โนเกีย
โนเกีย (อังกฤษ: Nokia) เป็นบริษัทวิศวกรรมด้านเทคโนโลยีสื่อสารและโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่สัญชาติฟินแลนด์ ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1865 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเอสโป เขตมหานคร เฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ในปี ค.ศ. 2020 โนเกียได้จ้างพนักงานประมาณ 92,000 คน[1] ดำเนินธุรกิจในจำนวนกว่า 130 ประเทศทั่วโลก โนเกียยังเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์เฮลซิงกิ และตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก[2] นอกจากนี้จากการจัดอันดับของ ฟอร์จูนโกลบอล 500 โนเกียยังเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 415 ของโลก วัดจากรายได้ในปี ค.ศ. 2016 ประกอบด้วยยูโรสต็อกซ์ 50 และดัชนีตลาดหุ้น เคยติดอันดับสูงสุดถึงอันดับที่ 85[3] ในปี ค.ศ. 2009
ตราสัญลักษณ์ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ ค.ศ. 2023 | |
ประเภท | มหาชน (OMX: NOK1V, NYSE: NOK, FWB: NOA3) |
---|---|
อุตสาหกรรม | โทรคมนาคม เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ |
ก่อนหน้า | Suomen Gummitehdas Suomen Kaapelitehdas |
ก่อตั้ง | 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1865 (159 ปี 176 วัน) (ตัมเปเร ราชรัฐฟินแลนด์) |
ผู้ก่อตั้ง | เฟรดริก อิเดสตัม ลีโอ มิเชลิน เอดวร์ด โปลอน |
สำนักงานใหญ่ | เอสโป ฟินแลนด์ |
บุคลากรหลัก | ซาริ บัลดาอุฟ ประธานบริษัท เพ็คก้า ลุนด์มาร์ค ประธานบริษัท และ CEO |
ผลิตภัณฑ์ | โทรศัพท์เคลื่อนที่ สื่อประสม |
รายได้ | 24.91 พันล้านยูโร (2022) |
รายได้จากการดำเนินงาน | 2.318 พันล้านยูโร (2022) |
รายได้สุทธิ | 4.259 พันล้านยูโร (2022) |
สินทรัพย์ | 42.94 พันล้านยูโร (2022) |
ส่วนของผู้ถือหุ้น | 21.43 พันล้านยูโร (2022) |
พนักงาน | 86,896 (2022) |
เว็บไซต์ | www.nokia.com |
โนเกียเริ่มดำเนินธุรกิจจากการทำเยื่อกระดาษ และอีกหลากหลายอุตสาหกรรม ก่อนที่จะมุ่งเน้นในโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990[4] ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ และการพัฒนามาตรฐานโทรศัพท์มือถือ จีเอสเอ็ม, 3 จี และแอลทีอี รวมถึงโครงข่าย 5G ในยุคปัจจุบัน โดยในระหว่างปี ค.ศ. 1998 ถึง ค.ศ. 2012 โนเกียขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือขนาดใหญ่ที่สุดในโลกยาวนานถึง 14 ปี โนเกียมีส่วนในการผลักดันเทคโนโลยีหลายอย่างในสมาร์ทโฟน เช่น แอพลิเคชั่น, การทำโทรศัพท์ไร้เสาอากาศ, กล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง, การรับส่งข้อความสั้น SMS และยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยีกว่า 60,000 ฉบับ รวมถึงสิทธิบัตรมาตรฐานการผลิตสมาร์ทโฟนขั้นพื้นฐาน หรือ SEPs ที่หลายค่ายยังได้ใช้งานอยู่
ประวัติยุคแรก
แก้โนเกียไม่ได้เริ่มธุรกิจด้านอิเล็กทรอนิคเป็นพื้นฐานอย่างแรกของบริษัท แต่ได้เปิดบันทึกหน้าแรกของประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษ โดยมีวิศวกร Fredrik Idestam เป็นเจ้าของ
ย้อนเวลากลับไปยังปี ค.ศ. 1865 บริษัทโนเกียได้ก่อตั้งขึ้นบนริมฝั่งแม่น้ำ Nokia (โนเกีย) แม่น้ำสายใหญ่ในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย ป่าไม้ และทะเลสาบนับว่าเป็นดินแดนที่เหมาะสมอย่างมากในการทำธุรกิจ เยื่อกระดาษในย่านนี้ และกลายมาเป็นโรงงานผู้ผลิตเยื่อกระดาษรายใหญ่ที่เติบโต อย่างรวดเร็ว แต่น่าเสียดายที่ Idestam ยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอในการทำงานด้านธุรกิจ จึงจำเป็นต้องหยิบยืมเทคโนโลยีมาจากประเทศเยอรมันในปี 1866 แต่นั่นก็ช่วยทำให้เขาพัฒนาบริษัทขึ้น
