ลีด

มาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(เปลี่ยนทางจาก Leadership in Energy and Environmental Design)

ลีด (อังกฤษ: Leadership in Energy and Environmental Design: LEED) หรือการออกแบบเพื่อความเป็นผู้นําทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม คือระบบที่ถูกนำมาใช้ประเมินมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นระบบอาคารเขียวที่ถูกนำมาใช้ทั่วโลก[5] โดยสภาอาคารสีเขียวสหรัฐอเมริกาหรือ U.S. Green Building Council (USGBC) ได้เป็นผู้กำหนดเกณฑ์ในการประเมินอาคารต่างๆ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก มานานกว่า 10 ปี[6] รวมถึงการตั้งระบบสำหรับการออกแบบ การก่อสร้าง การดำเนินงาน การบำรุงรักษาอาคารเขียว บ้านและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งมีเป้าหมายให้เจ้าของและผู้ดำเนินการมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา คือเมืองลีดระดับแพลตตินัมแห่งแรกของโลก ในภาพคืออาคาร 1225 ถนนคอนเนตทิคัต ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานแห่งแรกบนชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐที่ได้รับการพัฒนาใหม่และได้รับสถานะลีดในระดับแพลตตินัม[1]
ศูนย์ประชุม David L. Lawrence ในพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา คือ ศูนย์ประชุมแห่งแรกของโลกที่ได้รับลีดในระดับโกลด์และแพลตตินัม [2]
อาคารบริการนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเท็กซัสแอทแดลลัส (University of Texas at Dallas) คืออาคารทางวิชาการแห่งแรกในเท็กซัส สหรัฐอเมริกาที่ได้รับสถานะลีดในระดับแพลตตินัม[3]
อาร์ลิงตันเคาน์ตี้ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา คือ ชุมชนลีดระดับแพลตินัมแห่งแรกของโลก ในภาพคืออาคาร 1812 N Moore เป็นอาคารลีดระดับแพลตตินัมที่สูงที่สุดในมหานครวอชิงตัน ดี.ซี.[4]
อาคารไทเป 101 กรุงไทเป ไต้หวัน ได้รับลีดระดับแพลตตินัม มาตั้งแต่ ค.ศ. 2011
ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ของกระทรวงพลังงานและปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม เป็นอาคารที่ได้รับรางวัลลีด ระดับแพลตตินัม

ระดับของการรับรอง แก้

อาคารสามารถได้รับการรับรองคุณภาพแบ่งเป็น 4 ระดับ

  • ถูกรับรอง (Certified) ที่คะแนน 40-49
  • ระดับเงิน (Silver) ที่คะแนน 50-59
  • ระดับทอง (Gold) ที่คะแนน 60-79
  • ระดับแพลตตินัม (Platinum) ที่คะแนน 80 และมากกว่า

LEED แบ่งมาตรฐานออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ แก้

1. อาคารสร้างใหม่ (New Buildings) มุ่งเน้นเรื่องการออกแบบและการก่อสร้าง เพื่อให้เป็นอาคารที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

2. อาคารใช้งาน (Existing Buildings) จะพิจารณาจากประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือ Performance ของการใช้อาคาร ซึ่งจะได้จากการวัดผลดำเนินการจริงและมาตรการควบคุม บำรุงรักษาการใช้งานอาคาร

หัวข้อย่อย ซึ่งมีให้เลือกดังนี้ แก้

1. LEED for Building Design and Construction (LEED BD+C) สำหรับอาคารที่สร้างใหม่หรืออาคารที่ปรับปรุงใหม่ โดยออกแบบสำหรับอาคารสำนักงานเป็นหลัก แต่สามารถใช้กับอาคารประเภทอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงงาน เป็นต้น

2. LEED for Existing Buildings: Operations and Maintenance (LEED EB: OM) สำหรับอาคารที่สร้างเสร็จแล้ว หรืออาคารใช้งานที่ต้องการดูแลรักษาอาคารให้เป็นอาคารเขียว โดยอาคารที่ผ่านและไม่ผ่านการรับรองประเภท LEED BC+D สามารถสมัครขอรับรองประเภทนี้ได้

3. LEED for Core and Shell (LEED CS) สำหรับอาคารที่ผู้ประกอบการจะสร้างแต่เปลือกอาคารคือ กรอบผนังภายนอกและหลังคา และส่วนที่เป็นแกนบริการของอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือลิฟต์ บันไดและช่องท่อต่างๆ แล้วทำการตลาดเพื่อขายหรือให้เช่าพื้นที่ภายใน โดยผู้เช่าจะเป็นผู้มาตกแต่งกั้นพื้นที่ภายในเอง

