ความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี

ความเอนเอียงโดยการมอง (ความเสี่ยงของตน) ในแง่ดี[1] หรือ ความเอนเอียงโดยสุทรรศนนิยม[2] (อังกฤษ: optimism bias) หรือเรียกในภาษาอังกฤษว่า unrealistic optimism (การมองในแง่ดีแบบเป็นไปไม่ได้) หรือ comparative optimism (การมองในแง่ดีเชิงเปรียบเทียบ) เป็นความเอนเอียงที่เป็นเหตุให้เราเชื่อว่า เรามีโอกาสที่จะประสบเหตุการณ์เลวร้ายน้อยกว่าคนอื่น มีองค์ประกอบ 4 อย่างที่ทำให้เกิดความเอนเอียงนี้คือ[3]

  • ความต้องการ
  • กลไกทางประชาน
  • ข้อมูลที่เรามีเกี่ยวกับตนและคนอื่น
  • อารมณ์โดยทั่ว ๆ ไป

ความเอนเอียงนี้จะเห็นได้ในสถานการณ์หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น

  • เราเชื่อว่าเรามีโอกาสน้อยกว่าที่จะประสบอาชญากรรม[4]
  • คนสูบบุหรี่เชื่อว่า ตนมีโอกาสที่จะเกิดโรคมะเร็งปอดน้อยกว่าคนสูบบุหรี่อื่น ๆ หรือคนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็คิดว่าตนเองคงจะไม่เป็นตับแข็ง มะเร็งตับ หรือเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มเกินขนาดจนเมา
  • คนที่เล่นบันจีจัมพ์เป็นครั้งแรกเชื่อว่าตนมีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บน้อยกว่าคนอื่น[5]
  • หรือว่าผู้ซื้อขายหุ้นคิดว่า ตนมีโอกาสเสี่ยงต่อการขาดทุนในตลาดขายหุ้นน้อยกว่าคนอื่น[6]

แม้ว่าความเอนเอียงนี้อาจจะเกิดขึ้นทั้งในเหตุการณ์เชิงบวก เช่นเชื่อว่าตนเองมีความสำเร็จทางการเงินดีกว่าคนอื่น และทั้งเหตุการณ์เลวร้าย เช่นเชื่อว่าตนมีโอกาสน้อยกว่าที่จะติดเหล้า แต่ว่างานวิจัยและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์โดยมากแสดงว่า ความเอนเอียงนี้มีกำลังมากกว่าในเหตุการณ์เลวร้าย[3][7] ความเอนเอียงนี้มีผลแตกต่างกันในเหตุการณ์เชิงบวกและลบ ความเอนเอียงในเหตุการณ์เชิงบวกมักจะนำไปสู่ความสุขและความมั่นใจ ความเอนเอียงในเหตุการณ์เลวร้ายจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่สูงยิ่งขึ้นที่จะประสบกับเหตุการณ์นั้น เช่นการมีพฤติกรรมเสี่ยงและไม่ทำการป้องกัน[3]

การวัด แก้

ความเอนเอียงนี้มักจะวัดโดยตัวกำหนดความเสี่ยงสองอย่าง คือ

  • ความเสี่ยงสัมบูรณ์ (absolute risk) เป็นการเปรียบเทียบการประเมินตนว่ามีโอกาสจะประสบเหตุการณ์เลวร้าย กับโอกาสจริง ๆ ที่ตนจะประสบ (คือเปรียบเทียบกับโอกาสที่ตนมีจริง ๆ)
  • ความเสี่ยงเปรียบเทียบ (comparative risk) เป็นการเปรียบเทียบการประเมินความเสี่ยงของตนว่าจะประสบเหตุการณ์เลวร้าย กับความเสี่ยงที่ตนประเมินผู้อื่นที่อยู่ในวัยและเพศเดียวกันเป็นต้นว่าจะประสบเหตุการณ์อย่างเดียวกัน[7][8]

มีปัญหาหลายอย่างในการวัดค่าสัมบูรณ์เพราะว่ายากมากที่จะกำหนดสถิติความเสี่ยงจริง ๆ ของคน ๆ หนึ่ง[8][9] ดังนั้น การวัดค่าในงานวิจัยมักจะเป็นแบบเปรียบเทียบ โดยเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบโดยตรงหรือโดยอ้อม[5] การเปรียบเทียบโดยตรงจะถามว่าตนมีโอกาสเสี่ยงในการประสบเหตุการณ์หนึ่ง ๆ น้อยกว่า มากกว่า หรือเท่ากับคนอื่น ๆ ในขณะที่การเปรียบเทียบโดยอ้อมจะเป็นการประเมินทั้งความเสี่ยงของตนในการประสบเหตุการณ์ และความเสี่ยงของคนอื่นในการประสบเหตุการณ์อย่างเดียวกัน[8][10]

