ไชโย เป็นคำอุทานในภาษาไทยที่ใช้แสดงความยินดี ดีใจ หรือเห็นพ้องต้องกัน คล้ายกับคำว่า "ฮูเร" หรือ "โฮเร" ในภาษาอังกฤษ เป็นคำพ้องความหมายกับคำว่า ชโย ซึ่งมักใช้ในบทกวี

คำว่า 'ไชโย' ในความหมายสมัยใหม่นั้นเริ่มต้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ซึ่งทรงได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำที่คล้ายคลึงกันซึ่งนักแสดงชาวอินเดียใช้ในระหว่างการแสดงรามายณะ การบันทึกการใช้คำนี้ครั้งแรกอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2457 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพระองค์เสด็จไปนมัสการซากเจดีย์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา (ปัจจุบันคือ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี) เมื่อเหล่ากองเสือป่าของพระองค์ไม่ตอบสนองต่อเสียงตอบรับ โห่-ฮิ้ว[a] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกเขาเปล่งเสียง "โย" ตอบรับเมื่อได้ยินเสียงร้อง "ไช" จึงเป็นที่มาของคำว่า "ไชโย" ที่เปล่งออกมาสามครั้งซ้อนคล้ายกับคำว่า "hip hip hooray" ในภาษาอังกฤษ ต่อมา การใช้คำว่า 'ไชโย' ได้แพร่หลายออกไป และกลายเป็นคำที่คนทั่วไปนิยมใช้กัน[1]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวไว้ในสาส์นสมเด็จฉบับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2481 ว่าคำว่า "ไชโย" นั้นเป็นคำเก่าที่พบได้ในบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 (พ.ศ. 2352-2367) แต่ก็ค่อย ๆ หายไปจากการใช้งานทั่วไปในช่วงเวลานั้น[2]

หมายเหตุ

แก้
  1. เสียงตอบรับนี้ยังคงใช้อยู่ในพิธีแต่งงานและขบวนกลองยาว

อ้างอิง

แก้
  1. โรม บุนนาค (27 มกราคม 2020). "ทำไมต้องร้อง "ไชโย" แทน "โห่..ฮิ้ว"! คำแสดงความยินดีแทนการโห่ ๓ ลา!!". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2023.
  2. Damrong Rajanubhab (22 October 2019). "สาส์นสมเด็จ พุทธศักราช ๒๔๘๑: วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ดร". Vajirayana Digital Library. สืบค้นเมื่อ 29 September 2023.