะกะคาถา” แปลว่า “คาถาว่าด้วยชัยชนะ ๘ ประการ อันเป็นมงคลของพระพุทธเจ้า” ที่เรียกกันติดปากว่า “คาถาพาหุง” เพราะขึ้นต้นด้วยคำว่า “พาหุง” ส่วนที่มานั้น ค่อนข้างสับสน บางกระแสว่าน่าจะแต่งโดยนักปราชญ์ศรีลังกา เพราะพระลังกาสวดกันได้ทุกรูป บางกระแสระบุว่า คาถาพาหุง แต่งที่เมืองไทย

ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ อ้างทัศนะของ สุชีพ ปุญญานุภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธ ที่ระบุว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี โดยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 และทรงได้ส่งทหารไปสู่สงครามเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2461 นั้นพระองค์ทรงนำกองทัพสวดคาถาพาหุง พร้อมทั้งคำแปลที่ทรงพระราชนิพนธ์ เป็นวสันตดิลกเพื่อชัยชนะแห่งกองทัพไทย และฝ่ายพันธมิตร โดยฉันท์พระราชนิพนธ์บทนี้ ทรงนำเอา “ชยมังคลอัฏฐกคาถา” บทแรก (คือบทพาหุง) มาลงไว้ดัดแปลงตอนท้ายจากเดิม ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ เป็น ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะสิทธิ นิจจัง[1]

นอกจากนี้ นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า ผู้ประพันธ์คาถานี้คือพระมหาพุทธสิริเถระ ซึ่งรจนาคัมภีร์ฎีกาพาหุง ในราว พ.ศ. 2006 ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งการมีอยู่ของคัมภีร์ฎีกาพาหุง ทำให้สามารถอนุมานได้ว่า พระคาถานี้น่าจะแต่งขึ้นก่อนพุทธศตวรรษที่ 2100 ทั้งนี้ บางกระแสระบุว่า คาถานี้ชื่อว่า “บทถวายพรพระ” เพราะแต่งถวายพระเจ้าแผ่นดินชนะศึก[2]

ส่วนจะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ไหนนั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่จากคำบอกเล่าของพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) ระบุว่าเป็นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ตำนาน แก้

พระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี อ้างว่าฝันถึงสมเด็จพระพนรัตน์ป่าแก้วแห่งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพนรัตน์บอกกล่าวว่ารูปเป็นผู้แต่งคาถาพาหุงนี้ถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเอง ให้พระองค์ไว้สวดเป็นประจำในพระบรมมหาราชวังและระหว่างออกศึกสงคราม จึงชนะมังกะยอชวาพระมหาอุปราชแห่งกรุงหงสาวดีได้สำเร็จ

บทสวดพร้อมคำแปล แก้

  วิกิซอร์ซมีงานที่เกี่ยวข้องกับ พุทธชัยมงคลคาถา

บทสวดทำนองสรภัญญะ แก้

 
ธงชัยเฉลิมพลกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้านหน้า
 
ธงชัยเฉลิมพลกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้านหลัง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลพระคาถาพาหุง บทที่ 1 เป็นภาษาไทยในรูปแบบวสันตดิลกฉันท์ ไว้ให้กองทัพไทยสวดก่อนร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในการนี้ ได้ทรงดัดแปลงท้ายพระคาถาจากที่ว่า 'ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ' เป็น 'ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะสิทธิ นิจจัง' ทั้งยังได้โปรดให้จารึกพระคาถาที่ทรงดัดแปลงนี้ลงหน้าและหลังธงชัยเฉลิมพลของกองทหารอาสาในสงครามครั้งนี้ด้วย

ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุท- ธะวิสุทธะศาสดา
ตรัสรู้อนุตตะระสะมา- ธิ ณ โพธิบัลลังก์
ขุนมารสหัสสะพหุพา- หุวิชาวิชิตขลัง
ขี่คีริเมขละประทัง คชะเหี้ยมกระเหิมหาญ
แสร้งเสกสราวุธะประดิษฐ์ กละคิดจะรอนราน
รุมพลพหลพยุหะปาน พระสมุททะนองมา
หวังเพื่อผจญวระมุนิน- ทะสุชินะราชา
พระปราบพหลพยุหะมา- ระเมลืองมลายสูญ
ด้วยเดชะองค์พระทศพล สุวิมละไพบูลย์
ทานาทิธัมมะวิธิกูล ชนะน้อมมโนตาม
ด้วยเดชะสัจจะวจนา และนะมามิองค์สาม
ขอจงนิกรพละสยาม ชยะสิทธิทุกวาร
ถึงแม้จะมีอริวิเศษ พละเดชะเทียมมาร
ขอไทยผจญพิชิตะผลาญ อริแม้นมุนินทรฯ  

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแปลพระคาถาพาหุง บทที่ 7 เรียก "บทนนฺโท" ว่าด้วยชัยชนะของพระสมณโคดมต่อนันโทปนันทนาคราช ให้นักรบฝ่ายกองทัพเรือไว้ใช้สวดก่อนนอน

ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุท- ธะวรุตตะมาจารย์
ประศาสน์พระศาสะนะประสาน มนะเพื่อผดุงคน
นันโทปนันทะภุชะคา ติฉลาดและแสนกล
เรืองอิทธิฤทธิจะประจน จิระเหี้ยมอหังการ์
พระโลกะนาถะพระประทาน อุปะเทศะฤทธา
แด่องค์พระเถระวรสา- วะกะเพื่อผจญงู
วันอัคคะสาวะกะวิสิฎ- ฐะวิชิต ณ ศัตรู
ปราบนาคะราชะชยชู ชะนะแม้นมะโนจง
ด้วยเดชะสัจจะวะจะนา และนะมามิสามองค์
ขมพลสมุททะยุธะยง ชยสิทธิทุกครา
ถึงแม้คณาอริจะนำ พหุยุทธะนาวา
มาแน่น ณ แดนอุทกะสา- ครก้องคะนองหาญ
ขอเดชะองค์พระทศพล พิระเกื้อกำลังราญ
เรืองไทยวิชัยวิชิตผลาญ อริแม้นมุนินทรฯ  

อ้างอิง แก้

  1. เสฐียรพงษ์ วรรณปก.
  2. สุภาพรรณ ณ บางช้าง. (2533). หน้า 301 - 2

บรรณานุกรม แก้

  • เสฐียรพงษ์ วรรณปก. คาถาพาหุง คาถาแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์. กรุงเทพมหานคร. ธรรมสภา
  • สุภาพรรณ ณ บางช้าง. (2533). วิวัฒนาการวรรณคดีบาลีสายพระสุตันตปิฎกที่แต่งในประเทศไทย. ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้