หลังจากที่ได้ค่าประเมินต่าง ๆ นักวิจัยจะกำหนดว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ ระหว่างค่าประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉลี่ยของบุคคล เทียบกับค่าประเมินความเสี่ยงเฉลี่ยของบุคคลอื่น (ที่อยู่ในวัยและเพศเดียวกันเป็นต้น) โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ในเหตุการณ์เลวร้าย ค่าประเมินความเสี่ยงเฉลี่ยของบุคคลจะต่ำกว่าค่าประเมินความเสี่ยงที่ให้กับคนอื่น[8] ซึ่งใช้เป็นหลักฐานว่ามีความเอนเอียงนี้ ความเอนเอียงนี้สามารถกำหนดได้ในระดับกลุ่มเท่านั้น เพราะค่าประเมินเชิงบวกเทียบกับคน ๆ เดียวอาจจะถูกต้องตามความเป็นจริง[7] นอกจากนั้นแล้ว ยังมีปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับการวัดค่าความเสี่ยง เพราะว่ายากที่จะกำหนดว่า ใครมองในแง่ดี ใครมองถูกต้องตามความเป็นจริง และใครมองในแง่ร้าย[8][10] มีงานวิจัยที่เสนอว่า ความเอนเอียงมาจากการประเมินค่าความเสี่ยงของกลุ่มเปรียบเทียบเกินความจริง ไม่ใช่เป็นการประเมินค่าเสี่ยงของตนต่ำเกินไป[8]

องค์ประกอบ แก้

องค์ประกอบที่นำไปสู่ความเอนเอียงนี้สามารถแยกออกเป็นสี่กลุ่ม คือ[3]

  • ผลที่พึงประสงค์เมื่อมีการเปรียบเทียบ
  • กลไกทางประชาน
  • ข้อมูลที่เรามีเกี่ยวกับตนและคนอื่น
  • อารมณ์โดยทั่ว ๆ ไป

ซึ่งจะอธิบายต่อไป

ผลที่พึงประสงค์เมื่อมีการเปรียบเทียบ แก้

ทฤษฎีอธิบายความเอนเอียงประเภทนี้หลายอย่างแสดงว่า เป้าหมาย (goals) และสิ่งที่ต้องการที่จะเห็นเป็นผล (desired outcome) ของบุคคล เป็นเหตุหนึ่งของความเอนเอียง[3] คือ เรามักจะเห็นความเสี่ยงของเราน้อยกว่าคนอื่น เพราะเชื่อว่า เป็นสิ่งที่คนอื่นต้องการจะเห็นในเรา ทฤษฎีเหล่านี้รวมทั้ง

  • การยกตน (self-enhancement)
  • การบริหารความประทับใจ (Impression management)
  • และความรู้สึกว่าควบคุมได้ (perceived control)

การยกตน แก้

ทฤษฎีการยกตนเสนอว่า การมองในแง่ดีเป็นสิ่งที่น่าพึงใจและทำให้รู้สึกดี เมื่อคิดว่า สิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้น[3] เราสามารถควบคุมความกังวลไม่สบายใจและอารมณ์เชิงลบอื่น ๆ ถ้าเชื่อว่า เราดีกว่าคนอื่น[3] เรามักจะสนใจหาข้อมูลสนับสนุนสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น มากกว่าข้อมูลที่จะแสดงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราจริง ๆ[3] ทฤษฎีความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีเสนอว่า เราจะพยากรณ์เหตุการณ์ในเชิงบวก เพราะเป็นสิ่งที่เราหวังให้เกิดขึ้น ซึ่งบอกเป็นนัยด้วยว่า เราอาจจะลดค่าความเสี่ยงของตนเมื่อเทียบกับคนอื่น เพื่อให้ตนดูดีกว่าคนอื่นโดยเฉลี่ย คือเพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่าผู้อื่น ดังนั้นจึงดีกว่าผู้อื่น[3]

การบริหารความประทับใจ แก้

งานวิจัยต่าง ๆ แสดงว่า เราพยายามที่จะสร้างและรักษาภาพพจน์ที่พึงปรารถนาของตนในวงสังคม คือ เรามีแรงจูงใจที่จะแสดงตนในภาพพจน์ที่ดีต่อผู้อื่น ดังนั้น นักวิจัยบางพวกจึงเสนอว่า ความเอนเอียงนี้เป็นตัวแทนของกระบวนการบริหารความประทับใจ คือ เราต้องการที่จะปรากฏว่าดีกว่าคนอื่น แต่ว่า นี่ไม่ใช่ความพยายามโดยจงใจ คือเกิดขึ้นใต้จิตสำนึก ในงานวิจัยหนึ่งที่ผู้ร่วมการทดลองเชื่อว่า จะมีการทดสอบความสามารถในการขับรถของตนโดยเหตุการณ์จริง ๆ หรือในความจริงเสมือน คนที่เชื่อว่าจะมีการทดสอบ จะมีความเอนเอียงแบบนี้น้อยกว่า และจะถ่อมตนมากกว่า เมื่อให้คะแนนทักษะการขับรถของตน เทียบกับบุคคลผู้ที่เชื่อว่าจะไม่มีการทดสอบ[11]

มีงานวิจัยที่เสนออีกด้วยว่า บุคคลที่แสดงตนเองในแง่ร้ายมักจะมีการยอมรับน้อยกว่าจากสังคม[12] ซึ่งเป็นเหตุอย่างหนึ่งที่สนับสนุนการมองในแง่ดีมากเกินไป

