ขบวนการอาเจะฮ์เสรี

ขบวนการอาเจะฮ์เสรี (อินโดนีเซีย: Gerakan Aceh Merdeka; GAM; อาเจะฮ์: Geurakan Acèh Meurdèka / Gěrakan Aceh Měrdeka)[1] หรือ แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติอาเจะฮ์สุมาตรา (อังกฤษ: Aceh Sumatra National Liberation Front) เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เรียกร้องเอกราชในบริเวณอาเจะฮ์ที่อยู่ในเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย การต่อสู้ด้วยความรุนแรงขององค์กรยุติลงหลังจากการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลอินโดนีเซีย เมื่อ พ.ศ. 2548 ปัจจุบันรัฐบาลอินโดยนีเซียเรียกกลุ่มนี้ว่า ขบวนการก่อกวนความปลอดภัยในอาเจะฮ์ (Aceh Security Disturbance Movement)

ขบวนการอาเจะฮ์เสรี
Gerakan Aceh Merdeka
มีส่วนร่วมในการก่อความไม่สงบในอาเจะฮ์
Flag of Free Aceh Movement.svg
ธง
Aceh buraq and lion seal.jpg
ตรา
ปฏิบัติการ4 ธันวาคม ค.ศ. 1976 – ค.ศ. 2005
แนวคิดชาตินิยมอาเจะฮ์
แบ่งแยกดินแดน
ลัทธิอิสลาม
ผู้นำฮาซัน ดี ตีโร
พื้นที่ปฏิบัติการเมือง ภูเขา และป่าในจังหวัดอาเจะฮ์

ภูมิหลังแก้ไข

ต้นกำเนิดของการต่อสู้ของขบวนการไม่ได้มาจากแรงบันดาลใจทางศาสนาเพียงอย่างเดียวแต่มีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ร่วมด้วย อาเจะฮ์ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรงของเนเธอร์แลนด์.[2]เช่นเดียวกับอาณานิคมอื่นๆในอินโดนีเซียที่ประกาศเอกราชเมื่อ พ.ศ. 2492 อาเจะฮ์เลือกรวมเข้ากับสาธารณรัฐอินโดนีเซียเมื่อ พ.ศ. 2502 โดยทางรัฐบาลกลางยอมให้อาเจะฮ์คงเอกลักษณ์ของตนเองที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม รวมทั้งการใช้กฎหมายอิสลาม การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของซูฮาร์โต ทำให้ ฮะซัน ดี ติโร ซึ่งสืบเชื้อสายาจากสุลต่านองค์สุดท้ายของอาเจะฮ์ก่อตั้งขบวนการอาเจะฮ์เสรี เมื่อ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2519.[3] และประกาศเอกราชของอาเจะฮ์ โดยประกาศว่าอาเจะฮ์ถูกปกครองในฐานะอาณานิคมของชวา

สงครามกองโจรแก้ไข

ในช่วงแรก สงครามกองโจรของขบวนการอาเจะฮ์เสรีไม่ประสบความสำเร็จและถูกรัฐบาลควบคุมได้ใน พ.ศ. 2520[4] ต่อมา กลุ่มได้มีการปรับองค์กรใหม่เมื่อราว พ.ศ. 2523 โดยได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากลิเบียและอิหร่าน แต่เนื่องจากกิจกรรมของกลุ่มไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง การดำเนินงานของกลุ่มเป็นเหตุให้รัฐบาลซูฮาร์โตส่งทหารเข้ามาปราบปรามอย่างรุนแรงจนเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเจะฮ์

ใน พ.ศ. 2539 รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศว่ากิจกรรมของขบวนการอาเจะฮ์เสรีในอาเจะฮ์สิ้นสุดลงแล้วแต่การปราบปรามอย่างรุนแรงยังคงดำเนินต่อไป พ.ศ. 2542 มีการประกาศถอนกำลังทหารออกจากอาเจะฮ์แต่ปรากฏว่ายังมีกองทหารราว 35,000 คนในอาเจะฮ์ในสมัยรัฐบาลของนางเมกาวตี ซูการ์โนบุตรีเมื่อ พ.ศ. 2545 คาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งนี้ถึง 15,000 คน

การเจรจาสันติภาพแก้ไข

ผู้นำของขบวนการอาเจะฮ์เสรีที่สำคัญรวมทั้ง ฮะซัน ดี ติโร ได้ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่สวีเดน กลุ่มนี้เริ่มเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลเมื่อราว พ.ศ. 2533 โดยการประสานงานของรัฐบาลสวีเดน ใน พ.ศ. 2542 ขบวนการอาเจะฮ์เสรี แตกแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มดั้งเดิม (มีอีกชื่อหนึ่งว่าแนวร่วมปลดปล่อยชาติอาเจะฮ์แห่งสุมาตรา) และกลุ่มสภาแห่งรัฐขบวนการอาเจะฮ์เสรี ในช่วง พ.ศ. 2545 – 2547 ขบวนการถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างหนัก ผู้นำคนสำคัญ เช่น อับดุลลอหฺ ไซเฟอีย์ ถูกสังหาร เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2545

ความเสียหายที่เกิดขึ้นเนืองจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิเมื่อ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ทำให้ขบวนการอาเจะฮ์เสรีประกาศสงบศึกเมื่อ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2547 และยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอินโดนีเซีย หลังจากนั้นได้มีการประชุมเจรจาสันติภาพระหว่างกันเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 [5]ที่ประเทศฟินแลนด์และมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548 โดยรัฐบาลอินโดนีเซียยอมถอนกำลังทหารและตำรวจที่ไม่ใช่ของท้องถิ่นออกไปภายในสิ้นปี พ.ศ. 2548 และนิรโทษกรรมให้สมาชิกขบวนการอาเจะฮ์เสรีราว 500 คนที่ลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ และปล่อยสมาชิกอีกราว 1,400 คนที่ถูกฝ่ายรัฐบาลคุมขัง ยอมให้มีการตั้งพรรคการเมืองท้องถิ่นขึ้นในอาเจะฮ์ ต่อมา 27 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ผู้นำของขบวนการอาเจะฮ์เสรีประกาศยกเลิกกองกำลังติดอาวุธ โดยประกาศจะเข้าร่วมกิจกรรมในสังคมเพื่อสร้างสันติภาพ

ในการเลือกตั้งเมื่อ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ขบวนการอาเจะฮ์เสรีแตกออกเป็นสองส่วน และต่างส่งผู้สมัครของตนเองลงรับเลือกตั้ง ทั้งนี้ อิรวันดี ยูซุฟที่เคยเป็นผู้เจรจาของขบวนการอาเจะฮ์เสรีได้รับการเลือกตั้ง

อ้างอิงแก้ไข

  1. Ricklefs, M.C. (2008). History of Modern Indonesia Since c. 1200. Stanford University Press. p. 364.
  2. Ross, M L 2003 Resources and Rebellion in Aceh Indonesia, UCLA United States
  3. Rabasa, A & Haseman, J 2002, The Military and Democracy in Indonesia: Challenges, Politics, and Power, Rand Corporation United States.
  4. Schulze,K , 2003 The Free Aceh Movement (GAM): Anatomy of a Separatist Organization, East West Centre, Washington
  5. Billon, P, Waizenegger,Peace in the wake of disaster? Secessionist conflicts and the 2004 Indian Ocean tsunamiBlackwell Publishing A

แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข