กามีย์ แซ็ง-ซ็องส์
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
ชาร์ล กามีย์ แซ็ง-ซ็องส์ (ฝรั่งเศส: Charles Camille Saint-Saëns; /ʃaʁl ka.mij sɛ̃.sɑ̃s/; 9 ตุลาคม พ.ศ. 2378–16 ธันวาคม พ.ศ. 2464) เป็นคีตกวีและนักดนตรีชาวฝรั่งเศส
ประวัติ
แก้กามีย์ แซ็ง-ซ็องส์ ใช้ชีวิตอันยาวนานแทบตลอดยุคโรแมนติกของโลกดนตรีตะวันตก เขานับเป็นส่วนหนึ่งของความรุ่งเรืองของขบวนการดังกล่าว และยังได้เป็นประจักษ์พยานการดับและการเกิดของดนตรีคลาสสิกคริสต์ศตวรรษที่ 20 (20th century classical music)
ปฐมวัย
แก้กามีย์ แซ็ง-ซ็องส์ เกิดในกรุงปารีส บิดารับราชการเป็นเสมียน และถึงแก่กรรมหลังจากเขาลืมตาดูโลกเพียง 3 เดือนเท่านั้น มารดาของเขาชื่อ เกลม็องส์ จึงขอให้น้า (ชาร์ลอต มัสซง) ช่วยเลี้ยง และน้าคนนี้เองที่สอนให้เขาเล่นเปียโน กามีย์นับเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ทางดนตรีมากที่สุดคนหนึ่ง เขาสามารถขานโน้ตได้อย่างแม่นยำ และเริ่มเรียนเปียโนกับยายมาตั้งแต่สองขวบ และจากนั้นก็แทบจะก้าวไปสู่การประพันธ์ในทันที ผลงานการประพันธ์ชิ้นแรกของเขา เป็นบทเพลงชิ้นเล็กๆ สำหรับเปียโน ประพันธ์ไว้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2382 (ค.ศ. 1839) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส (Bibliothèque nationale de France) พรสวรรค์ของเขานั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะด้านดนตรีเท่านั้น เขาอ่านออกเขียนได้ตั้งอายุ 3 ขวบ และเรียนภาษาละตินในอีก 4 ปีถัดมา
กามีย์ แซ็ง-ซ็องส์ ได้แสดงดนตรีครั้งแรกเมื่ออายุได้ 5 ขวบ โดยเล่นเปียโนคลอกับไวโอลินโซนาตาของบีโทเฟน จากนั้นก็ได้ศึกษาอย่างลุ่มลึกลงไปถึงสกอร์ที่สมบูรณ์ของโอเปร่าเรื่องดอน โจวานนี (Don Giovanni) และในปี พ.ศ. 2385 กามีย์ได้เริ่มเรียนเปียโนกับกามีย์-มารี สตามาตี (Camille-Marie Stamaty) ซึ่งเป็นลูกศิษบ์ของฟรีดริช คัลค์เบรนเนอร์ (Friedrich Kalkbrenner) โดยเขาสอนให้ลูกศิษย์เล่นเปียโน ขณะพักท่อนแขนบนแท่งเหล็กที่วางไว้หน้าลิ่มนิ้ว เพื่อให้กำลังของนักเปียโนมาจากมือและนิ้ว ไม่ใช่มาจากแขน เมื่ออายุได้ 10 ขวบ กามีย์ก็ได้เล่นดนตรีในที่สาธารณะเป็นครั้งแรก ในงาน the Salle Pleyel โดยได้เล่นเปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 15 ในบันไดเสียง บีแฟลต เมเจอร์ ของโมซาร์ต K.450 และผลงานอื่น ๆ ของแฮนเดิล, คัลค์เบรนเนอร์ ฮัมเมล และบาต เมื่อบรรเลงจบ ก็มีเสียงอังกอร์ กามีย์จึงเล่นเปียโนโซนาตาของบีโทเฟน (ซึ่งมีอยู่ 32 เพลง) จำนวนหนึ่ง ทั้งนี้โดยอาศัยความจำ มิได้ดูโน้ตแต่อย่างใด ข่าวคราวเกี่ยวกับคอนเสิร์ตที่ยอดเยี่ยมครั้งนี้แพร่กระจายไปทั่วยุโรป และกระทั่งถึงสหรัฐอเมริกา และปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในเมืองบอสตันด้วย
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2383 กามีย์ได้เข้าศึกษาในสำนักดนตรีปารีส (Conservatoire de Paris; ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Conservatoire National Supérieur de Musique et de Danse de Paris ถือเป็นศูนย์กลางของวิวัฒนาการด้านดนตรีของฝรั่งเศสและยุโรปตะวันตกมาช้านาน มีลูกศิษย์และอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากมาย) โดยเขาได้เลือกศึกษาออร์แกน และการประพันธ์ สำหรับการประพันธ์นั้นได้เรียนกับชาก อาเลวี (Jacques Halévy) กามีย์ได้รับรางวัลชนะเลิศมากมายหลายรางวัล แต่ไม่ชนะเลิศการแข่งขันชั้นยอด (Prix de Rome) ทั้งในปี พ.ศ. 2395 (ค.ศ. 1852) และ พ.ศ. 2407 (ค.ศ. 1864) เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เขาได้รู้จักกับ ฟร้านซ์ ลิซท์ ซึ่งภายหลังได้เป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของเขา เมื่ออายุได้ 16 ปี กามีย์ก็ประพันธ์ซิมโฟนีบทแรก สำหรับซิมฟีนีบทที่ 2 นั้น ตีพิมพ์โดยระบุเป็น ซิมโฟนีหมายเลข 1 ในบันไดเสียง อีแฟลต เมเจอร์ และบรรเลงขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2396 (ค.ศ. 1853) จนเป็นที่อัศจรรย์ใจแก่นักประพันธ์รุ่นครูและนักวิจารณ์ดนตรีจำนวนมาก จนเอกเตอร์ แบร์ลิออส คีตกวีและนักดนตรีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งในฐานะเพื่อนรักของกามีย์ ได้ให้คำวิจารณ์ที่ถูกอ้างถึงมากว่า "Il sait tout, mais il manque d'inexpérience" ("เขารู้ทุกอย่าง แต่ขาดความอ่อนหัด")
มัชฌิมวัย
แก้ในด้านรายได้นั้น กามีย์ได้ทำงานเล่นดนตรี (ออร์แกน) ในโบสถ์ต่าง ๆ หลายแห่งในกรุงปารีส และเมื่อปี พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) เขาได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติแทนหลุยส์ เจมส์ อัลเฟรด เลอเฟบูร์-เวอลี ในฐานะนักออร์แกนประจำโบสถ์ (Église de la Madeleine) และดำรงตำแหน่งนี้ไปกระทั่ง พ.ศ. 2420 (ค.ศ. 1877) การแสดงอิมโพรไวซ์ประจำสัปดาห์ของเขาเป็นที่ตื่นตาตื่นใจแก่สาธารณชนชาวปารีสยิ่งนัก และได้รับคำวิจารณ์จากฟรานท์ ลิสต์ เมื่อ พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) ว่ากามีย์นั้นเป็นนักออร์แกนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2404 ถึง 2408 กามีย์รับงานเฉพาะการงานในตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านเปียโน ในสถาบัน École Niedermeyer โดยได้สอนทั้งแนวดนตรีร่วมสมัย (contemporary music) อันมีนักดนตรีในกลุ่มได้แก่ Liszt ชาร์ล กูโน โรเบิร์ต ชูมันน์ (Robert Schumann) เบอร์ลิออซ (Berlioz) และริชาร์ด วากเนอร์ พร้อม ๆ กับหลักสูตรแนวอนุรักษนิยมของบาค และโมซาร์ต ลูกศิษย์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเขา ที่ Niedermeyer ก็คือ อองเดร แมซาเช (André Messager) และกาบรีล ฟอเร (Gabriel Fauré) ซึ่งเป็นศิษย์คนโปรดของกามีย์ และไม่ช้าก็กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน
กามีย์นั้นถือว่าเป็นพหูสูตอย่างแท้จริงคนหนึ่ง นับตั้งแต่วัยเยาว์ เขาได้ศึกษาธรณีวิทยา โบราณคดี พฤกษศาสตร์ และ lepidoptery นอกจากนี้เขายังเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ด้วย ในช่วงหลัง นอกจากประพันธ์ดนตรี เล่นดนตรี และเขียนบทวิจารณ์ดนตรีแล้ว เขายังได้จัดอภิปรายกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นหัวกะทิของยุโรป และเขียนบทความวิชาการว่าด้วยอะคูสติกส์ ศาสตร์ลึกลับ มัณฑณศิลป์ โรงละครโรมัน และเครื่องดนตรีโบราณด้วย เขาได้เขียนงานด้านปรัชญาไว้ชิ้นหนึ่ง ชื่อ “Problèmes et Mystères” ซึ่งกล่าวถึงวิทยาศาสตร์ และศิลปะ ที่จะเข้ามาแทนที่ศาสนา ซึ่งแนวคิดในการมองโลกแง่ร้าย และแนวคิดปฏิเสธพระเจ้า นับว่าเป็นก้าวแรกของแนวคิดอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ที่ก่อร่างขึ้นในเวลาอีกไม่นานถัดมา ผลสัมฤทธิ์อื่น ๆ ด้านวรรณกรรม ได้แก่ Rimes familières เป็นรวมผลงานกวีนิพนธ์ และ La Crampe des écrivains บทละคร farcical play ที่ประสบความสำเร็จชิ้นหนึ่ง นอกจากนี้แล้ว เขายังเป็นสมาชิกของสมาคมดาราศาสตร์ของฝรั่งเศส ทั้งนี้ได้แสดงปาฐกถาว่าด้วย ปรากฏการณ์ภาพลวงตา และยังมีกล้องโทรทรรศน์ที่เขาสั่งผลิตด้วยตัวเอง ทั้งยังวางแผนจัดแสดงดนตรีที่ตรงกับช่วงเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ เช่น ปรากฏการณ์สุริยุปราคา เป็นต้น
เมื่อ พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870) กามีย์ถูกเรียกตัวเข้าประจำกองกำลังรักษาชาติ เพื่อร่วมรบในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ตลอดระยะเวลา 6 เดือนเต็ม และเขาได้ทิ้งงานประพันธ์ดนตรีที่เขาไม่อาจลืมได้ไประยะหนึ่ง ครั้นปี พ.ศ. 2414 เขาได้ร่วมมือกับโรแมง บูซีน (Romain Bussine) เพื่อก่อตั้งสมาคมดนตรีแห่งชาติ (Société Nationale de Musique) เพื่อสนับสนุนดนตรีฝรั่งเศสแบบใหม่และมีความจำเพาะเจาะจงมากขึ้น หลังจากคอมมูนปารีสล่มสลายลง (Paris Commune) สมาคมดังกล่าวได้แสดงงานครั้งแรก โดยสมาชิกของสมาคม ได้แก่ โฟเร, เซซาร์ แฟรงก์ และเอดูอาร์ ลาโล รวมทั้งแซ็ง-ซ็องส์เอง ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่เป็นนายกร่วมของสมาคมแห่งนี้ ด้วยเหตุนี้ แซ็ง-ซ็องส์จึงกลายเป็นบุคคลผู้มีอำนาจคนหนึ่งในการสร้างอนาคตของดนตรีฝรั่งเศสเลยทีเดียว
เมื่อ พ.ศ. 2418 (ค.ศ. 1875) กามีย์แต่งงานกับมารี-ลอร์ ตรูโฟ (Marie-Laure Truffot) และเมื่อ พ.ศ. 2421 (ค.ศ. 1878) ทั้งสองก็มีบุตรด้วยกันสองคน คือ อ็องเดร และฌ็อง-ฟร็องซัว แต่บุตรทั้งสองกลับมาเสียชีวิตหลังเกิดมาได้เพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น หลังจากนั้นสามปี กามีย์ก็แยกกับภรรยา แต่ไม่ได้หย่ากัน ทว่าแยกอยู่คนละที่กัน
พฤติกรรมรักเพศเดียวกันของกามีย์เป็นที่ยอมรับและรับรู้กันอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม นักเขียนชีวประวัติท่านหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ (Stephen Studd) ได้ระบุว่าเขาเป็นบุคคลที่รักเพศตรงข้ามตามปกติ สำหรับความสนใจของกามีย์นั้นดูเหมือนจะมุ่งไปที่คู่รักวัยหนุ่ม ตามที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน และเมื่อถูกกล่าวหาว่าเขาเป็นพวกรักเพศเดียวกัน เขาก็ปฏิเสธว่า "Je ne suis pas homosexuel, je suis pédéraste!" (ไม่ใช่รักเพศเดียวกัน แต่ชอบมีเพศสัมพันธ์กับเด็กหนุ่ม) [1] เก็บถาวร 2006-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ปัจฉิมวัย
แก้เมื่อปี พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) กามีย์ได้ประพันธ์บทเพลงชิ้นสำคัญสองชิ้น ซึ่งนับว่ามีชื่อเสียงที่สุดของเขา ได้แก่ "ขบวนพาเหรดของสัตว์" (Le Carnaval des Animaux) และ "ซิมโฟนีหมายเลข 3" ซึ่งแต่งอุทิศให้แก่ฟรานซ์ ลิสต์ ที่ถึงแก่กรรมในปีนั้น แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง แวงซอง แด็งดี และเพื่อนฝูงขอให้แซ็ง-ซ็องส์ย้ายออกจาก Société Nationale de Musique ครั้นสองปีต่อมา มารดาของเขาถึงแก่กรรม และด้วยความเศร้าโศก เขาจึงเดินทางออกจากฝรั่งเศส ไปพักอาศัยที่กานาเรียส ในช่วงอีกหลายปีต่อมา เขาได้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก ไปชมสถานที่แปลกตาในยุโรป แอฟริกาตอนเหนือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอเมริกาใต้ กามีย์ล์ได้บันทึกการเดินทางของตนเอาไว้ในหนังสือหลายเล่ม ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลาย ทั้งนี้เขาใช้นามปากกาว่า “ซานัว” (Sannois)
กามีย์ยังคงเขียนงานด้านดนตรี วิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ และมักจะเดินทางท่องเที่ยวก่อนจะใช้ชีวิตในบั้นปลาย ณ กรุงแอลเจียร์ ประเทศแอลจีเรีย โดยได้พรรณนาว่า "เป็นทำเลสำหรับพักผ่อนวันหยุดที่น่าโปรดปรานสำหรับคนรักเพศเดียวกันชาวยุโรป ที่จะได้เพลิดเพลินกับความเป็นเพื่อนชายวัยรุ่นที่ได้รับที่นี่"
กามีย์ แซ็ง-ซ็องส์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดบวม เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2464 (ค.ศ. 1921) ที่ออแตลเดอลออาซิส (Hôtel de l'Oasis) ในกรุงแอลเจียร์ ร่างของเขาถูกนำกลับไปยังปารีส เพื่อพิธีศพโดยรัฐบาล ที่ลามาเดอแลน (La Madeleine) และฝังในสุสานมงปาร์นัส ในกรุงปารีส สิริรวมอายุได้ 86 ปี 2 เดือน 7 วัน ทั้งนี้รัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Legion of Honour เพื่อเป็นเกียรติในฐานะผู้ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพ