โฆยาเดเซเรน

(เปลี่ยนทางจาก โฮยาเดเซเรน)

โฆยาเดเซเรน (สเปน: Joya de Cerén; แปลว่า อัญมณีแห่งเซเรน) เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งหนึ่งในหุบเขาซาโปติตัน จังหวัดลาลิเบร์ตัด ประเทศเอลซัลวาดอร์ ห่างจากกรุงซานซัลวาดอร์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 36 กิโลเมตร[1] ประกอบด้วยหมู่บ้านเกษตรกรรมในอารยธรรมมายาสมัยก่อนโคลัมบัส คาดกันว่าแหล่งนี้มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ระหว่าง ค.ศ. 200 ถึง ค.ศ. 600[1]

แหล่งโบราณคดีโฆยาเดเซเรน *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ซากหมู่บ้านมายาแห่งโฆยาเดเซเรนใน ค.ศ. 2012
พิกัด13°49′39.0″N 89°22′09.0″W / 13.827500°N 89.369167°W / 13.827500; -89.369167
ประเทศ เอลซัลวาดอร์
ภูมิภาค **ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(iii), (iv)
อ้างอิง675
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน1993 (คณะกรรมการสมัยที่ 17)
พื้นที่3,200 ha (7,900 เอเคอร์)
โฆยาเดเซเรนตั้งอยู่ในเอลซัลวาดอร์
โฆยาเดเซเรน
ที่ตั้งของโฆยาเดเซเรนในเอลซัลวาดอร์และมีโซอเมริกา
โฆยาเดเซเรนตั้งอยู่ในมีโซอเมริกา
โฆยาเดเซเรน
โฆยาเดเซเรน (มีโซอเมริกา)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

โฆยาเดเซเรนเป็นที่รู้จักจากการเก็บรักษาหลักฐานการตั้งถิ่นฐานในมีโซอเมริกาสมัยคลาสสิกไว้อย่างดีเยี่ยม บริเวณนี้ถูกฝังอยู่ภายใต้เถ้าถ่านภูเขาไฟโลมากัลเดราซึ่งปะทุเมื่อประมาณ ค.ศ. 600[2] บางครั้งแหล่งโบราณคดีนี้จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น "ปอมเปอีแห่งอเมริกา"[3] โดยเปรียบเทียบกับซากเมืองโบราณที่มีชื่อเสียงของจักรวรรดิโรมัน ความอุดมสมบูรณ์ของซากทางบรรพพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (paleoethnobotany) ที่ค้นพบที่โฆยาเดเซเรนเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีมายาอื่น ๆ ทำให้โฆยาเดเซเรนมีความสำคัญเป็นพิเศษในการศึกษาชีวิตประจำวันของชุมชนเกษตรกรรมมายาโบราณ

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการค้นพบทุ่งมันสำปะหลังโบราณซึ่งมีขนาดอย่างน้อยหนึ่งในสามของสนามฟุตบอล ถือเป็นตัวอย่างแรกในแหล่งโบราณคดีโลกใหม่ที่ได้รับการพิสูจน์ระบุว่าเป็นแปลงเพาะปลูกมันสำปะหลัง[4] โฆยาเดเซเรนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโกใน ค.ศ. 1993 และในปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักแห่งหนึ่งของเอลซัลวาดอร์[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 Castellanos, p. 94.
  2. Conyers, pp. 377–378.
  3. Llorente, Analía. "Joya de Cerén, el extraordinario sitio precolombino en el El Salvador que fue cubierto por la erupción de un volcán hace 1.400 años y sigue intacto". BBC Mundo (ภาษาสเปน). สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2020.
  4. CU team discovers Mayan crop system. เก็บถาวร 15 กรกฎาคม 2015 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน University of Colorado at Boulder, 16 มิถุนายน 2009

บรรณานุกรม แก้

  • Castellanos, Carolina, and Descamps, Francoise 2004 Joya de Cerén, El Salvador: site interpretation in participatory management planning. Blackwell Publishing. 56(3), 94–103.
  • Conyers, Lawrence B. (1996) "Archaeological evidence for dating the Loma Caldera eruption, Ceren, El Salvador", in Geoarchaeology Vol. 11, Iss. 5, pp. 377–391.