คณะกรรมการปลดปล่อยประชาชนเขมร

คณะกรรมการปลดปล่อยประชาชนเขมร (อังกฤษ: Khmer People's Liberation Committee; เขมร: Kana Cheat Mouta Keaha Mocchim Nokor Khmer) เป็นขบวนการต่อต้านฝรั่งเศสที่จัดตั้งขึ้นโดยเขมรอิสระเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการปลดปล่อยแห่งชาติเขมร คณะกรรมการนี้จัดตั้งเพื่อพยายามจะรวมศูนย์เขมรอิสระสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีไทยให้การสนับสนุน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายซ้าย ต่อมาได้มีกลุ่มปัญญาชนฝรั่งเศสเข้ามาร่วมอีกกลุ่มหนึ่ง

ธงที่ใช้โดยคณะกรรมการปลดปล่อยประชาชนเขมรกลุ่มของอุล นิพิช ธงนี้ปราสาทนครวัดมีเพียงสามยอด ต่อมาเขมรแดงได้นำไปประยุกต์ใช้เป็นธงชาติกัมพูชาประชาธิปไตย[1]

องค์ประกอบ แก้

คณะกรรมการและกองกำลังติดอาวุธนำโดยดาบ ฌวน ซึ่งเคยเป็นทหารของฝรั่งเศสและได้รับการสนับสนุนจากไทย ผู้นำคนอื่นๆได้แก่ ฮง ชุน อดีตกำนันในพระตะบอง เมย โพ ซึ่งต่อมาได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน เซียว เฮง หมอพื้นบ้านจากพระตะบอง เลียบ แก้ว โมนี อดีตคนขายไม้ไผ่และเป็นผู้นิยมฝ่ายซ้าย แก้ว ตัก อดีตพ่อค้าในเสียมราฐ เมา ซารวธ และ เฮม ซาวัง ซาวังกับเมย โพนี้เคยเป็นนักศึกษาที่เข้าร่วมในการรัฐประหาร พ.ศ. 2488 เพื่อต่อต้านพระนโรดม สีหนุและเรียกร้องเอกราชของกัมพูชา

กองกำลังของขบวนการนี้มีประมาณ 800 คนเมื่อก่อตั้ง โดยกลุ่มของดาบ ฌวนเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คณะกรรมการได้ออกหนังสือพิมพ์ “เอกราช” (เอกะเรียช) โดยมีความร่วมมือกับนักชาตินิยมฝ่ายซ้ายในเวียดมิญ[2] แม้ว่าพระนโรดม จันทรังสีจะปฏิเสธที่จะร่วมงานกับเวียดมิญ

การแบ่งแยกระหว่างคณะกรรมการและเวียดมิญ แก้

ปลายปี พ.ศ. 2491 ขบวนการต่อต้านของเขมรแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม และแบ่งย่อยเป็นสี่เขต เขตตะวันตกเฉียงเหนืออยู่ภายใต้การนำของดาบ ฌวน ส่วนอีกสามกลุ่มผู้นำเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ชาวอินโดจีน ดาบ ฌวนมีความแปลกแยกมากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์เพียงกลุ่มเดียว สมาชิกของคณะกรรมการ 4 คนเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ชาวอินโดจีน ทำให้คณะกรรมการพยายามที่จะลดอิทธิพลของเวียดมิญโดยพยายามเปลี่ยนแปลงผู้นำ

การจัดองค์กรใหม่ แก้

ใน พ.ศ. 2492 คณะกรรมการเปลี่ยนชื่อไปเป็นคณะกรรมการปลดปล่อยแห่งชาติเขมร (ภาษาเขมร: Kana Kamathikar Khmer Sang Cheat) และมีการเลือกคณะกรรมการใหม่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2492 โดยลดคณะกรรมการที่เป็นฝ่ายซ้ายจาก 4 คนเหลือ 3 คนคือ เมย โพ เลียบ แก้วโมนี และมวน ในช่วงครึ่งปีแรกของพ.ศ. 2492 กลุ่มของเลียบ แก้ว โมนีได้แยกตัวออกไป โดยนำกำลังทหารไปด้วยราว 200 – 300 คน แก้ว ตัก แยกตัวออกไปในเดือนเมษายนโดยนำกำลังทหารไปด้วย 400 คน ในเดือนกรกฎาคม ดาบ ฌวนได้ลอบฆ่าเมา ซารวธและเฮม ซาวัง ทำให้เขาถูกปลดจากผู้นำคณะกรรมการ ปก พอลกุณขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ และพระนโรดม จันทรังสีได้เข้ามาร่วมด้วยและกลายเป็นผู้นำระดับสูง ดาบ ฌวนได้ยอมมอบตัวต่อฝรั่งเศสในเดือนกันยายน พ.ศ. 2492 พร้อมด้วยกำลังทหาร 300 คน ทำให้เขาได้เป็นเจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศส

คณะกรรมการและสมาคมเขมรอิสระ แก้

ใน พ.ศ. 2493 เซิง งอก มิญได้จัดตั้งสมาคมเขมรอิสระขึ้นทางภาคตะวันออกของกัมพูชาโดยได้รับการสนับสนุนจากเวียดมิญอย่างมาก

ต้นปี พ.ศ. 2493 ปก พอลกุณลาออกจากตำแหน่งผู้นำของคณะกรรมการหลังถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินสำหรับนำไปซื้ออาวุธที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 19 เมษายน เลียบ แก้ว โมนีได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของคณะกรรมการทำให้แก้ว ตักกลับมาร่วมด้วยอีก ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2493 คณะกรรมการและสมาคมเขมรอิสระเดินทางไปเวียดนามใต้เพื่อเจรจากับเวียดมิญ[3]

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494 คณะกรรมการได้ประชุมที่พระตะบอง เลียบ แก้ว โมนีได้รับเลือกให้เป็นประธานอีก ส่วนแก้ว ตักถอนตัวออกไป และเกิดความขัดแย้งระหว่างเลียบ แก้ว โมนีกับแก้ว ตัก หลังจากการประชุมที่พระตะบองไม่นาน แก้ว ตักได้พยายามฆ่าเลียบ แก้ว โมนีเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ หลังจากที่คณะกรรมการได้ยื่นคำขาดกับแก้ว ตัก

ในเดือนเมษายน ความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการกับสมาคมเขมรอิสระมีความแน่นแฟ้นขึ้น ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2494 เลียบ แก้ว โมนีได้เป็นผู้นำของคณะกรรมการอีก ส่วนกลุ่มของแก้ว ตักถูกกองกำลังของคณะกรรมการปราบปรามจนสลายตัวไปในช่วงปลายปี พ.ศ. 2494 ในช่วงนี้กองกำลังของคณะกรรมการแบ่งออกเป็นสามส่วน กลุ่มของอุก นิลพิชและอาจารย์ทุมสกมีบทบาททางภาคเหนือ และกลุ่มของทิม ตราลายมีอิทธิพลในพระตะบอง กลุ่มของตราลายมีความใกล้ชิดกับเวียดมิญและได้เข้าร่วมกับกลุ่มของเวียดมิญในที่สุด

หลัง พ.ศ. 2495 แก้

ใน พ.ศ. 2495 พระนโรดม จันทรังสีซึ่งเป็นผู้ต่อต้านกลุ่มฝ่ายซ้ายและเวียดมิญได้แยกตัวออกไป นำกำลังทหารราว 700-1000 คน เข้าร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาล และต่อสู้กับเวียดมิญและชาวเขมรที่สนับสนุนเวียดมิญ กลุ่มของคณะกรรมการได้ติดต่อกับเซิง งอก ทัญ นักชาตินิยมและนิยมสาธารณรัฐซึ่งได้ตั้งกองกำลังต่อต้านของตนเองในเขตเสียมราฐ กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากชาวกัมพูชาที่มีการศึกษาในเขตเมืองและพรรคประชาธิปไตย แก้ว ตักได้เข้าร่วมกับกลุ่มของเซิง งอก ทัญด้วย

ระหว่าง พ.ศ. 2495 – 2496 เลียบ แก้ว โมนียังคงมีนโยบายร่วมมือกับสมาคมเขมรอิสระ กลุ่มที่ไม่นิยมเวียดมิญได้แยกตัวออกไปรวมทั้งกลุ่มของนิลพิชและทุมสก โดยกล่าวว่าการร่วมมือกับเวียดมิญคือการยอมให้เวียดนามเข้ามาครอบงำกัมพูชา กลุ่มที่แยกตัวออกไปส่วนใหญ่จะไปร่วมมือกับเซิง งอก ทัญ คณะกรรมการนี้สิ้นสุดลงเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส

อ้างอิง แก้

  1. Kiernan, Ben. How Pol Pot Came to Power. London: Verso, 1985. p. 104.
  2. Kiernan, Ben. How Pol Pot Came to Power. London: Verso, 1985. p. 58.
  3. Kiernan, Ben. How Pol Pot Came to Power. London: Verso, 1985. p. 95.