4. LEED for Commercial Interiors สำหรับการตกแต่งภายในสำหรับผู้เช่าอาคารและผู้ออกแบบ

5. LEED for Neighborhood Development สำหรับการพัฒนาชุมชน หมู่บ้าน การเข้าถึงการขนส่ง

6. LEED for Homes สำหรับบ้านพักอาศัย

7. LEED for Schools สำหรับโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมปลาย

8. LEED for Retails สำหรับร้านค้าปลีกต่างๆ

หลักในการพิจารณาเพื่อประเมินระดับการรับรองของ LEED แก้

1. การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency: WE) : ลดความต้องการใช้น้ำประปาในพื้นที่ด้านสถาปัตยกรรมการออกแบบ ลดความต้องการน้ำประปาในการชำระล้างโถสุขภัณฑ์และโถปัสสาวะ ลดการใช้น้ำโดยรวมภายในอาคาร

2. การใช้ประโยชน์จากสถานที่ตั้งอย่างยั่งยืน (Sustainable Sites: SS) : การสร้างผลกระทบต่อที่ตั้งอาคารต่ำ ช่วยลดการใช้รถส่วนตัว เพิ่มพื้นที่เปิดโล่งสีเขียว ลดการเกิดน้ำท่วม ลดปรากฏการณ์เมืองร้อนและลดการก่อมลภาวะทางแสง

3. วัสดุและทรัพยากร (Materials and Resources: MR) : การเลือกใช้วัสดุและทรัพยากรในการก่อสร้าง คือ มีการเตรียมพื้นที่คัดแยกขยะเพื่อ การรีไซเคิล การนำอาคารหรือองค์ประกอบของอาคารมาใช้ใหม่ การลดขยะจากการก่อสร้าง การใช้วัสดุรีไซเคิล การใช้วัสดุพื้นถิ่น การใช้วัสดุปลูกทดแทนได้เร็ว และการใช้ไม้ที่ผ่านการรับรองว่ามาจากป่าทดแทนที่มีการรับรอง

4. คุณภาพสภาพแวดล้อมภายในอาคาร (Indoor Environmental Quality: IEQ) : การควบคุมสภาวะอากาศภายในอาคารเพื่อสภาวะอยู่สบายและสุขภาพที่ดีของผู้ใช้อาคาร โดยพิจารณาในเรื่องการระบายอากาศ การดำเนินการจัดการกับมลภาวะทางอากาศ ที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในระหว่างการก่อสร้างและระหว่างการใช้งานอาคาร การเลือกใช้วัสดุที่มีสารระเหยที่เป็นพิษต่ำ การส่งเสริมสภาวะอยู่สบายที่ผู้ใช้อาคารสามารถควบคุมได้เอง การใช้แสงธรรมชาติและการออกแบบอาคารให้มองเห็นบรรยากาศภายนอก รวมถึงการป้องกันการเกิดเชื้อราที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

5. พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere: EA) : การช่วยลดการใช้พลังงานของอาคาร สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน การตรวจสอบการใช้พลังงานของอาคารที่เป็นระบบ สารทำความเย็นที่ส่งผลกระทบต่ำ การซื้อพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ผ่านการรับรองว่าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

6. ลำดับความสำคัญของท้องถิ่น (Regional Priority: RP) : เนื่องจากปัญหาทางสิ่งแวดล้อมอาจแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น จึงต้องมีการเน้นย้ำถึงความสำคัญในแต่ละท้องถิ่น โดยการทำคะแนนในหัวข้อนี้ จะได้รับคะแนนทันทีถ้าดำเนินการตามหัวข้อที่กำหนด

7. นวัตกรรมในการออกแบบ (Innovation in Design: ID) : เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการออกแบบอาคารด้วยรูปแบบใหม่ และการมีวิธีการหรือหลักเกณฑ์ใหม่ๆ มาใช้ในการทำอาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Building) ทำได้โดยการนำวิธีการหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีกำหนดในมาตรฐานมาใช้ รวมถึงการทำได้มากกว่าที่เกณฑ์กำหนด

อ้างอิง แก้

  1. "Washington, D.C. Named First LEED Platinum City in the World | U.S. Green Building Council". www.usgbc.org (ภาษาอังกฤษ).
  2. Belko, Mark (May 11, 2012). "Convention center earns highest 'green' cred: platinum LEED rating". Pittsburgh Post-Gazette. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 1, 2013.
  3. "UT Dallas Building Awarded Highest Green Status" (Press release). University of Texas at Dallas. February 10, 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 17, 2011.
  4. http://newsroom.usgbc.org/arlington-earns-nations-first-leed-for-communities-platinum-certification/
  5. "Green Building Facts | U.S. Green Building Council". www.usgbc.org. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-11-28. สืบค้นเมื่อ 2015-11-24.
  6. วิทยานิพนธ์ ดัชนีชี้วัดอาคารสีเขียวเพื่อประหยัดพลังงานกรณีศึกษาอาคารสีเขียวบริษัทมหาชน นายเทียนธรรม จุนเจือจาน, คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร, 2559.

ดูเพิ่ม แก้