ตัวเอ๋อร์กุ่น

(เปลี่ยนทางจาก Dorgon)

ตัวเอ๋อร์กุ่น (จีน: 多爾袞; อักษรโรมัน: Dorgon แปลว่า "แบดเจอร์"[1]; 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1612 – 31 ธันวาคม ค.ศ. 1650) บ้างเรียก รุ่ยชินหวัง (睿親王) เป็นพระราชโอรสของหนูเอ่อร์ฮาชื่อ (努爾哈赤) ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์ชิง เป็นพระอนุชาของหฺวัง ไท่จี๋ (皇太極) จักรพรรดิพระองค์ที่ 2 ของราชวงศ์ชิง และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิชุ่นจื้อ (順治) พระโอรสของหฺวัง ไท่จี๋ ผู้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิพระองค์ที่ 3 ของราชวงศ์ชิง

ตัวเอ๋อร์กุ่น
เหอชั่วรุ่ยชินหวัง
ดำรงพระยศค.ศ.1636–1650
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งต้าชิง
ดำรงตำแหน่งค.ศ.1643 – 1650
จักรพรรดิจักรพรรดิชุ่นจื้อ
ประสูติ17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1612
สิ้นพระชนม์31 ธันวาคม ค.ศ. 1650
พระนามเต็ม
อ้ายซินเจว๋หลัว ตัวเอ๋อร์กุ่น (愛新覺羅 多爾袞)
ราชวงศ์ชิง
พระบิดาพระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อ
พระมารดาอาปาไฮ่

ตัวเอ๋อร์กุ่นเริ่มรับราชการในรัชสมัยของหฺวัง ไท่จี๋ ด้วยการศึกปราบปรามราชวงศ์หมิงและปราบปรามชาวมองโกลกับเกาหลี ครั้นหฺวัง ไท่จี๋ สวรรคตใน ค.ศ. 1643 ตัวเอ๋อร์กุ่น กับเหาเก๋อ (豪格) พระโอรสหัวปีของหฺวัง ไท่จี๋ แย่งชิงบัลลังก์กัน แต่มาตกลงกันได้โดยหนุนให้ฝูหลิน (福臨) พระโอรสพระองค์ที่ 9 ของหฺวัง ไท่จี๋ ขึ้นเป็นจักรพรรดิชุ่นจื้อ และตัวเอ๋อร์กุ่นสำเร็จราชการแทน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขาดำรงตั้งแต่ ค.ศ. 1643 จนสิ้นชีวิตใน ค.ศ. 1650 ระหว่างนั้น ใน ค.ศ. 1645 เขาได้รับพระราชทานฐานันดรศักดิ์ว่า "หฺวังชูฟู่เช่อเจิ้งหวัง" (皇叔父攝政王; "พระเจ้าอาผู้สำเร็จราชการ") ต่อมาใน ค.ศ. 1649 เปลี่ยนเป็น "หฺวังฟู่เช่อเจิ้งหวัง" (皇父攝政王; "พระบิดาผู้สำเร็จราชการ")

ในช่วงที่ตัวเอ๋อร์กุ่นสำเร็จราชการนั้น กองทัพราชวงศ์ชิงสามารถยึดเป่ย์จิง (北京) นครหลวงของราชวงศ์หมิงเดิม และค่อย ๆ พิชิตพื้นที่ที่เหลือของราชวงศ์หมิงผ่านการทำศึกอย่างต่อเนื่องเพื่อปราบปรามหมิงใต้ (南明) กลุ่มผู้ภักดีต่อราชวงศ์หมิง และปราบปรามกลุ่มอื่น ๆ ที่ขัดขืนอำนาจทั่วจักรวรรดิ ตัวเอ๋อร์กุ่นยังริเริ่มนโยบายบีบบังคับให้พลเมืองชาวฮั่นตัดผมแบบแมนจู

ตัวเอ๋อร์กุ่นถึงแก่ความตายใน ค.ศ. 1650 ขณะออกไปล่าสัตว์ เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว เขาได้รับยกย่องเป็นจักรพรรดิ แม้ตอนมีชีวิตจะมิได้เป็นก็ตาม อย่างไรก็ดี หนึ่งปีให้หลัง จักรพรรดิชุ่นจื้อทรงถอดยศศักดิ์ทั้งปวงของเขา และให้ขุดศพเขาขึ้นโบยตีต่อหน้าสาธารณชน ด้วยข้อหาอาญาหลายประการ ครั้น ค.ศ. 1778 จักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆) ทรงประกาศให้เขาเป็นผู้ไม่มีมลทินมัวหมอง และให้คืนยศถาดังเดิม

อ้างอิง แก้

  1. Elliott 2001, p. 242.
ก่อนหน้า ตัวเอ๋อร์กุ่น ถัดไป
  รุ่ยชินหวัง
(ค.ศ. 1636 – 1650)
  ฉุนอิ่ง