ความรู้สึกว่าควบคุมได้ แก้

เรามักจะมีความเอนเอียงเช่นนี้มากกว่าเมื่อเชื่อว่า เราสามารถควบคุมเหตุการณ์ในสถานการณ์นั้นมากกว่าคนอื่น[3][9][13] ยกตัวอย่างเช่น เรามักจะคิดว่า เราจะไม่เกิดความบาดเจ็บเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ถ้าเราเป็นคนขับ[13] อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเราเชื่อว่า เรามีระดับความควบคุมสูงในการติดเอดส์ เราก็จะมีโอกาสมากกว่าที่จะเห็นว่า โอกาสเสี่ยงในการติดโรคของเรามีน้อย[8] มีงานวิจัยหลายงานที่เสนอว่า เรายิ่งรู้สึกว่าเรามีความควบคุมสูงเท่าไร ก็จะมีความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีสูงขึ้นเท่านั้น[13][14] เพราะฉะนั้น ความรู้สึกว่าควบคุมได้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญเมื่อประเมินความเสี่ยงของตนเอง แต่ไม่ใช่เมื่อประเมินความเสี่ยงของคนอื่น[9][13]

งาน meta-analysis ที่สืบหาความสัมพันธ์ระหว่างความเอนเอียงนี้กับความรู้สึกว่าควบคุมได้พบว่า มีตัวแปร moderator อื่น ๆ ที่สนับสนุนส่งเสริมความสัมพันธ์[9] ในงานวิจัยที่ผ่านมา ผู้ร่วมการทดลองจากสหรัฐอเมริกาโดยทั่วไปมีค่าความสัมพันธ์ ระหว่างความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีและความรู้สึกว่าควบคุมได้ สูงกว่าประเทศอื่น ๆ นอกจากนั้นแล้ว นักเรียนนักศึกษามักจะมีความเอนเอียงนี้ในระดับที่สูงกว่ากลุ่มชนอื่น ๆ[9] แบบงานวิจัยยังแสดงความแตกต่างกันของความสัมพันธ์ระหว่างความเอนเอียงนี้กับความรู้สึกว่าควบคุมได้ คือ งานวิจัยที่ใช้การวัดโดยตรงเสนอว่า มีความสัมพันธ์กันระหว่างความเอนเอียงนี้กับความรู้สึกว่าควบคุมได้ สูงกว่าเมื่อเทียบกับงานวิจัยที่ใช้การวัดโดยอ้อม[9] ความเอนเอียงนี้มีกำลังสูงสุดในสถานการณ์ที่บุคคลต้องพึ่งการกระทำของตน และมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ[9]

องค์ประกอบมีผลตรงกันข้ามกับความรู้สึกว่าควบคุมได้ก็คือ ประสบการณ์ที่มีมาก่อน[8] นั่นก็คือ ประสบการณ์ที่มีมาก่อนมักจะสัมพันธ์กับความมีความเอนเอียงนี้ในระดับที่ต่ำกว่า ซึ่งงานวิจัยบางงานเสนอว่า มาจากการลดความรู้สึกว่า สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ หรือว่า ทำให้ง่ายขึ้นที่จะคิดว่า ตนมีโอกาสเสี่ยง[8][14] ประสบการณ์ก่อน ๆ ทำให้คิดได้ว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ อาจจะควบคุมได้น้อยกว่าที่เคยเชื่อมาก่อน ๆ[8]

กลไกทางประชาน แก้

ความเอนเอียงนี้อาจจะได้รับอิทธิพลจากกลไกทางประชาน 3 อย่างที่ใช้ในการประเมินและการตัดสินใจ คือ representativeness heuristic (ฮิวริสติกโดยความเป็นตัวแทน), singular target focus (จุดเป้าหมายที่มีอันเดียว), และ interpersonal distance (ความเหินห่างระหว่างบุคคล)[3]

ฮิวริสติกโดยความเป็นตัวแทน แก้

การประเมินความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ ที่เกี่ยวกับความเอนเอียงนี้ อาศัยว่า เหตุการณ์หนึ่งจะเหมือนกับไอเดียทั่วไปของเราเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นอย่างไร[3] คือ มีนักวิชาการบางท่านที่เสนอว่า representativeness heuristic (ฮิวริสติกโดยความเป็นตัวแทน) เป็นเหตุอย่างหนึ่งของความเอนเอียงนี้ ซึ่งก็คือเรามักจะคิดถึงตัวอย่างประเภท (stereotypical categories) แทนที่จะคิดถึงตัวอย่างนั้นโดยตรงเมื่อทำการเปรียบเทียบ[14] ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการให้คนขับรถคิดถึงอุบัติเหตุรถยนต์ ผู้ขับก็มักจะคิดถึงคนขับรถที่ไม่ดี มากกว่าคนขับรถโดยทั่ว ๆ ไป[3] คือ เรามักจะเปรียบเทียบกับตัวอย่างไม่ดีที่นึกได้ มากกว่าจะทำการเปรียบเทียบที่แม่นยำกว่าโดยทั่ว ๆ ไประหว่างตนเองกับคนขับรถอื่น ๆ นอกจากนั้นแล้ว เมื่อเราเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อน เรามักจะเลือกเพื่อนที่แย่กว่าในเหตุการณ์ที่กำลังพิจารณา[15] คือ เรามักจะเลือกเพื่อนคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะเพราะว่าคล้ายกับตัวอย่างที่เป็นประเด็น มากกว่าจะเลือกเพื่อนทั่ว ๆ ไป (แทนที่เพื่อนที่มีลักษณะเป็นกลาง ๆ โดยเฉลี่ย)[15] นี่เป็นการหาตัวอย่างที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคำถาม ซึ่งเป็นลักษณะของฮิวริสติกโดยความเป็นตัวแทน

จุดเป้าหมายที่มีอันเดียว แก้

ความยากลำบากอย่างหนึ่งในการแก้ความเอนเอียงนี้ก็คือ เราจะรู้จักตัวเราเองดีกว่าคนอื่น ดังนั้น แม้เราจะคิดถึงตนเองว่าเป็นบุคคลคนหนึ่ง แต่เรากลับคิดถึงผู้อื่นโดยความเป็นกลุ่มบุคคล ซึ่งนำไปสู่การประเมินค่าที่เอนเอียง และความไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจอย่างพอเพียงต่อบุคคลที่เปรียบเทียบ หรือกลุ่มที่เปรียบเทียบ โดยนัยเดียวกัน เมื่อทำการประเมินหรือทำการเปรียบเทียบความเสี่ยงของตนเทียบกับผู้อื่น เราโดยทั่ว ๆ ไปจะไม่ใส่ใจในบุคคลทั่ว ๆ ไป (คนกลาง ๆ โดยเฉลี่ย) แต่จะไปสนใจคนที่ตรงกับความรู้สึกและประสบการณ์ของตนเอง[3]

ความเหินห่างระหว่างบุคคล แก้

อีกอย่าง ความแตกต่างของการประเมินความเสี่ยง จะขึ้นอยู่กับว่า บุคคลที่เป็นเป้าหมายเปรียบเทียบ เหมือนหรือไม่เหมือนกับผู้ที่กำลังทำการเปรียบเทียบ[3] ยิ่งรู้สึกว่าห่างกันมากเท่าไร ค่าประเมินความเสี่ยงก็จะแตกต่างกันมากเท่านั้น แต่ถ้าทำให้ผู้ที่เป็นเป้าหมายเปรียบเทียบใกล้กับผู้เปรียบเทียบมากยิ่งขึ้น ค่าประเมินความเสี่ยงก็จะแตกต่างกันน้อยลง[3] มีหลักฐานอยู่บ้างว่า ความรู้สึกเกี่ยวกับความห่างทางสังคม (social distance) มีผลต่อระดับความเอนเอียงโดยมองในแง่ดี[16] คือ ถ้าเทียบกับบุคคลใน in-group (วงสังคมของตนเอง) ค่าประเมินระหว่างตนกับคนอื่น จะมีความใกล้เคียงกว่าเมื่อมีการเทียบกับบุคคลอื่นใน outer-group (กลุ่มนอกสังคมของตน)[16] ในงานวิจัยหนึ่ง นักวิจัยจัดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางสังคมของกลุ่มที่เปรียบเทียบ โดยที่ผู้ร่วมการทดลองทำการตัดสินโดยใช้กลุ่มเปรียบเทียบสองกลุ่ม คือ นักเรียนทั่วไปที่มหาวิทยาลัยของตน และนักเรียนทั่วไปที่อีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง ผลงานวิจัยแสดงว่า เราไม่ใช่เพียงแต่ทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีฐานะทางสังคมใกล้กว่าเราก่อนเท่านั้น แต่ความแตกต่างค่าประเมินความเสี่ยงระหว่างเรากับคนในกลุ่มของเราเองน้อยกว่า ค่าประเมินระหว่างเรากับคนในกลุ่มอื่นอีกด้วย[16]

งานวิจัยหลายงานยังพบอีกด้วยว่า เรามีความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ไม่รู้จักดี ในระดับที่สูงกว่า แต่ความเอนเอียงจะลดลงถ้าผู้เป็นเป้าหมายเปรียบเทียบเป็นคนคุ้นเคย เช่นเพื่อนหรือสมาชิกครอบครัว ซึ่งเป็นเพราะเรามีข้อมูลเกี่ยวกับคนใกล้ตัว แต่ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับคนอื่น[7]

ข้อมูลเกี่ยวกับตนและกับผู้เป็นเป้าหมายเปรียบเทียบ แก้

เรามีข้อมูลเกี่ยวกับตนเองมากกว่าเรามีเกี่ยวกับผู้อื่น[3] ทำให้เราสามารถประเมินค่าความเสี่ยงของเราได้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่ทำให้ยากที่จะประเมินความเสี่ยงของผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นผลให้เกิดความแตกต่างของความเห็นและข้อสรุปที่มีในเรื่องความเสี่ยงของตนเทียบกับของผู้อื่น ทำให้เกิดความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีในระดับที่สูงขึ้น (คือมีความแตกต่างกันของค่าเปรียบเทียบที่มากขึ้น)[3]

ความเอนเอียงเพราะเหมือนมนุษย์ แก้

Person-positivity bias (ความเอนเอียงเพราะเหมือนมนุษย์) เป็นความโน้มเอียงที่จะให้คะแนนวัตถุหนึ่งดีกว่าวัตถุอื่น เพราะเหมือนกับมนุษย์มากกว่า โดยทั่วไปแล้ว วัตถุเป้าหมายยิ่งเหมือนกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งมากเท่าไร ก็จะมีความรู้สึกคุ้นเคยกับวัตถุนั้นมากขึ้นเท่านั้น แต่กลุ่มบุคคลกลับเป็นความคิดที่เป็นนามธรรมมากกว่า ทำให้เกิดความคิดเห็นที่ดีได้น้อยกว่า ความเอนเอียงเพราะเหมือนมนุษย์สามารถอธิบายความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีได้ว่า เมื่อเราเทียบตนเองกับคนอื่นโดยทั่วไป (คนระดับกลาง ๆ) ไม่ว่าจะเป็นคนเพศเดียวกันหรือคนวัยเดียวกัน ผู้เป็นเป้าหมายเปรียบเทียบกลับดูเหมือนมนุษย์น้อยกว่า เหมือนกับบุคคลน้อยกว่า ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างกันระหว่างตนกับผู้อื่น[3]