ต่อมาในปี 1867 นวัตกรรมที่ Idestam คิดค้นขึ้นก็ได้ชนะรางวัลเหรียญทองแดงในงาน Paris Wood Exposition ที่กรุงปารีส(ประเทศฝรั่งเศส) นับแต่วันนั้นมาชื่อของโนเกียได้กลายมาเป็นที่รู้จัก โนเกีย จึงได้ฉวยโอกาสนี้ประทับแบรนด์ของเขาบนผลิตภัณฑ์ทุกชนิดซึ่งสร้างชื่อเสียงได้มากขึ้น จนกระทั่งเครื่องผลิตกระดาษได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตเยื่อไม้ในปี 1880 และได้มาเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของโนเกีย จนเรียกได้ว่าร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์นั้น คือ กระดาษห่อสีน้ำตาล รวมไปถึงวอลเปเปอร์สี
ต่อมาในปี 1902 Idestam ได้ขยายธุรกิจจากโรงงานกระดาษมาสู่ธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจกระดาษที่ทำอยู่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก จึงได้ตัดสินใจสร้างโรงผลิตไฟฟ้าขึ้นเองในปี 1903 แต่แล้วในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มรสุมใหญ่ก็ผ่านเข้ามา ธุรกิจส่งออกกระดาษของโนเกียได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจนประสบภาวะขาดทุนอย่างรุนแรง แต่ในขณะเดียวกันนั่นเองธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้ากลับเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมากในประเทศฟินแลนด์ ทำให้ช่วยพยุงกิจการด้านกระดาษที่ขาดทุนอย่างสูงไว้ได้ในระดับหนึ่ง
และในปี 1918 บริษัท Finnish Rubber Works (FRW) ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำผลิตภัณฑ์ยางในประเทศฟินแลนด์และเป็นหนึ่งในลูกค้ารายสำคัญของโรงงานผลิตไฟฟ้าของโนเกียได้มาเป็นหุ้น ส่วนรายใหญ่ของโนเกียหลังจากที่โนเกียไม่สามารถรองรับการขาดทุนของธุรกิจได้จนต้องตกไปเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท FRW แทน
จากนั้นใน ปี 1922 บริษัท Cable Works ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านสายเคเบิลและสายโทรศัพท์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Nokia group จากความสนใจของบริษัท FRW แม้จะมีความหลากหลายของธุรกิจที่รวมเข้าด้วยกันแต่โนเกียก็ยังคงผลิตสินค้าออกมาทั้ง 3 ประเภท คือกระดาษ ผลิตภัณฑ์ยาง (รองเท้ายาง ยาง รถยนต์) และสายเคเบิล โดยสินค้าทั้งหมดออกจำหน่ายในนามของโนเกีย
ยุคของอิเล็กทรอนิคกับโนเกียได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจังในปี 1977 ภายใต้การดูแลของ Kari Kairamo ประธานบริษัทซึ่งได้เรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกา แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้านี้ที่จะมีหัวไปทางรัสเซียโดยผลิตสินค้าส่งออก คือ สายไปเคเบิล ให้กับ ประเทศรัสเซีย Kairamo นำแนวคิดแบบตะวันตกและแหวกแนวมาประยุกต์มุ่งเน้นให้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิคให้เข้ากับยุคแห่งพลังงานจนกลายมาเป็นธุรกิจหลักของโนเกียในยุคนี้เป็นต้นมาโดยผลิตโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ออกมาเบิกทางในตลาด ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับการติดอันดับผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของยุโรปเลยทีเดียว
ยุคโทรศัพท์มือถือ
แก้ก้าวมาสู่ยุคแห่งการสื่อสารไร้สายในการนำของรองประธานกรรมการอาวุโสและกรรมการบริหารการเงิน Jorma Ollila ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานตั้งแต่ปี 1992 - 1999 และ CEO ของโนเกียในปี 1999 จนตราบถึงทุกวันนี้ด้วยแนวคิดของ Ollila ภายใต้การดูแลของ Kairamo นั้น โนเกียกับโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงได้ถือกำเนิดขึ้น
โดยในยุคแรกนั้นจะเป็น NMT Mobile Phone Standard (Nordic Mobile Telephony) หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่อนาล็อกรุ่นแรกนั่นเอง และได้รับความนิยมอย่างสูงเมื่อเผยโทรศัพท์ NMT รุ่นแรกในปี 1987 โดยมีสโลแกน "Connecting People" กับแนวคิดที่ต้องการเปิดอิสระและความต่อเนื่องในการติดต่อสื่อสาร จนกระทั่งกลายมาเป็นคำที่อยู่ในใจของผู้รักโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันกันถ้วนหน้า
