คลองอัมพวา

คลองในจังหวัดสมุทรสงคราม

คลองอัมพวา เป็นคลองในจังหวัดสมุทรสงคราม แยกจากคลองสำโรงที่แนวแบ่งเขต อำเภอบางคนที อำเภออัมพวาและอำเภอเมืองสมุทรสงคราม ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตตำบลบ้านปรก อำเภอเมืองสมุทรสงครามกับตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา ไปลงแม่น้ำแม่กลองฝั่งซ้ายที่ตำบลอัมพวา คลองมีความยาว 4.5 กิโลเมตร[1]

คลองอัมพวาบริเวณตลาดน้ำอัมพวา

ประวัติ แก้

คลองอัมพวาเป็นคลองธรรมชาติ ริมคลองอัมพวามีชุมชนมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา[2] ริมคลองมีวัดสำคัญคือ วัดอัมพวันเจติยาราม เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำสายหลักตั้งแต่อดีต ซึ่งในอดีตเป็นชุมชนค้าขายที่คับคั่งโดยเฉพาะบริเวณปากคลอง มีตลาดเป็นเรือนแพที่ถือเป็นตลาดริมน้ำที่สำคัญ ดังปรากฏใน นิราศพระแท่นดงรัง ของสามเณรกลั่น ความว่า[3]

๏ ถึงคลองน้ำอัมพวาที่ค้าขาย เห็นเรือรายเรือนเรียงเคียงขนาน
มีศาลาท่าน้ำน่าสำราญ พวกชาวบ้านซื้อขายคอนท้ายเรือ
ริมชายสวนล้วนมะพร้าวหมูสีปลูก ทะลายลูกลากดินน่ากินเหลือ
กล้วยหักมุกสุกห่ามอร่ามเครือ พริกมะเขือหลายหลากหมากมะพร้าว
ริมวารีมีแพขายแพรผ้า ทั้งขวานพร้าพร้อมเครื่องทองเหลืองทองขาว
เจ้าของแพแลดูหางหนูยาว มีลูกสาวสิเป็นไทถอนไรปลิว
ดูชาวสวนล้วนขี้ไคลทั้งใหญ่เด็ก ส่วนเมียเจ๊กหวีผมระบมผิว
เห็นเรือเคียงเมียงชม้ายแต่ปลายคิ้ว แกล้งกรีดนิ้วนั่งอวดทำทรวดทรง

คลองอัมพวาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้ทรงปลูกพระตำหนักเรือนไทยไว้ข้างคลองหลังหนึ่ง เรียกกันว่า "ตำหนักอัมพวา" เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จมาประพาสต้น ก็ทรงเรือแจวเข้าไปในคลองนี้และทรงแวะประทับเสวยน้ำชาที่พระตำหนักนี้ ต่อมาพระตำหนักอัมพวา ได้รื้อไปปลูกไว้ ณ วังสวนผักกาด ในกรุงเทพมหานคร[4]

 
คลองอัมพวาในช่วงเช้า

ในสมัยปัจจุบันชุมชนคลองอัมพวา มีการตั้งบ้านเรือนของชุมชนเกษตรกรรม ภายหลังเกิดชุมชนตามแนวถนนเกิดเป็นร้านค้า ย่านการค้าริมน้ำเริ่มลดบทบาทลง อย่างไรก็ตามรูปแบบการตั้งถิ่นฐานของชุมชนยังคงเอกลักษณ์ของชุมชนริมน้ำดั้งเดิมไว้[5] มีห้องแถวไม้ที่ทอดยาวเป็นแนวบนตลิ่งริมคลองอัมพวา บางหลังอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 6 ต่อมาในปี 2546–2547 มีการดำเนินการซ่อมแซมอาคารไม้ที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมร่วมกับเจ้าของอาคารรวม 17 ราย[6]

บริเวณริมคลองยังมีตลาดน้ำอัมพวาใกล้วัดอัมพวันเจติยาราม ตลาดน้ำก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2547 บ้านเรือนสองฝั่งคลองอัมพวา ได้รับการอนุรักษ์ในโครงการอนุรักษ์ศิลปกรรมสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกับชุมชนอัมพวา ได้รับรางวัลมรดกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโกเมื่อ พ.ศ. 2551[7]

อ้างอิง แก้

  1. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๔ (อักษร ย-ฮ) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพมหานคร : สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับลิสชิ่ง, ๒๕๖๑. (แก้ไขปรับปรุงข้อมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๓)
  2. "อัมพวา". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
  3. "นิราศพระแท่นดงรัง". วัชรญาณ.
  4. "เสด็จประพาสอัมพวา". ไทยรัฐ.
  5. "โครงการนำร่องเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมคลองอัมพวา" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  6. "จากอัมพวาสู่ตำนานแม่กลอง วิถีไทยในรางวัลระดับโลก". ผู้จัดการออนไลน์.
  7. "เที่ยวตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม". สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง.