กระดูกเสี่ยงทาย

กระดูกเสี่ยงทาย (จีน: 甲骨; พินอิน: jiǎgǔ) เป็นชิ้นส่วนกระดูกสะบักวัวและกระดองท้องเต่าที่ใช้ในการทำนายด้วยไฟ สมัยราชวงศ์ชางของจีน ประมาณ 1600–1046 ปีก่อนคริสตกาล

กระดูกเสี่ยงทาย
กระดูกเสี่ยงทายสมัยราชวงศ์ชาง ที่พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้
ภาษาจีน甲骨
ความหมายตามตัวอักษรกระดองและกระดูก

แม้กระดูกเสี่ยงทายมีที่มาจากราชวงศ์ชาง แต่มีการขุดพบกระดองเต่าที่มีตัวหนังสือภาพจากยุคหินใหม่ที่แหล่งโบราณคดีเจียหู มณฑลเหอหนาน อายุราว 6600–6200 ปีก่อนคริสตกาล[1] ตัวหนังสือภาพเหล่านี้มีลักษณะคล้ายอักษรจีนยุคหลัง และเชื่อว่าพัฒนาต่อมาเป็นการทำนายอันซับซ้อนในปลายราชวงศ์ชาง (1250–1046 ปีก่อนคริสตกาล) กระดูกและกระดองที่ใช้ในการทำนายจะถูกเตรียมด้วยการเลื่อยเป็นชิ้นและขัดให้ผิวเรียบ[2] ผู้ทำนายจะตั้งคำถามต่อเทพเจ้าเกี่ยวกับสภาพอากาศในอนาคต การเพาะปลูก ชะตาพระราชวงศ์ ปฏิบัติการทางทหาร และอื่น ๆ[3] โดยคำถามเหล่านี้จะถูกจารเป็นอักษรกระดูกเสี่ยงทายบนกระดูกและกระดองด้วยโลหะแหลม ก่อนนำไปเผาไฟจนกระทั่งกระดูกและกระดองแตก จากนั้นผู้ทำนายจะตีความรูปแบบการแตกแล้วเขียนคำทำนายลงบนชิ้นส่วน[4] การบันทึกข้อความบนกระดูกเสี่ยงทายมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ ส่วนนำ (วันที่ ชื่อผู้ทำนาย และชื่อผู้ตั้งคำถาม), คำถาม (หัวข้อของคำถาม และคำถามเฉพาะ), คำทำนายที่ได้จากการตีความรอยแตก และการยืนยัน (การบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการทำนาย)[5] อย่างไรก็ตามกระดูกที่มีบันทึกครบทั้ง 4 ขั้นตอนพบได้ยาก กระดูกส่วนใหญ่ที่พบมักมีเพียงส่วนนำ คำถาม และคำทำนาย[6] การทำนายโดยใช้กระดูกเผาไฟสืบทอดต่อมาในราชวงศ์โจว แต่การจารึกคำถามและคำทำนายถูกแทนที่ด้วยการวาดด้วยพู่กันและหมึกซินนาบาร์ ทำให้ข้อความลบเลือนเมื่อเวลาผ่านไป

กระดูกเสี่ยงทายเป็นคลังข้อมูลสำคัญแรกสุดของการเขียนภาษาจีนด้วยอักษรจีนยุคแรก ข้อความบนกระดูกเสี่ยงทายมีตัวอักษรที่แตกต่างกันราว 5,000 ตัวอักษร[7] แม้จะมีเพียง 1,200 ตัวอักษรที่ได้รับการจำแนกอย่างชัดเจน[8] กระดูกเสี่ยงทายให้ข้อมูลสำคัญช่วงปลายราชวงศ์ชาง และนักวิชาการจำลองลำดับราชวงศ์ชางจากข้อความบนกระดูกเหล่านี้[9] มีการขุดพบกระดูกเสี่ยงทายจากราชวงศ์ชางเป็นระยะ ๆ มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง และอาจพบครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฮั่น[10] ล่วงถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 หวัง อี้หรง ประธานสถาบันกัวจื่อเจี้ยนเป็นบุคคลแรกที่พบว่าอักษรกระดูกเสี่ยงทายเป็นรูปแบบการเขียนภาษาจีนยุคแรก[11] ต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1910 เจมส์ เมลลอน เมนซีส์ มิชชันนารีชาวแคนาดาทำการถอดความหมาย และสรุปว่ากระดูกเสี่ยงทายเป็นบันทึกคำทำนายในสมัยราชวงศ์ชาง[12][13] การค้นพบและการถอดความหมายกระดูกเสี่ยงทายช่วยยืนยันการมีอยู่ของราชวงศ์ชาง ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นข้อถกเถียงในวงวิชาการ

อ้างอิง

แก้
  1. Hirst, K. Kris (26 กรกฎาคม 2018). "Oracle Bones: Predicting the Future in Shang, China". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2021.
  2. Xu 2002, p. 24.
  3. Keightley 1978a, pp. 33–35.
  4. Keightley 1978a, pp. 40–42.
  5. Mark, Emily (26 กุมภาพันธ์ 2016). "Oracle Bones". World History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2021.
  6. Xu 2002, p. 30.
  7. Qiu 2000, p. 49.
  8. Wilkinson 2013, p. 684.
  9. Keightley 1978a, pp. xiii, 185–187.
  10. Chou 1976, p. 1, citing Wei, Juxian (1939). "Qín-Hàn shi fāxiàn jiǎgǔwén shuō". in Shuōwén Yuè Kān. 1 (4) และ He, Tianxing (1940). "Jiǎgǔwén yi xianyu gǔdài shuō". in Xueshu (Shànghǎi). no. 1.
  11. Wilkinson, Endymion (2000). Chinese history: a manual (2nd ed.). Harvard Univ Asia Center. p. 391. ISBN 978-0-674-00249-4.
  12. Wu, Paul (22 สิงหาคม 2019). "Missionary James Mellon Menzies, First Western Researcher of Oracle Bone Inscriptions". The China Christian Daily. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2021. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2021.
  13. Menzies 1917, p. 2.

บรรณานุกรม

แก้
  • Chou, Hung-hsiang 周鴻翔 (1976). Oracle Bone Collections in the United States. University of California Press. ISBN 0-520-09534-0.
  • Keightley, David N. (1978a). Sources of Shang history : the oracle-bone inscriptions of Bronze Age China. Berkeley: University of California Press. ISBN 0-520-02969-0.
  • Menzies, James M. (1917). Oracle Records from the Waste of Yin (microform). Shanghai: Kelly & Walsh. ISBN 0-659-90806-9.
  • Qiu, Xigui (2000). Chinese writing (Wenzixue gaiyao). Transl. by Gilbert L. Mattos and Jerry Norman. Berkeley: Society for the Study of Early China. ISBN 1-55729-071-7.
  • Wilkinson, Endymion (2013). Chinese History: A New Manual (4th ed.). Cambridge, MA: Harvard University Asia Center. ISBN 978-0-674-06715-8.
  • Xu, Yahui (許雅惠 Hsu Ya-huei) (2002). Ancient Chinese Writing, Oracle Bone Inscriptions from the Ruins of Yin. English translation by Mark Caltonhill and Jeff Moser. Taipei: National Palace Museum. ISBN 978-957-562-420-0. Illustrated guide to the Special Exhibition of Oracle Bone Inscriptions from the Institute of History and Philology, Academia Sinica. Govt. Publ. No. 1009100250

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้