คลองฉะไกรใหญ่

(เปลี่ยนทางจาก คลองท่อ)

คลองฉะไกรใหญ่ หรือ คลองท่อ เป็นแนวคลองขุดโบราณบนเกาะเมืองในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เชื่อมแม่น้ำลพบุรีทางทิศเหนือกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ ถือเป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมระหว่างเกาะเมืองไปสู่นอกเกาะเมือง

คลองฉะไกรใหญ่หรือคลองท่อ เมื่อปี 2557

ประวัติ แก้

คลองฉะไกรใหญ่ หรือ คลองท่อ เป็นคลองขุดมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยคลองขุดในแนวเหนือใต้เพื่อเชื่อมแม่น้ำลพบุรีทางทิศเหนือกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้เลียบข้างพระราชวังหลวง ทั้งเป็นคลองที่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคโดยมีชื่อปรากฏในกฎมณเฑียรบาลห้ามมิให้ราษฎรมาลงเรือเล่นเพลงในคลองดังกล่าวเพราะเป็นเขตพระราชฐาน หากแต่เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค คลองฉะไกรใหญ่นี้ก็จะเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง และเป็นย่านการค้าที่มีการตั้งตลาดขายของสดทั้งเช้าเย็นด้วย[1] และคลองนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการระบายน้ำอันแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการระบบจัดการน้ำของชาวกรุงศรีอยุธยา[2]

ส่วนชื่อ "คลองท่อ" ที่เป็นชื่อนิยมนั้น มาจากการวางท่อส่งน้ำประปาที่เลียบตามคลองดังกล่าวเมื่อทศวรรษก่อน[1] ทั้งนี้คลองฉะไกรใหญ่ยังมีโบราณสถานจำนวนมากเรียงรายตลอดลำคลอง[1] และมีสะพานโบราณทอดผ่านถึง 5 แห่ง[1]

คลองฉะไกรใหญ่ประสบปัญหาขยะมูลฝอยทิ้งเกลื่อนกลาดจนเกิดทัศนะอุจาด[3] เป็นเหตุให้คณะกรรมการมรดกโลก ให้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อปี 2538 ได้ใบเหลืองหรือเป็นมรดกโลกในสภาวะอันตราย เพื่อเตือนเกี่ยวกับปัญหาด้านการจัดการหรืออนุรักษ์โบราณสถาน ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน[4] ช่วงต้นปี 2560 คลองฉะไกรใหญ่ได้เข้าสู่โครงการอนุรักษ์และพัฒนาคลองโบราณ ซึ่งจากการขุดค้นของนักโบราณคดีทำให้พบประตูน้ำโบราณบริเวณฝั่งตะวันตกของคลองตรงข้ามสำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา[5][6] และคลองฉะไกรใหญ่และคลองในไก่ถือเป็นหนึ่งในสองคลองภายในเกาะเมืองที่รอดพ้นการบุกรุกหรือถมคลองและคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน[2]

คลองสาขา แก้

คลองฉะไกรใหญ่สามารถออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองฝางและคลองแกลบทางทิศตะวันตก[2] ส่วนคลองป่ามอนั้นเชื่อมระหว่างคลองฉะไกรใหญ่กับคลองฉะไกรน้อยทางทิศตะวันออก[2]

นอกจากนี้ยังมีคลองเล็ก ๆ สายหนึ่งแยกมาจากคลองฉะไกรใหญ่เรียกว่า คลองน้อย ที่ไหลเข้าสระแก้วพระคลังใน ในอดีตกรมวังจะอนุญาตให้พ่อค้าวานิชนำสินค้าจากต่างประเทศเข้าไปขายบริเวณสระแก้วเพื่อใช้หญิงชาววังออกมาซื้อสินค้าได้โดยสะดวก[1] และมีอีกคลองที่แยกจากคลองฉะไกรใหญ่คือ คลองนครบาล ชักน้ำไปที่บึงคุ้มขุนแผน[2] ซึ่งใช้สำหรับกักขังนักโทษ โดยเฉพาะบาทหลวงไว้บนเกาะกลางคลองนครบาลที่มีอยู่หลายเกาะ[7]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 กำพล จำปาพันธ์. อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2559. หน้า 25-26
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน (8 พฤศจิกายน 2558). "อยุธยา (อยู่) กับน้ำ ฟื้นคูคลองเมืองมรดกโลก". อิศรา. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. "'อยุธยายศล่มแล้ว' สุจิตต์ วงษ์เทศ ชี้พินาศเพราะการศึกษาไทยไม่มี "ประวัติศาสตร์สังคม"". มติชนออนไลน์. 10 กุมภาพันธ์ 2559. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. สุจิตต์ วงษ์เทศ (26 พฤศจิกายน 2559). "อยุธยา ได้ใบเหลือง "ภาวะอันตราย"". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. "ขุด "คลองท่อ"อยุธยา เจอโบราณสถาน คาดเป็น"ประตูน้ำ" ครั้งกรุงเก่า". มติชนออนไลน์. 21 กุมภาพันธ์ 2560. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "นักโบราณคดีพบแนวอิฐปริศนา บริเวณ "ประตูน้ำโบราณ" คลองฉะไกรใหญ่ อยุธยา". มติชนออนไลน์. 17 มีนาคม 2560. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "รายการคันฉ่องส่องไทย ชุด สายโลหิตและองคาพยพแห่งพระนครศรีอยุธยา ตอน คลองนครบาล". กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]