ครุยวิทยฐานะในสหรัฐ
ครุยวิทยฐานะอเมริกัน (อังกฤษ: academic regalia ออกเสียง ริ'เกเลีย) หรือ ครุยวิทยฐานะในสหรัฐอเมริกา เป็นเครื่องแต่งกายสำหรับแสดงวิทยฐานะในสหรัฐอเมริกา มีลักษณะที่สำคัญคือ ตอนหน้าอกปิดทึบซ่อนเครื่องแต่งกายที่สวมไว้ภายในสนิท (ยกเว้นปริญญาดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ใช้เสื้อเปิดอก แบบบเดียวกับครุยวิทยฐานะในสหราชอาณาจักร) ครุยวิทยฐานะอเมริกันถือเป็นครุยวิทยฐานะที่เห็นได้เจนตาที่สุดในประเทศไทย (นิยมเรียกว่า ครุยแบบตะวันตก หรือ เสื้อคลุมวิทยฐานะ) รองลงมาจากครุยวิทยฐานะแบบไทย
ลักษณะทั่วไป
แก้เสื้อ
แก้โดยทั่วไป ระดับปริญญาตรี นิยมใช้เสื้อคลุมอย่างง่าย แขนเสื้อเป็นแขนปลายตัดเฉียง[1]หรือตัดตรง[2]ก็ได้ ไม่มีผ้าคลุมไหล่ โดยอาจจะมีพู่สี (tassel) หรือผ้าพาดบ่า (stole)[3]สีตามคณะหรือมหาวิทยาลัยกำหนดประดับตามสมควร ที่สาบบ่าและไหล่ทำเป็นจีบ ระดับปริญญาโทนิยมใช้เสื้อคลุมแขนยาวเสมอชายเสื้อ เจาะช่องตรงกลางให้แขนของผู้สวมสอดออกมาได้ ประกอบด้วยผ้าคลุมไหล่ขนาดไม่ใหญ่มากนัก ระดับปริญญาเอกนิยมใช้เสื้อคลุมสีสดใสแขนยาวเสมอข้อมือ ประดับแถบกำมะหยี่ที่แขนจำนวนสามแถบ ประกอบผ้าคลุมไหล่ขนาดใหญ่[4] ผู้มีตำแหน่งในสภามหาวิทยาลัยอาจสวมครุยปริญญาเอกได้ตามความเหมาะสม[5]
ผ้าคลุมไหล่
แก้ผ้าคลุมไหล่เป็นเครื่องแสดงฐานะปริญญาโทและเอก หากจำแนกตามวิธีการจำแนกครุยวิทยฐานะของโกรฟ (Groves classification system) แล้วจะได้ว่าเป็นรูปทรงชนิดง่าย s5[6] คือตอนหลังเป็นเพียงแถบผ้าทำเป็นบ่วงทรงรีประดับตกแต่งอย่างง่าย ๆ เท่านั้น ตอนหน้าเป็นรูปบั้งคล้ายกรองคอของตัวละครโขน ด้านนอกนิยมใช้ผ้าหรือวัสดุแบบเดียวกับตัวเสื้อ[7] ด้านในนิยมใช้ผ้าต่วน คือ ผ้ามันสะท้อนแสงทำเป็นสีต่าง ๆ ที่ขอบประดับด้วยแถบผ้าตามสมควร ความยาวของผ้าคลุมไหล่ขึ้นกับระดับการศึกษา ยิ่งสูงก็ยิ่งใช้ผ้าคล้องคอที่ทิ้งตัวยาว[8]
บัณฑิตอาจสวมผ้าคลุมไหล่ก่อนเข้าพิธี หรือไปสวมในพิธีก็ได้ แล้วแต่กำหนดการของมหาวิทยาลัย[9]
หมวก
แก้นอกเหนือจากเสื้อและผ้าคลุมไหล่แล้ว บัณฑิตมักจะสวมหมวกด้วย โดยปริญญาตรีและโทจะสวมหมวกแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส (mortarboard) พร้อมพู่ทรงยาวสีตามที่คณะหรือมหาวิทยาลัยกำหนด ติดปลายเส้นด้ายที่ห้อยจากกลางกระหม่อม เพื่อให้บัณฑิตเด็ดไปเป็นที่ระลึก ส่วนปริญญาเอกจะสวมหมวกทรงหกหรือแปดเหลี่ยม (tam) ประดับพู่สีหรือพู่ทองทรงเดียวกับปริญญาตรีและโท
ความแตกต่างกับครุยแบบอังกฤษ
แก้ครุยวิทยฐานะอเมริกันต่างจากครุยวิทยฐานะอังกฤษตรงที่ครุยแบบอังกฤษ ตอนหน้าอกจะเปิดออกเสมอ โดยมักจะพับส่วนที่เคยเชื่อมต่อกันให้แบะออก และประดับด้วยแถบผ้าไหมหรือสำรดตามสมควร แต่แบบอเมริกันจะปิดตอนหน้าอกเสมอ แม้ว่าในระเบียบจะระบุไว้ว่าอาจเปิดตอนหน้าอกออกได้บ้าง[10] ทั้งนี้ยังพอมีข้อยกเว้นคือ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (เฉพาะระดับปริญญาเอก)
ผ้าคลุมไหล่หรือคล้องคอ แบบอเมริกันนิยมใช้ทรงอย่างง่าย คือตอนหลังเป็นแผ่นผ้าทรงรูปลิ้่นทิ้งตัวไปด้านหลัง ตอนหน้ามีขนาดใหญ่ดุจกรองคอของตัวละคร แต่แบบอังกฤษมีได้หลายแบบ ทั้งแบบเป็นถุงทิ้งตัวไปด้านหลังชั้นเดียว หรือถุงสองชั้นพร้อมแผ่นรอง บ้างก็มีลักษณะเป็นแบบลิ้น ตอนหน้าของผ้าคล้องคอมีขนาดเล็กสำหรับใช้สวมลงใต้เนกไทหรือกลัดไว้ที่เสื้อแอ นอกจากนี้ ครุยแบบอังกฤษทุกระดับไม่ประดับแถบกำมะหยี่ปลายตัดเพื่อระบุระดับการศึกษา แต่ครุยแบบอเมริกันจะมีการประดับเฉพาะในระดับปริญญาเอก
ระดับปริญญาตรีและโท ทั้งแบบอังกฤษและอเมริกันต่างใช้หมวกทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส แต่พู่ของแบบอังกฤษจะเป็นเส้นไหมหลายเส้นกระจุกที่ปุ่มกลมกลางกระหม่อม ไม่เหมือนแบบอเมริกันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนในระดับปริญญาเอก ในอังกฤษอาจใช้หมวกทรงกลมมีปีกและเอวที่เรียกว่า tudor bonnet ที่เอวหมวกมีเส้นไหมกลมรัดโดยรอบแล้วทิ้งปลายเป็นพู่ไป แต่ในสหรัฐอเมริกาจะใช้หมวกทรงหกหรือแปดเหลี่ยมพร้อมพู่
