โพลีแอนนา (อังกฤษ: Pollyanna) เป็นนวนิยายบันเทิงคดีโดยเอเลนอร์ พอร์เตอร์ ที่ขายดีที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1913 และบัดนี้จัดเป็นวรรณกรรมเด็กคลาสสิก โดยที่ชื่อตัวละครหลัก (โพลีแอนนา) ได้กลายมาเป็นคำที่ใช้ หมายถึงบุคคลที่มีทัศนคติมองโลกในแง่ดีเหมือนกับตัวละคร[1] นอกจากนั้นแล้ว ในทางจิตวิทยา ความเอนเอียงใต้จิตสำนึกที่โน้มไปในทางบวก มักจะเรียกว่า หลักโพลีแอนนา (Pollyanna principle) หนังสือประสบความสำเร็จจนกระทั่งนางพอร์เตอร์ ออกหนังสือเล่มถัดไปที่ชื่อว่า โพลีแอนนาโตขึ้น (Pollyanna Grows Up) (ค.ศ. 1915) หลังจากนั้นต่อมา ก็มีนักเขียนอื่น ๆ ที่เขียนหนังสือต่ออีกอย่างน้อย 11 เล่ม รวมทั้งหนังสือที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 1997 โพลีแอนนาเป็นหนังสือที่จัดทำเป็นภาพยนตร์หลายครั้งหลายหน ที่รู้จักกันดีที่สุดถ่ายโดยบริษัทเดอะวอลต์ดิสนีย์ในปี ค.ศ. 1960 ที่ดาราเด็กตัวเอกได้รับรางวัลออสการ์

โพลีแอนนา (Pollyanna)
alt = ปกพิมพ์ฉบับแรก
ผู้ประพันธ์เอเลนอร์ พอร์เตอร์
สำนักพิมพ์L.C. Page
วันที่พิมพ์1913
ISBN1-55748-660-3
OCLC33897078
เรื่องถัดไปโพลีแอนนาโตขึ้น (Pollyanna Grows Up) 

เรื่องย่อ

แก้

ตัวละครเอกเป็นเด็กหญิงกำพร้าชื่อโพลีแอนนา วิทตีเออร์[2] ผู้ย้ายไปอยู่ในรัฐเวอร์มอนต์ กับน้าหญิงทึนทึกผู้ร่ำรวยแต่เย็นชาชื่อว่า น้าโพลี่ ผู้ไม่ต้องการเลี้ยงโพลีแอนนา แต่จำยอมโดยรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อพี่สาวของตนคือแม่ของโพลีแอนนา ปรัชญาชีวิตของเด็กหญิง มีหลักอยู่ที่เกมที่เด็กเรียกว่า "เกมดีใจ (The Glad Game)" ซึ่งเป็นทัศนคติมองโลกในแง่ดี ที่ได้มาจากคุณพ่อที่เสียไปแล้วของตน เป็นเกมหาอะไรสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อที่จะให้ดีใจได้ ในสถานการณ์ทุกสถานการณ์ ซึ่งเริ่มขึ้นในวันคริสต์มาสวันหนึ่ง ที่โพลีแอนนาหวังว่าจะได้ตุ๊กตาในกล่องที่คนบริจาคมา แต่กลับได้ไม้ยันรักแร้ (สำหรับใช้เดิน) คู่หนึ่ง คุณพ่อของโพลีแอนนาจึงได้ตั้งเกมขึ้นในตอนนั้น โดยให้โพลีแอนนามองสถานการณ์ในแง่ดี ซึ่งในตอนนั้น ให้ดีใจเกี่ยวกับไม้ยันรักแร้ว่า "เราไม่ต้องใช้มัน"

