การแตกกระจายออก

(เปลี่ยนทางจาก Burst fracture)

การแตกกระจายออก (อังกฤษ: burst fracture) เป็นการบาดเจ็บของกระดูกสันหลังแบบหนึ่งที่ลำกระดูกสันหลัง (vertebra) แตก/หักออกเนื่องจากเกิดภาระ/โหลดมากเกินที่โครงกระดูกแกน (เช่น รถชน ตกมาจากที่สูง หรือแม้แต่การชักบางอย่าง) โดยมีส่วนแหลมของลำกระดูกทิ่มเข้าไปในเนื้อเยื่อรอบ ๆ และบางครั้งเข้าไปในไขสันหลังเอง burst fracture จะจัดตาม "ความรุนแรงของการเสียรูปทรง, ความรุนแรงของอันตรายต่อช่องบรรจุไขสันหลัง, ระดับที่ลำกระดูกสั้นลง, และระดับความบกพร่องทางประสาท"[1] เป็นการบาดเจ็บที่พิจารณาว่า รุนแรงกว่ากระดูกหักเหตุอัด (compression fracture) เพราะอาจตามด้วยความเสียหายทางประสาทในระยะยาว ซึ่งสามารถแสดงอาการทั้งหมดอย่างทันที หรือค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลานาน

การวินิจฉัย แก้

การวินิจฉัยทำโดยการสร้างภาพทางรังสีวิทยา

การรักษา แก้

คนไข้จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลทันที เพราะการบาดเจ็บเช่นนี้มีผลต่อไขสันหลังในระดับต่าง ๆ และเสี่ยงต่ออัมพาต แพทย์จะถ่ายภาพเอ็กซเรย์หรือใช้ MRI เพื่อกำหนดว่า ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่ การผ่าตัดจะจำเป็นเมื่อกระดูกที่หัก/แตกไม่เสถียร

การพยากรณ์ว่า ไขสันหลังจะเสถียรหรือไม่เพราะกระดูกสันหลังระดับอกและเอวหัก จะขึ้นอยู่ปัจจัยหลายอย่าง โดยยังมีการศึกษาอยู่เพื่อให้จัดหมวดหมู่การหักของกระดูกเพื่อพยากรณ์ความเสถียรได้ดีขึ้น การประยุกต์ใช้แบบจำลอง axial zone model ที่เสนอโดยแพทย์ที่สถาบันประสาทวิทยาบาร์โรว์ (Barrow Neurological Institute) อาจเพิ่มสมรรถภาพในการพยากรณ์ความเสถียร เป็นแบบจำลองที่ดูจำนวนลำกระดูกที่เสียหายด้วย ดูจำนวนเขตที่บาดเจ็บด้วย แต่ก็ยังต้องมีงานศึกษาทางคลินิกและทางชีวกลศาสตร์เพื่อตรวจดูความสมเหตุสมผลของแบบจำลองนี้[2]

มีการผ่าตัดรักษาแบบต่าง ๆ โดยที่สามัญสุดก็คือการเชื่อมลำกระดูกสันหลังบริเวณที่บาดเจ็บเข้าด้วยกัน และเอาเศษกระดูกใหญ่ ๆ ที่แตกออก การผ่าตัดเชื่อมลำกระดูกสันหลัง (spinal fusion) จะยึดกระดูกสองลำหรือมากกว่านั้นเข้าด้วยกันโดยใช้ตัวยึดไทเทเนียม ส่วนการผ่าตัดอีกอย่างที่สามัญน้อยกว่าก็คือ การเปลี่ยนกระดูกที่เสียหายด้วยกระดูกเทียม หรือด้วยกระดูกของผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว วิธีการสองอย่างสุดท้ายใช้ได้ดีในผู้สูงอายุ แต่ยังไม่ได้ลองในคนที่อายุน้อยกว่าเพราะเสถียรภาพระยะยาวยังไม่ชัดเจน

การบริหารโดยไม่ผ่าตัดจะเป็นไปได้ถ้าการบาดเจ็บไม่มีผลต่อระบบประสาท รวมทั้งการใช้อุปกรณ์พยุงภายนอกแบบเต็มตัว ปกติคือ thoracic lumbar sacral orthosis (ตัวย่อ TLSO แปลว่า อุปกรณ์พยุงกระดูกอกเอวและกระเบนเหน็บ) ทำด้วยพลาสติก บ่อยครั้งหล่อให้เข้ากับตัวคนไข้โดยเฉพาะ แพทย์จะถ่ายภาพเอ็กซเรย์หรือ MRI ทุก ๆ 2 อาทิตย์ที่ใส่ TLSO เพื่อตรวจดูว่ากระดูกสันหลังจะคงเสถียรหรือไม่ คนไข้จะใส่ TLSO เป็นเวลา 2-3 เดือนตลอด 24 ชม. ทุกวัน และจะรักษาด้วยกายภาพบำบัดเพื่อสร้างกำลังให้กับกล้ามเนื้อที่ฝ่อไปและเพื่อเรียนรู้การเดินอีก

กระดูกสันหลังของคนไข้อาจเคลื่อน (Spondylolisthesis) หลังจากถอด TLSO แต่อาจยังอยู่ในพิสัยที่แพทย์คาดหวังโดยไม่มีผลต่อระบบประสาทโดยเดือนที่ 3 ถ้าไม่มีกระดูกเคลื่อนอย่างสำคัญหลังจากนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเอาอะไรยึดไว้อีก

พยากรณ์โรค แก้

ในช่วงชีวิตคนไข้ในระยะยาว อาจจะมีปัญหาการเจ็บ การใช้งาน และการเสียรูปในบริเวณที่เป็นปัญหา กระดูกหักเช่นนี้มีผลลดความสูงอย่างถาวร โดยอาจมีหลังโกง (kyphosis) ในระดับที่ต่าง ๆ กัน[3] และมีระดับกระแสประสาทที่ต่าง ๆ กัน ซึ่งอาจแย่ลงตามกาลเวลา ในช่วงชีวิต คนไข้อาจประสบกับความเจ็บปวดและความไม่สบายแบบทุติยภูมิที่สันหลังและแขนขา เนื่องจากการทำงานผิดปกติทางประสาทที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เชิงอรรถและอ้างอิง แก้

  1. "Lumbar Compression Fracture". eMedicine. 2017-01-30. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-06-08.
  2. PMID 22456686 (PMID 22456686)
    Citation will be completed automatically in a few minutes. Jump the queue or expand by hand Radiographic Assessment of Thoracolumbar Fractures based on Axial Zones
  3. "Kyphosis". MedlinePlus. 2016-02-29. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-17.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้