ฟันดาบไทย

(เปลี่ยนทางจาก กีฬาฟันดาบไทย)

กีฬาฟันดาบไทย เป็นกีฬาไทย ที่พัฒนามาจากกระบี่-กระบอง โดยนาวาตรีจรูญ ไตรรัตน์คิดค้นดัดแปลงแก้ไขจากการแสดง วิวัฒนาการมาเป็นเกมการต่อสู้เพื่อการแข่งขัน ซึ่งเริ่มแรกได้มีการเล่นกันในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนมีการแข่งชิงตำแหน่ง “ขุนพลจุฬาฯ” เกิดขึ้น และได้รับความสนใจจากนิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนมีการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัย[1]

การเล่นกีฬาดาบไทย

แก้

การเล่นกีฬาดาบไทย ประเภทกระบี่และดาบสองมือเพื่อการแข่งขัน

ให้นักกีฬาทั้งสองฝ่าย ถือกระบี่หวาย ฝ่ายละ 1 เล่ม ถ้าเป็นดาบสองมือให้ถือดาบ 2 มือหุ้มนวม ฝ่ายละ 2 เล่ม อาวุธทั้งสองชนิด ให้เป็นไปตามแบบ และขนาดที่กำหนดไว้ในกติกา

การปฏิบัติตนของนักกีฬาก่อนเริ่มทำการแข่งขันเมื่อเจ้าหน้าที่เรียกนักกีฬาลงสนามแข่งขัน ให้นักกีฬาทั้งสองฝ่ายมายืนอยู่กลางสนามต่อหน้ากรรมการผู้ตัดสิน นักกีฬาทั้ง 2 ฝ่ายทำความเคารพกรรมการผู้ตัดสิน และคู่ต่อสู้ โดยการไหว้ ตามแบบขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย แล้วแยกกันออกไปยืนจรดดาบห่างกัน (นอกระยะดาบ) คอยฟังกรรมการผู้ตัดสินออกคำสั่งให้เริ่มการต่อสู้

การต่อสู้ของนักกีฬา

แก้

เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมทำการต่อสู้ กรรมการผู้ตัดสินจะออกคำสั่งให้นักกีฬาต่อสู้กัน โดยคู่ต่อสู้มีสิทธิ์ที่จะใช้อาวุธฟันเข้าตามร่างกายทุกส่วนของคู่ต่อสู้ เช่น ศีรษะ แขน ขา ลำตัว เป็นต้น การฟันดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยขาดหลักวิชาการต่อสู้ ขาดเหตุผล ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่คู่ต่อสู้ อันเป็นการผิดวิสัยของนักกีฬาฟันดาบ นอกจากนี้การเข้าไปฟันคู่ต่อสู้ จะต้องระวังการตอบโต้จากคู่ต่อสู้ด้วยการปิดป้องอาวุธฝ่ายตรงข้าม เพื่อป้องกันตัวเองให้ได้ด้วย

การได้เสียคะแนนของนักกีฬา

แก้

ฝ่ายที่ถูกคู่ต่อสู้เข้าฟันโดนร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง แล้วไม่สามารถโต้ตอบกลับไปโดนร่างกายคู่ต่อสู้ได้ทันที ให้เป็นฝ่ายเสียคะแนน 1 คะแนน

การนับคะแนนแพ้ชนะ

แก้
  1. นักกีฬาฝ่ายใดเสียคะแนนน้อยกว่า ในระยะเวลาที่กำหนด เป็นฝ่ายชนะ
  2. นักกีฬาฝ่ายใดเสียคะแนนถึง 5 คะแนน ก่อนหมดเวลาการแข่งขันที่กำหนดให้เป็นฝ่ายแพ้

เวลาที่ใช้ทำการแข่งขัน

แก้
  1. นักกีฬาชาย ใช้เวลาแข่งขัน 3 นาที
  2. นักกีฬาหญิง ใช้เวลาแข่งขัน 3 นาที

การทำหน้าที่ของคณะกรรมการตัดสิน

แก้

การแข่งขันแต่ละครั้ง จะมีกรรมการผู้ตัดสิน และกรรมการผู้ช่วยผู้ตัดสินดังนี้

  1. กรรมการผู้ตัดสิน 1 คน เป็นผู้ออกคำสั่งให้นักกีฬาเริ่มทำการต่อสู้ และหยุดทำการต่อสู้ เมื่อจะทำการวินิจฉัยการเข้าฟันคู่ต่อสู้ และตัดสินชี้ขาดการให้คะแนนแก่นักกีฬา
  2. กรรมการผู้ช่วยผู้ตัดสินจำนวน 4 คน เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้ตัดสินโดยให้คำปรึกษาแก่กรรมการผู้ตัดสิน หลังจากการสั่งหยุดการต่อสู้ เพื่อวินิจฉัยผลการตัดสินแต่ละครั้ง นอกจากนี้ยังช่วยดูแลการออกนอกวงของนักกีฬาทั้งคู่ ความบกพร่องของอาวุธขณะทำการต่อสู้ การแต่งกายของนักกีฬาเป็นต้น
  3. กรรมการเทคนิค เป็นผู้ควบคุมการชี้แจงคะแนนผ่านกระดานบอกคะแนน รวบรวมข้อมูลและผลของการแข่งขันแต่ละรอบ เพื่อนำไปจัดการแข่งขันในรอบถัดไป รวมไปถึงชี้แจงและให้คำปรึกษาในกรณีเกิดปัญหาขณะการแข่งขัน

พัฒนากีฬาดาบไทย

แก้

นับจากการแข่งชิงตำแหน่ง “ขุนพลจุฬาฯ” กีฬาฟันดาบไทย ได้พัฒนามาเป็นลำดับดังนี้

เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดคือ “ในปีพุทธศักราช 2506 สำนักดาบศรีไตรรัตน์ ร่วมกับมูลนิธิจัดหาอุปกรณ์การศึกษาสำหรับเด็ก ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญา ได้จัดการแข่งขันฟันดาบไทยระหว่างมหาวิทยาลัยขึ้น ณ สนามกีฬาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 มกราคม โดยหม่อมดุษฎี บริพัตร ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จทอดพระเนตร และพระราชทานถ้วยรางวัลแก่นักกีฬา โดยมีอาจารย์ทองหล่อ ไตรรัตน์ เป็นผู้ถวายคำอธิบายระหว่างการแข่งขัน และด้วยความสนพระทัย เมื่อจบการแข่งขัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีรับสั่งว่า “ให้รักษากีฬานี้ไว้ อย่าทอดทิ้ง” นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น ศิลปะกีฬานี้จึงยังคงอยู่มาตราบเท่าทุกวันนี้”

อ้างอิง

แก้
  1. "จุฬา ร่วมย้อนอดีต"ขุนพลจุฬาฯ" เจ้าภาพแข่งขันดาบไทย ครั้งที่ 1". MGR Online. 15 ธันวาคม 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 มีนาคม 2016.
  • รวบรวมจากคู่มือการเล่นกีฬาฟันดาบไทย โดยสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้