ด้วยหลักปรัชญานี้ พร้อมกับบุคลิกภาพที่รื่นเริง จริงใจ และเห็นใจผู้อื่น โพลีแอนนาได้กระจายความใจดีของเธอ ไปให้กับคนทั้งเมืองที่ปกติไม่ค่อยมีชีวิตชีวา จนกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ เกมดีใจ ได้ปกป้องเธอจากความเข้มงวดของคุณน้า คือ เมื่อน้าโพลี่จัดให้เธออยู่ที่ห้องชั้นบนสุดใต้หลังคาที่อบอ้าว ที่ไม่มีพรมปูและไม่มีเครื่องประดับหรือรูปให้ดู เธอกลับดีอกดีใจเพราะได้วิวที่สวยจากหน้าต่างที่สูง และเมื่อคุณน้าตั้งใจลงโทษเธอเพราะมาทานอาหารเย็นสาย โดยให้ทานแต่ขนมปังกับนมในห้องครัวกับคนใช้ชื่อแนนซี่ โพลีแอนนากลับขอบอกขอบใจเธออย่างดี เพราะเธอชอบขนมปังและนม และเธอก็ชอบพี่แนนซี่ด้วย

ต่อมาไม่นาน โพลีแอนนาก็ได้สอนคนที่จิตใจแย่ที่สุดในเมืองให้เล่นเกมด้วย เริ่มตั้งแต่คนพิการจอมขี้บ่นชื่อว่านางสโนว์ ไปจนถึงชายโสดจอมขี้เหนียวชื่อว่านายเพ็นเดิลตัน ที่อยู่คนเดียวในคฤหาสถ์แสนไม่เรียบร้อย แม้น้าโพลี่เองก็เจอเองด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ความรู้สึกว่าตนจัดการอะไรกับโพลีแอนนาไม่ได้ เพราะเด็กน้อยไม่รู้สึกเศร้าเพราะเรื่องอะไรสักอย่าง และน้าโพลี่ก็เริ่มคลายความเย็นชาที่มีต่อโพลีแอนนาไป แม้ว่าจะต่อต้านต่อเกมดีใจนานมากกว่าคนอื่นทั้งหมด

แต่ในที่สุด การมองโลกในแง่ดีที่ใคร ๆ หักล้างมิได้ของโพลีแอนนา ก็ได้รับบทพิสูจน์เมื่อเธอถูกรถชน ทำให้ขาทั้งสองพิการ ตอนแรก เธอไม่รู้ว่าเธออาการสาหัสแค่ไหน แต่เมื่อเธอรู้เรื่องโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ใจของเธอก็ตกลง หลังจากนั้น เธอก็ได้แต่นอนอยู่ในเตียง โดยที่ไม่สามารถหาอะไรเพื่อที่จะดีใจได้ แต่ชาวเมืองก็เริ่มจะมาเยี่ยมเธอที่บ้าน เพื่ออยากจะให้โพลีแอนนารู้ว่า การให้กำลังใจของเธอได้เปลี่ยนชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นขนาดไหน และในที่สุดโพลีแอนนาก็ปลงใจได้ว่า เธอยังดีใจได้ว่า เธอได้มีขา (จึงได้ช่วยเหลือชาวเมืองได้) หนังสือจบลงที่น้าโพลี่ แต่งงานกับคนรักเก่าที่ทะเลาะกันมานานคือคุณหมอชิลตัน และโพลีแอนนาไปอยู่ที่ รพ. ที่เธอต้องเรียนรู้การเดินใหม่ แล้วชื่นชมการเดินได้ยิ่ง ๆ ขึ้น สืบเนื่องจากความพิการที่มีชั่วคราว

อิทธิพล

แก้

ถ้าคุณหาเรื่องร้าย หวังว่าจะได้เรื่องร้าย คุณก็จะได้มัน เมื่อคุณรู้ว่าคุณจะได้เรื่องดี คุณก็จะได้มัน

— โพลีแอนนา[3]

ความสำเร็จของนวนิยาย ทำให้เกิดศัพท์อังกฤษใหม่ ๆ ขึ้น คือคำวิเศษณ์ว่า "Pollyannaish" และคำนามว่า "Pollyannaism"[4][5] ซึ่งหมายถึงบุคลิกภาพที่มองโลกในแง่ดีแบบหักล้างไม่ได้ ซึ่งจะปรากฏอย่างชัดเจน เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่เลวร้ายน่าท้อใจที่สุด แต่บางครั้งก็ใช้ในอรรถดูถูก คือหมายถึงบุคคลที่มองโลกในแง่ดี[6][7] จนกระทั่งเหมือนคนซื่อบื้อ หรือเหมือนคนไม่ยอมรับความจริงในสถานการณ์ที่แสนเลวร้าย คำดูถูกนี้สามารถได้ยินในเพลงที่แต่งในปี ค.ศ. 1930 ของจอร์จและไอรา เกิร์ชวิน ชื่อ แต่ไม่ใช่สำหรับฉัน (But Not For Me) ว่า "ฉันไม่ต้องการที่จะฟังคำจากพวกโพลีแอนนาที่แสนร่าเริง / ผู้จะบอกฉันว่า ชะตากรรมนั้นจะมากับเพื่อนด้วย / นั่นเป็นเรื่องโง่ ๆ" ซึ่งเป็นเพลงที่ร้องโดยจูดี การ์แลนด์ ในภาพยนตร์ปี ค.ศ. 1943 ด้วย[8][9]

จนถึงปี ค.ศ. 2015 หนังสือยังมีขายเป็นฉบับพิมพ์ใหม่[10] ตอนที่นิยมสูงสุด โพลีแอนนารู้จักกันว่า "The Glad Girl" และพี่น้องพาร์คเกอร์ผู้สร้างเกมเศรษฐีในรูปแบบปัจจุบัน ถึงกับสร้างเกมกระดาน เรียกว่า The Glad Game[11] มีแม้กระทั่งละครที่เล่นในถนนบรอดเวย์ในปี ค.ศ. 1916 ชื่อว่า "Pollyanna Whittier, The Glad Girl"[12]

นักเขียนคนหนึ่งเปรียบเทียบโพลีแอนนา กับพระเอกนางเอกในวรรณกรรมเด็กที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ รวมทั้ง ลอร์ดน้อยฟอนเติลรอย (Little Lord Fauntleroy), รีเบ็กกาแห่งไร่ซันนี่บรุก (Rebecca of Sunnybrook Farm), และ สวนดอกไม้ลับ (The Secret Garden) ที่เขียนในยุคทองหนังสือเด็กอเมริกัน (ตั้งแต่สงครามกลางเมืองอเมริกาจนถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) เขาชมหนังสือว่า "เป็นวรรณกรรมที่ซับซ้อน เต็มเปี่ยมไปด้วยความหมายที่ซ่อนเร้น" และเห็นโพลีแอนนาว่า ไม่ใช่เด็กที่ไม่รู้เรื่องอะไร แต่เป็นบุคคลที่มีพรสวรรค์ ในการใช้การมองในแง่ดีแบบสุดโต่งและความเป็นคนดีของตน เพื่อจัดการอารมณ์เชิงลบ และความคิดแบบโลก ๆ ที่มองโลกในแง่ร้ายที่ไร้ความหวัง ของผู้ใหญ่ในชีวิตของเธอ[13]

ชมรมดีใจ (Glad Clubs) ได้รับความนิยมชั่วระยะหนึ่ง แต่อาจจะเป็นเพียงแค่แผนการโฆษณาอย่างหนึ่ง[ต้องการอ้างอิง] หรืออาจจะเป็นวิธีเพิ่มความนิยมให้กับ "เกมดีใจ" เพื่อใช้เผชิญหน้ากับความยากลำบากของชีวิต เช่น ความสูญเสียสิ่งหรือบุคคลที่รัก ความผิดหวัง และความทุกข์เสียใจ อย่างไรก็ดี โดยปี ค.ศ. 2008 ก็ยังเหลือชมรมดีใจอย่างน้อยหนึ่งแห่งในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด[14]