ความคิดมีตนเป็นศูนย์กลาง แก้

Egocentric thinking (ความคิดมีตนเป็นศูนย์กลาง) หมายถึงการที่เรารู้ข้อมูลและความเสี่ยงของตนเอง พอที่จะสามารถใช้ในการประเมินและการตัดสินใจ แต่ว่า แม้ว่าเราจะมีข้อมูลมากเกี่ยวกับตนเอง เรากลับไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้อื่น ดังนั้น เมื่อจะทำการตัดสินใจ เราต้องใช้ข้อมูลอื่นที่เรามี เช่นข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่ม ใช้เพื่อที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับผู้ที่เป็นเป้าหมายมากยิ่งขึ้น[3] นี้อาจจะมีความสัมพันธ์กับความเอนเอียงประเภทนี้ เพราะว่า แม้ว่าเราจะสามารถใช้ข้อมูลที่มีเกี่ยวกับตน แต่เรากลับมีความยากลำบากในการเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้อื่น[3] ความคิดมีตนเป็นศูนย์กลางเช่นนี้พบได้บ่อยครั้งกว่าในเด็กวัยรุ่นและเด็กมหาวิทยาลัย ที่มักจะคิดถึงตนเองมากกว่าผู้อื่นโดยรวม ๆ[17]

แต่ว่า มีวิธีหลีกเลี่ยงแนวคิดแบบมีตนเป็นศูนย์กลาง ในงานวิจัยหนึ่ง นักวิจัยให้ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มหนึ่งทำรายการองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการจะได้ประสบเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วให้อีกกลุ่มหนึ่งอ่านรายการนั้น กลุ่มที่อ่านรายการจะแสดงความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีน้อยกว่า ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ความรู้ที่ดีขึ้นเกี่ยวกับคนอื่น และเกี่ยวกับความรู้สึกผู้อื่นในเรื่องโอกาสเสี่ยง จะทำกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาใกล้ตัวเรามากยิ่งขึ้น[14]

การประเมินความสามารถในการควบคุมของผู้อื่นต่ำเกินไป แก้

ในทฤษฎีความคิดมีตนเป็นศูนย์กลาง มีความเป็นไปได้ที่เราจะประเมินความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ของผู้อื่น (ที่เป็นกลาง ๆ โดยเฉลี่ย) ต่ำเกินไป ซึ่งสามารถอธิบายได้โดย 2 แนว คือ

  1. เราประเมินการควบคุมเหตุการณ์ในชีวิตของผู้อื่นต่ำเกินไป[14]
  2. เรามองข้ามอย่างสิ้นเชิงว่า คนอื่นสามารถควบคุมผลในชีวิตได้

ยกตัวอย่างเช่น คนสูบบุหรี่อาจจะคิดว่า ตนได้ทำการป้องกันเพื่อที่จะไม่เป็นโรคมะเร็งปอดไว้แล้ว เช่น สูบบุหรี่แค่วันละหนเดียว หรือใช้ก้นกรอง และเชื่อว่า คนอื่นไม่ได้ใช้วิธีการป้องกันเหมือนกันกับตน แต่จริง ๆ แล้ว ก็จะมีคนสูบบุหรี่อื่นมากมายที่ทำการป้องกันอย่างเดียวกันนั่นแหละ[3]

อารมณ์โดยทั่ว ๆ ไป แก้

องค์ประกอบสุดท้ายของความเอนเอียงนี้ก็คืออารมณ์โดยทั่ว ๆ ไป และประสบการณ์ทางอารมณ์ มีงานวิจัยที่แสดงว่า เรามีความเอนเอียงชนิดนี้ในระดับที่ต่ำกว่า เมื่อกำลังมีอารมณ์เชิงลบ และมีในระดับที่สูงกว่า เมื่อมีอารมณ์เชิงบวก อารมณ์ที่ทำให้เศร้าใจสะท้อนถึงการระลึกถึงเหตุการณ์ที่ไม่ดี ซึ่งเพิ่มความคิดเห็นเชิงลบ ในขณะที่อารมณ์ดีจะโปรโหมตการระลึกถึงเหตุการณ์ดี ๆ และความรู้สึกที่ดี[3] ซึ่งบอกเป็นนัยว่า โดยรวม ๆ แล้ว อารมณ์ที่ไม่ดี รวมทั้งภาวะซึมเศร้า มีผลเป็นการเพิ่มค่าประเมินความเสี่ยงของตน ซึ่งทำให้มีความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีที่ลดลง[8] นอกจากนั้นแล้ว ความวิตกกังวลยังนำไปสู่ระดับความเอนเอียงนี้ที่ต่ำลง ซึ่งก็สนับสนุนสมมติฐานว่า ประสบการณ์ดี ๆ โดยทั่ว ๆ ไป และทัศนคติที่ดี จะมีผลเป็นระดับความเอนเอียงนี้ที่สูงขึ้นในการประเมินเหตุการณ์ต่าง ๆ[8]

ผลกระทบของความเอนเอียง แก้

ในทางสุขภาพ ความเอนเอียงนี้มักจะทำให้เราไม่สนใจที่จะกระทำการป้องกันต่าง ๆ เพื่อมีสุขภาพที่ดี[18] ดังนั้น นักวิจัยจึงจำเป็นต้องรู้จักความเอนเอียงนี้ และกระบวนการที่ความเอนเอียงขัดขวางไม่ให้มนุษย์ กระทำการป้องกันในการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจของตนเองโดยเปรียบเทียบต่ำเกินไป จะมีความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจน้อยกว่า และแม้หลังจากอ่านบทความเกี่ยวกับโรค ก็จะยังไม่สนใจในเรื่องความเสี่ยงต่อโรคหัวใจของตน[10] เพราะว่า ความเอนเอียงนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการตัดสินใจ จึงสำคัญที่จะรู้ว่า ความรู้สึกว่าเสี่ยงไม่เสี่ยงเกิดขึ้นได้อย่างไร และว่า อย่างไรจึงจะมีผลเป็นพฤติกรรมที่ส่งเสริมการป้องกันความเสี่ยง ความรู้สึกเสี่ยงมีอิทธิพลที่สำคัญอย่างยิ่งต่อพฤติกรรมส่วนบุคคล เช่นการออกกำลังกาย ไดเอ็ต และการใช้ครีมกันแดด[19]

นโยบายป้องกันความเสี่ยงนั้นมักจะเน้นที่เด็กวัยรุ่น เพราะเด็กวัยรุ่นมีความรู้สึกเสี่ยงที่บิดเบือน จึงมักจะมีพฤติกรรมเสี่ยง ๆ ทางสุขภาพบ่อย ๆ เช่นการสูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติด และเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน และถึงแม้จะรู้ถึงความเสี่ยง ความรู้นี้ก็ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนนิสัยและพฤติกรรมของเด็ก[20] ส่วนวัยรุ่นที่มีความเอนเอียงโดยมองในแง่ดีต่อพฤติกรรมเสี่ยง ๆ ก็จะมีความเอนเอียงนี้สูงด้วยในวัยผู้ใหญ่[18]

อย่างไรก็ดี บททดสอบที่ใช้วัดค่าความเสี่ยงเหล่านี้บ่อยครั้งมีปัญหาทางระเบียบวิธี (methodological problem) คือ คำถามเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ไม่มีเงื่อนไข มีการใช้เหมือนกันทั้งหมด ในงานวิจัยที่ศึกษาประชากรทั้งหมด จึงทำให้เกิดปัญหา เช่นถามถึงโอกาสที่การกระทำหนึ่งจะเกิดขึ้น แต่ไม่ได้กำหนดว่ามีผลของการกระทำนั้นหรือไม่ หรือว่า เปรียบเทียบเหตุการณ์จริง ๆ ที่เกิดขึ้น กับเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้น[19] ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของการฉีดวัคซีน มีการเปรียบเทียบความรู้สึกของคนที่ฉีดและไม่ได้ฉีด ปัญหาอย่างอื่นก็คือ การไม่รู้ความรู้สึกเสี่ยงของบุคคลในเรื่องหนึ่ง ๆ[19] ซึ่งถ้ารู้ก็จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาความเอนเอียงโดยมองในแง่ดี และพฤติกรรมที่สามารถใช้ป้องกัน

การแก้ไขและการกำจัด แก้

งานวิจัยหลายงานแสดงว่า ยากมากที่จะกำจัดความเอนเอียงนี้ แต่ว่า ก็มีผู้เชื่อว่า ความพยายามเพื่อลดความเอนเอียงนี้ จะสนับสนุนให้คนเริ่มพฤติกรรมป้องกันทางสุขภาพ แต่ว่า ก็ยังมีนักวิชาการที่เสนอว่า ความเอนเอียงนี้ไม่สามารถที่จะลดได้[21]

ในงานวิจัยที่ทดสอบวิธี 4 อย่างเพื่อลดความเอนเอียงนี้ คือ[21]

  • ให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านรายการองค์ความเสี่ยงสุขภาพ
  • ให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านรายการองค์ความเสี่ยงสุขภาพโดยทำให้คิดว่าตนเองแย่กว่าผู้อื่น
  • ให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านรายการองค์ความเสี่ยงทีละอย่างและคิดถึงบุคคลผู้มีความเสี่ยงสูง
  • ให้ผู้ร่วมการทดลองทำรายการลักษณะนิสัยต่าง ๆ ของตนที่คิดว่าเพิ่มความเสี่ยง

ล้วนแต่เป็นวิธีที่ลดความเอนเอียงได้อย่างไม่แน่นอน แต่ว่า การเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ไปในด้านตรงกับข้าม บ่อยครั้งจะเพิ่มความเอนเอียงขึ้น[21] แม้ว่ามีงานวิจัยที่พยามยามจะลดความเอนเอียงโดยลดความแตกต่างกันจากผู้อื่น อย่างไรก็ดี โดยองค์รวมแล้ว ความเอนเอียงก็จะยังหลงเหลืออยู่บ้าง[16]