ตัวอย่างการใช้ในประเทศไทย
แก้แม้ครุยวิทยฐานะอเมริกันจะเป็นที่นิยมในประเทศไทย (แม้อากาศร้อน) ก็ตาม แต่ครุยวิทยฐานะแบบอเมริกันดั้งเดิมได้ถูกปรับเปลี่ยนไปทั้งสิ้น ทั้งการสวมผ้าคล้องคอในระดับปริญญาตรี (เช่นมหาวิทยาลัยมหิดล[11] มหาวิทยาลัยราชภัฏบางแห่ง มหาวิทยาลัยรามคำแหง[12]) และการประดับแถบกำมะหยี่ที่แขนในระดับต่ำกว่าปริญญาเอก คงเหลือแต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เท่านั้นที่คงใช้ครุยวิทยฐานะแบบอเมริกันแท้อยู่ แม้ว่าจะต่างไปจากการใช้ในปัจจุบันบ้างก็ตาม กล่าวคือ ระดับปริญญาตรีใช้เสื้อคลุมอย่างเดียวมีพู่สีตามคณะคล้องรอบคอเสื้อ (แต่บางมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ นิยมใช้ผ้าพาดบ่าสีต่าง ๆ หรืออาจจะไม่มีผ้าพาดบ่าเลยก็ได้) ระดับปริญญาโทใช้เสื้อคลุมแขนยาวปลายตัน มีช่องสอดมือตรงกลาง พร้อมผ้าคลุมไหล่ ระดับปริญญาเอกใช้เสื้อคลุมแขนยาวพร้อมแถบกำมะหยี่ หมวกที่ใช้เป็นหมวกทรงสี่เหลี่ยมพร้อมพู่ทรงยาวทุกระดับ (แต่ในสหรัฐฯ นิยมใช้หมวกทรงหกหรือแปดเหลี่ยมกับปริญญาเอก)[13]
อ้างอิง
แก้- ↑ "University of Pennsylvania. History of Academic Regalia". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-24. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.
- ↑ Stephen Wolgast, "King's Crowns: The History of Academic Dress at King's College and Columbia University," Transactions of the Burgon Society 9 (2009), p. 122.
- ↑ "University of Texas at Austin. Regalia". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-13. สืบค้นเมื่อ 2017-10-05.
- ↑ Eugene Sullivan, ‘Academic Costume Code and Ceremony Guide,’ American Colleges and Universities, 16 ed., New York: Walter de Gruyter, 2001, p. 1860.
- ↑ Eugene Sullivan, ‘Academic Costume Code and Ceremony Guide,’ American Colleges and Universities, 16 ed., New York: Walter de Gruyter, 2001, p. 1860, Some Permissible Exceptions.
- ↑ Stephen Wolgast et al., "The Intercollegiate Code of Academic Costume: An Introduction," Transactions of the Burgon Society 9 (2009), pp. 16-17.
- ↑ Sullivan. The Academic Costume Code, Hoods
- ↑ Eugene Sullivan, ‘Academic Costume Code and Ceremony Guide,’ American Colleges and Universities, 16 ed., New York: Walter de Gruyter, 2001, p. 1860, Hoods;Length.
- ↑ Commencement Guide for master’s and doctoral candidates | May 2015 เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Accessed 05/26/2015
- ↑ David T. Boven. American Universities’ Departure from the Academic Costume Code. เก็บถาวร 2016-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Transactions of the Burgon Society, 9 (2009), pages 156–174
- ↑ "ข้อบังคับ มม. ว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะ พ.ศ. ๒๕๕๔" (PDF). มหาวิทยาลัยมหิดล. 3 February 2011.
- ↑ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (28 August 2015). "พรฎ.ว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของ มร. พ.ศ.2558" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (10 May 2016). "ประกาศ มก. เรื่อง ชื่อปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสําหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของ มก. พ.ศ.2559" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.