ในปี ค.ศ. 2002 ประชาชนชาวเมืองลิตเติลตัน รัฐนิวแฮมป์เชียร์ได้ตัดโบว์รูปปั้นทองเหลือง เพื่อระลึกถึงนางเอเลนอร์ พอร์เตอร์ ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ และเป็นคนที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งที่เคยอาศัยอยู่ในเมือง เป็นรูปปั้นแสดง ด.ญ. โพลีแอนนาพร้อมกับรอยยิ้ม และแขนที่อ้ากว้างเป็นการทักทาย นอกจากนั้น เมืองลิตเติลตันยังจัดงานที่เรียกว่า "The Official Pollyanna Glad Day (วันดีใจโดยเป็นทางการของโพลีแอนนา)" ทุก ๆ ฤดูร้อน[15]

รายชื่อหนังสือโพลีแอนนา

แก้
  • เอเลนอร์ พอร์เตอร์
    • Pollyanna: The First Glad Book
    • Pollyanna Grows Up: The Second Glad Book
  • Harriet Lummis Smith
    • Pollyanna of the Orange Blossoms: The Third Glad Book
    • Pollyanna's Jewels: The Fourth Glad Book
    • Pollyanna's Debt of Honor: The Fifth Glad Book
    • Pollyanna's Western Adventure: The Sixth Glad Book
  • Elizabeth Borton
    • Pollyanna in Hollywood: The Seventh Glad Book
    • Pollyanna's Castle in Mexico: The Eighth Glad Book
    • Pollyanna's Door to Happiness: The Ninth Glad Book
    • Pollyanna's Golden Horseshoe: The Tenth Glad Book
    • Pollyanna and the Secret Mission: The Fourteenth Glad Book [written out of sequence]
  • Margaret Piper Chalmers
    • Pollyanna's Protegee: The Eleventh Glad Book
  • Virginia May Moffitt
    • Pollyanna at Six Star Ranch: The Twelfth Glad Book
    • Pollyanna of Magic Valley: The Thirteenth Glad Book

รุ่นต่อ ๆ มา

แก้
  • Colleen L. Reece
    • Pollyanna Comes Home
    • Pollyanna Plays the Game

การดัดแปลงเป็นภาพยนตร์

แก้

เชิงอรรถและอ้างอิง

แก้
  1. "Pollyanna: Spirit of Optimism Born Out of War". NPR. สืบค้นเมื่อ 2010-09-26.
  2. "Pronunciation of Whittier". สืบค้นเมื่อ 2015-07-07.
  3. "Polyanna - chapter XXII". chapter XXII. When you look for the bad, expecting it, you will get it. When you know you will find the good—you will get that....
  4. "Pollyanna", Merriam-Webster Collegiate Dictionary, 11th Edition, Springfield, Massachusetts, USA: Merriam-Webster, Inc., 2003, a person characterized by irrepressible optimism and a tendency to find good in everything
  5. "Pollyannaish", Merriam-Webster Collegiate Thesaurus, 1.0, 2005, OPTIMISTIC, fond, sanguine, upbeat
  6. "Pollyanna", Babylon English-English Dictionary, 5.1, 2000, person who is overly optimistic
  7. "Pollyanna", The Concise Oxford Dictionary of Current English (8 ed.), 2003, an excessively cheerful person
  8. "Girl Crazy". IMDb. สืบค้นเมื่อ 2015-06-17.
  9. Gershwin, George. "But Not For Me lyrics". LyricsMania.com. สืบค้นเมื่อ 2015-06-17.
  10. "Pollyanna". Barnes & Noble. สืบค้นเมื่อ 2015-03-06.
  11. Polyanna The Great Home Game (Image). สืบค้นเมื่อ 2015-03-06. ภาพตีตราว่า "ฟรีที่จะแจกจ่ายและใช้ได้" โดย Bing
  12. "Pollyanna". Internet Broadway Database. สืบค้นเมื่อ 2015-03-06.
  13. Griswold, Jerome (2014). Audacious Kids: Coming of Age in America's Classic Children's Books (Revised ed.). Johns Hopkins University Press. ISBN 978-1421414577.
  14. "The Pollyanna Glad Club". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-20.
  15. "2 (Littleton's Pollyanna Glad Days)".

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
หนังสือ
  • Keith, Lois. Take Up Thy Bed and Walk: Death, Disability and Cure in Classic Fiction for Girls. Routledge: 2001.
เว็บไซต์