ไม้จิ้มฟัน คือชิ้นไม้หรือพลาสติกหรือวัสดุอื่น ลักษณะเป็นแท่งสั้น ๆ ขนาดเล็ก มีปลายแหลมหนึ่งหรือสองข้าง เป็นอุปกรณ์เพื่อใช้กำจัดเศษอาหารหรือสิ่งสกปรกตามซอกฟัน โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ในประเทศไทยไม้จิ้มฟันมักทำมาจากไม้ไผ่ โดยการฝานไม้ไผ่ให้บาง ตัดพอดีชิ้น สุดท้ายลับและเหลาให้คม ปัจจุบันมักผลิตโดยเครื่องจักร

ไม้จิ้มฟัน
ไม้จิ้มฟัน พร้อมไหมขัดฟัน ในชิ้นเดียวกัน

ประวัติ แก้

ไม้จิ้มฟันอาจจะเป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดฟันที่เก่าแก่ที่สุด ในหลายวัฒนธรรมต่างก็รู้จักและใช้ไม้จิ้มฟัน ก่อนที่แปรงสีฟันจะถูกประดิษฐ์ขึ้น ผู้คนรู้จักการใช้ชิ้นไม้ที่แข็งหรืออ่อนเพื่อทำความสะอาดฟัน ไม้จิ้มฟันที่ผลิตจากทองสำริดถูกค้นพบในสุสานก่อนประวัติศาสตร์ ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลีและทางตะวันออกของเทือกเขาแอลป์ รวมถึงในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย

ไม้จิ้มฟันที่ผลิตจากทองและไม้ยางเรซินถูกค้นพบในสถานที่ที่เคยเป็นจักรวรรดิจีนมาก่อน และในคริสต์ศตวรรษที่ 9 มีการผลิตไม้จิ้มฟันให้มีความหรูหรา เช่นทำจากโลหะมีค่า วาดลวดลายให้วิจิตรบรรจง และมีการเคลือบให้เงางามคงทน

ในปี ค.ศ. 1859 เบนจามิน แฟรงคลิน สเตอร์เตแวนท์ ได้จดสิทธิบัตรสหรัฐเลขที่ 26627[1] สำหรับวิธีการปอกท่อนไม้เป็นแผ่นบาง (วีเนียร์) และ ค.ศ. 1863 ได้จดสิทธิบัตรสหรัฐเลขที่ 38768[2] สำหรับการตัดแผ่นบางนั้นออกเป็นชิ้นเล็กมีจุดประสงค์เพื่อนำมาทำหมุดตอกรองเท้า แต่ชาลส์ ฟอร์สเตอร์ นักธุรกิจชาวบอสตันได้ขอซื้อสิทธิจากสเตอร์เตแวนท์ เพื่อนำมาดัดแปลงผลิตไม้จิ้มฟัน[3] ประมาณปี 1867 เขาได้เปิดโรงงานผลิตไม้จิ้มฟันแบบเหลี่ยมด้วยเครื่องจักรขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกที่บอสตันและต่อมาย้ายไปยังรัฐเมน ที่มีไม้เบิร์ชคุณภาพดีอยู่มากเมื่อ ค.ศ. 1870 หลังจากนั้น ชาลส์ ฟรีแมน ผู้ทำงานกับฟอร์สเตอร์ได้จดสิทธิบัตรเครื่องจักรและผลิตภัณฑ์ไม้จิ้มฟันแบบกลมขึ้นเป็นครั้งแรก[4] เมื่อปี ค.ศ. 1891 ดังนั้นจึงเป็นความเข้าใจผิดที่เผยแพร่กันว่า ค.ศ. 1872 ซิลาส โนเบิลและเจ. พี. คูลีย์ได้จดสิทธิบัตรเครื่องผลิตไม้จิ้มฟันเครื่องแรกของโลก[5] ซึ่งเป็นสิทธิบัตรการปรับปรุง (improvement) เท่านั้น เนื่องจากชาลส์ ฟอร์สเตอร์ได้ทำการผลิตไม้จิ้มฟันด้วยเครื่องจักรมาหลายปีก่อนหน้านั้นแล้ว[6]

ในทุกวันนี้ ไม้จิ้มฟันไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับในศาสตร์ทันตกรรมสมัยใหม่ การใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงสีฟันเป็นสิ่งที่ทันตแพทย์แนะนำ อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไม้จิ้มฟันยังมีความสำคัญอยู่ ไม้จิ้มฟันจึงยังคงเป็นที่นิยมต่อใครหลาย ๆ คน

อ้างอิง แก้

  1. https://patentimages.storage.googleapis.com/1d/93/89/6a0ea814719a1a/US26627.pdf
  2. https://patentimages.storage.googleapis.com/e3/e2/0a/6b842655f455da/US38768.pdf
  3. "[invently] 132 ปีของสิทธิบัตรไม้จิ้มฟัน 24 มีนาคม ค.ศ. 1891 (พ.ศ. 2434) สำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกาได้ออกสิทธิบัตรเลขที่ 448,647 ให้กับชาร์ล ซี ฟรีแมน แห่งรัฐเมน สำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่ชื่อว่า "ไม้จิ้มฟัน" (TOOT". www.blockdit.com.
  4. [1]
  5. Historical note[ลิงก์เสีย]
  6. 24 มีนาคม 1891 ครบรอบสิทธิบัตรไม้จิ้มฟัน สิ่งประดิษฐ์สุดมินิมอล