ถึงแม้ว่างานวิจัยต่าง ๆ จะแสดงว่า ยากที่จะกำจัดความเอนเอียง แต่ก็มีองค์ประกอบบางอย่างที่อาจช่วย ในการลดความแตกต่างของค่าประเมินความเสี่ยงระหว่างตนเองกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง คือ ถ้าทำให้กลุ่มเปรียบเทียบมีความใกล้เคียงกับตน ความเอนเอียงจะสามารถลดลงได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่หมดสิ้นไป มีงานวิจัยหลายงานที่พบว่า เมื่อให้บุคคลทำการเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อนสนิท ก็แทบจะไม่มีความต่างกันระหว่างค่าประเมินโอกาสว่าเหตุการณ์หนึ่ง ๆ จะเกิดขึ้นระหว่างตนกับเพื่อน[15] นอกจากนั้นแล้ว ถ้าประสบเหตุการณ์จริง ๆ ก็จะนำไปสู่การลดระดับความเอนเอียงนี้[8] คือแม้ว่าจะเฉพาะเจาะจงกับเหตุการณ์ที่ตนประสบเท่านั้น แต่การรู้สิ่งที่ไม่ได้รู้มาก่อน จะมีผลทำให้เกิดการมองในแง่ดีน้อยลงว่า เหตุการณ์นั้นจะไม่เกิดขึ้น

นโยบาย แผนงาน และการบริหาร แก้

ความเอนเอียงนี้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและการพยากรณ์ ทั้งในเรื่องการตั้งนโยบาย การวางแผนงาน และการจัดการบริหาร ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายและระยะเวลาการทำงานที่มีการวางแผน มักจะมีการประเมินต่ำเกินไป และผลประโยชน์ที่ได้มักจะมีการประเมินสูงเกินไป เพราะเหตุแห่งความเอนเอียงนี้ คำว่า เหตุผลวิบัติในการวางแผน (planning fallacy) สำหรับปรากฏการณ์เช่นนี้ เป็นคำบัญญัติโดยอะมอส ทเวอร์สกี้ และแดเนียล คาฮ์นะมัน[22][23] เริ่มมีการสั่งสมหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า ความเอนเอียงนี้ เป็นความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของค่าใช้จ่ายเกินงบประมาณในเมกะโปรเจกต์[24]

ความเอนเอียงโดยการมองในแง่ร้าย แก้

ความเอนเอียงตรงกันข้ามกับความเอนเอียงนี้ก็คือ ความเอนเอียงโดยการมองในแง่ร้าย (อังกฤษ: pessimism bias) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เราประเมินโอกาสที่เหตุการณ์เลวร้ายจะเกิดขึ้นกับเรามากเกินไป โดยเปรียบเทียบกับความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี ความแตกต่างก็คือ เรามีความวิตกกังวลกับเรื่องที่มีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต[25]

ผู้มีภาวะซึมเศร้ามีโอกาสสูงที่จะมีความเอนเอียงโดยการมองในแง่ร้าย[26][27] ซึ่งเป็นไปได้ว่า เป็นเพราะโดยทั่ว ๆ ไป คนซึมเศร้าจะมีความคิดเชิงลบ มีงานสำรวจหลายงานที่พบว่า ผู้สูบบุหรี่ประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจโดยมีความเอนเอียงโดยมองในแง่ร้ายเล็กน้อย แต่ว่า เอกสารการตีพิมพ์โดยองค์รวมแสดงผลที่ยังไม่ชัดเจน[28]