ไม่นานระบบเครือข่ายที่ดีขึ้นก็เป็นที่ต้องการในสังคม โนเกียจึงพัฒนาเครือข่าย GSM ขึ้นเป็นครั้งแรกให้กับ Radiolinja บริษัทของฟินแลนด์ เมื่อปี 1989 ณ จุดนี้เองที่ Nokia 1011 บรรพบุรุษของบรรดาโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคปัจจุบันได้ออกมาสู่สายตาของทุกคนเป็นครั้งแรกในปี 1992 จากนั้นโนเกียก็ได้ยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจหลักเป็นต้นมา
โนเกียไม่ได้ผลิตเพียงแค่โทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น แต่ยังพัฒนาอุปกรณ์เสริมและเทคโนโลยีต่างๆไปพร้อมๆกันในตัว แนวคิดแรกที่ถือว่าโนเกียเป็ยผู้บุกเบิกเลยก็คือ ความสามารถในการเปลี่ยนหน้ากากซึ่งได้กลายเป็นลูกเล่นหลักของโทรศัพท์เคลื่อนที่จากโนเกียในเวลาต่อมา นอกจากนี้เทคโนโลยีการสนทนาอย่าง Push-to-Talk (PTT) กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็มาจากโนเกียอีกเช่นกัน
วันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2006 บริษัท Siemens AG ได้เข้ารวมกับโนเกียในการพัฒนาธุรกิจเครือข่าย มุ่งหวังจะกลายเป็นบริษัทเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุด โดยมีส่วนแบ่งเท่าเทียมกันที่ร้อยละ 50 และอยู่ในนามของ Nokia Siemens Networks แต่ภายหลังทางโนเกียได้เข้าซื้อหุ้นส่วนที่บริษัท Siemens AG ได้ถืออยู่คืนทั้งหมดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2013 ด้วยมูลค่า 1,700 ล้านยูโร (ราวๆ 58,000 บาท) [5] และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Nokia Solutions and Networks (NSN) [6]
วันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 2013 โนเกียได้ขายกิจการด้านโทรศัพท์ให้ไมโครซอฟท์ทั้งหมด ในราคา 7.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาในวันที่ 25 เมษายน 2557 ไมโครซอฟท์ได้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ โมบาย ซึ่งจะเป็นในฐานะบริษัทลูก[7]
วันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 โนเกียได้หมดสัญญาผูกพันกับทางไมโครซอฟท์ ที่ห้ามดำเนินการจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนในชื่อโนเกีย และได้จัดการมอบสิทธิ์ในการใช้แบรนด์และเทคโนโลยีที่รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาต่างๆ ให้กับทาง HMD global เป็นตัวแทนในการผลิตและจัดจำหน่ายสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์จนถึงปัจจุบัน[8]
ดูเพิ่ม
แก้- ไมโครซอฟท์ โมบาย
- เอชเอ็มดี โกลบอล (HMD Global) บริษัทสมาร์ทโฟนฟินแลนด์ ผู้ได้รับสิทธิ์ใช้ชื่อ Nokia บนผลิตภัณฑ์
อ้างอิง
แก้- ↑ Morris, Iain. "Nokia has cut 11,000 jobs in effort to boost profit". Light Reading. สืบค้นเมื่อ 2023-08-06.
- ↑ "Nokia – FAQ". Nokia Corporation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-08. สืบค้นเมื่อ 2023-08-06.
- ↑ "Fortune Global 500 (100)2009". Rankingthebrands.com. Fortune. สืบค้นเมื่อ 2023-08-06.
- ↑ "This is the new Nokia". The Verge. สืบค้นเมื่อ 2023-08-06.
- ↑ http://www.blognone.com/node/45963
- ↑ https://www.blognone.com/node/47303
- ↑ "Nokia จะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Microsoft Mobile". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-25. สืบค้นเมื่อ 2014-04-25.
- ↑ คนคุ้นเคย Nokia เตรียมคืนสังเวียนสมาร์ทโฟนร่วมทุนกับ Foxconn ทำแบรนด์ HMD
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
- เว็บไซต์โนเกียประเทศไทย
- เว็บไซต์รวมข่าวโนเกีย เก็บถาวร 2009-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- มือถือโนเกียในปัจจุบันจากweb Siamphone
- การอัปเดตซอฟต์แวร์มือถือโนเกียจากweb Doctor Mobile Clinic
- เว็บไซต์ที่รวบรวมราคามือถือโนเกียในปัจจุบันจากweb Thaimobilecenter