ดูเพิ่ม แก้

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้

  1. "Lexitron พจนานุกรมไทย<=>อังกฤษ รุ่น 2.6". หน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษา, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2546. แปล "optimism" ว่าการมองในแง่ดี
  2. "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ optimism ว่า "สุทรรศนนิยม"
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 3.18 3.19 3.20 3.21 3.22 Shepperd, James A.; Patrick Carroll; Jodi Grace; Meredith Terry (2002). "Exploring the Causes of Comparative Optimism" (PDF). Psychologica Belgica. 42: 65–98. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-25. สืบค้นเมื่อ 2015-03-06.
  4. Chapin, John; Grace Coleman (2009). "Optimistic Bias: What you Think, What you Know, or Whom you Know?". North American Journal of Psychology. 11 (1): 121–132.
  5. 5.0 5.1 Weinstein, Neil D.; William M. Klein (1996). "Unrealistic Optimism: Present and Future". Journal of Social and Clinical Psychology. 15 (1): 1–8. doi:10.1521/jscp.1996.15.1.1.
  6. Elder, Alexander (1993). Trading for a Living; Psychology, Trading Tactics, Money Management. John Wiley & Sons. Intro - sections "Psychology is the Key" & "The Odds are against You", And Part I "Individual Psychology", Section 5 "Fantasy versus Reality". ISBN 0-47159224-2.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Gouveia, Susana O.; Valerie Clarke (2001). "Optimistic bias for negative and positive events". Health Education. 101 (5): 228–234. doi:10.1108/09654280110402080.
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 Helweg-Larsen, Marie; James A. Shepperd (2001). "Do Moderators of the Optimistic Bias Affect Personal or Target Risk Estimates? A Review of the Literature" (PDF). Personality and Social Psychology Review. 5 (1): 74–95. doi:10.1207/S15327957PSPR0501_5.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 Klein, Cynthia T. F.; Marie Helweg-Larsen (2002). "Perceived Control and the Optimistic Bias: A Meta-analytic Review" (PDF). Psychology and Health. 17 (4): 437–446. doi:10.1080/0887044022000004920. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-10-10. สืบค้นเมื่อ 2015-03-06.
  10. 10.0 10.1 10.2 Radcliffe, Nathan M.; Klein, William M. P. (2002). "Dispositional, Unrealistic, and Comparative Optimism: Differential Relations with the Knowledge and Processing of Risk Information and Beliefs about Personal Risk". Personality and Social Psychology Bulletin. 28: 836–846. doi:10.1177/0146167202289012.
  11. McKenna, F. P; R. A. Stanier; C. Lewis (1991). "Factors underlying illusionary self-assessment of driving skill in males and females". Accident Analysis and Prevention. 23: 45–52. doi:10.1016/0001-4575(91)90034-3. PMID 2021403.
  12. Helweg-Larsen, Marie; Pedram Sadeghian; Mary S. Webb (2002). "The stigma of being pessimistically biased" (PDF). Journal of Social and Clinical Psychology. 21 (1): 92=107. doi:10.1521/jscp.21.1.92.22405.
  13. 13.0 13.1 13.2 13.3 Harris, Peter (1996). "Sufficient grounds for optimism?: The relationship between perceived controllability and optimistic bias". Journal of Social and Clinical Psychology. 15 (1): 9–52. doi:10.1521/jscp.1996.15.1.9.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 Weinstein, Neil D. (1980). "Unrealistic optimism about future life events". Journal of Personality and Social Psychology. 39 (5): 806–820. CiteSeerX 10.1.1.535.9244. doi:10.1037/0022-3514.39.5.806.
  15. 15.0 15.1 15.2 Perloff, Linda S; Barbara K. Fetzer (1986). "Self-other judgments and perceived vulnerability to victimization". Journal of Personality and Social Psychology. 50: 502–510. doi:10.1037/0022-3514.50.3.502.
  16. 16.0 16.1 16.2 16.3 Harris, P; Middleton, Wendy; Joiner, Richard (2000). "The typical student as an in-group member: eliminating optimistic bias by reducing social distance". European Journal of Social Psychology. 30: 235–253. doi:10.1002/(SICI)1099-0992(200003/04)30:2<235::AID-EJSP990>3.0.CO;2-G.
  17. Weinstein, Neil D. (1987). "Unrealistic Optimism: About Susceptibility in Health Problems: Conclusions from a Community-Wide Sample". Journal of Behavioral Medicine. 10 (5): 481–500. doi:10.1007/BF00846146. PMID 3430590.
  18. 18.0 18.1 Bränström, Richard; Yvonne Brandberg (2010). "Health Risk Perception, Optimistic Bias, and Personal Satisfaction" (PDF). American Journal of Health Behavior. 34 (2): 197–205. doi:10.5993/ajhb.34.2.7. PMID 19814599. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-12-12. สืบค้นเมื่อ 2015-03-06.
  19. 19.0 19.1 19.2 Brewer, Noel T.; Gretchen B. Chapman; Fredrick X. Gibbons; Meg Gerrard; Kevin D. McCaul; Neil D. Weinstein (2007). "Meta-analysis of the Relationship Between Risk Perception and Health Behavior: The Example of Vaccination" (PDF). Health Psychology. 26 (2): 136–145. doi:10.1037/0278-6133.26.2.136. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-09. สืบค้นเมื่อ 2015-03-06.
  20. Gerrard, Meg; Gibbons, Frederick X.; Benthin, Alida C.; Hessling, Robert M. (1996). "A Longitudinal Study of the Reciprocal Nature of Risk Behaviors and Cognitions in Adolescents: What You Do Shapes What You Think, and Vice Versa" (PDF). Health Psychology. 15 (5): 344–354. doi:10.1037/0278-6133.15.5.344. PMID 8891713.[ลิงก์เสีย]
  21. 21.0 21.1 21.2 Weinstein, Neil D.; Klein, William M (1995). "Resistance of Personal Risk Perceptions to Debiasing Interventions". Health Psychology. 14 (2): 132–140. doi:10.1037/0278-6133.14.2.132. PMID 7789348.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  22. Pezzo, Mark V.; Litman, Jordan A.; Pezzo, Stephanie P. (2006). "On the distinction between yuppies and hippies: Individual differences in prediction biases for planning future tasks". Personality and Individual Differences. 41 (7): 1359–1371. doi:10.1016/j.paid.2006.03.029. ISSN 0191-8869.
  23. Kahneman, Daniel; Tversky, Amos (1979). "Intuitive prediction: biases and corrective procedures". TIMS Studies in Management Science. 12: 313–327.
  24. Flyvbjerg, Bent (2011). "Over Budget, Over Time, Over and Over Again: Managing Major Projects". ใน Morris, Peter W. G.; Pinto, Jeffrey; Söderlund, Jonas (บ.ก.). The Oxford Handbook of Project Management. Oxford: Oxford University Press. pp. 321–344. doi:10.1093/oxfordhb/9780199563142.003.0014. ISBN 978-0-19956314-2.
  25. Edelman, Ric (2010-12-21). The Truth About Money (4 ed.). HarperCollins. p. 230. ISBN 978-0-06-207572-7.
  26. Sharot, Tali; Riccardi, Alison M.; Raio, Candace M.; Phelps, Elizabeth A. (2007). "Neural mechanisms mediating optimism bias". Nature. 450 (7166): 102–105. Bibcode:2007Natur.450..102S. doi:10.1038/nature06280. ISSN 0028-0836. PMID 17960136.
  27. Wang, PS (2004), "Effects of major depression on moment-in-time work performance", American Journal of Psychiatry, 161 (10): 1885–1891, doi:10.1176/ajp.161.10.1885, PMID 15465987
  28. Sutton, Stephen R. (1999), "How accurate are smokers' perceptions of risk?", Health, Risk & Society, 1 (2): 223–230, doi:10.1080/13698579908407020

แหล่งข้อมูลอื่น แก้