โทดอินเดอะโฮล (อังกฤษ: toad in the hole) หรือ ซอซิจโทด (sausage toad) เป็นอาหารของชาวอังกฤษ[1][2] ประกอบด้วยไส้กรอกในแป้งนวดเหลวสำหรับยอร์กเชอร์พุดดิง โดยทั่วไปนิยมเสิร์ฟเคียงกับเกรวีหอมใหญ่และผัก[3] ในสมัยก่อนยังนิยมใช้เนื้อประเภทอื่น ๆ เช่นเนื้อสะโพกวัวหรือไตแกะ เป็นต้น

โทดอินเดอะโฮล
โทดอินเดอะโฮลที่อบเสร็จพร้อมเสิร์ฟ
ชื่ออื่นซอซิจโทด
แหล่งกำเนิดสหราชอาณาจักร
ภูมิภาคอังกฤษ
อุณหภูมิเสิร์ฟร้อน
ส่วนผสมหลักไส้กรอก แป้งนวดเหลวสำหรับยอร์กเชอร์พุดดิงและเกรวีหอมใหญ่

ต้นกำเนิด แก้

พุดดิงที่ทำจากแป้งนวดเหลวเริ่มได้รับความนิยมในช่วงต้นศตวรรษที่ 18[4] เจนนิเฟอร์ สเตด นักเขียนด้านอาหารได้อ้างถึงหลักฐานสูตรอาหารที่คล้ายคลึงกับโทดอินเดอะโฮลจากช่วงกลางศตวรรษที่ 18[5] ซึ่งในช่วงเวลานั้นคนครัวทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษเริ่มนิยมใช้ดริปปิงหรือมันที่หยดออกมาจากเนื้อขณะอบหรือย่างเพื่อทำให้พุดดิงกรอบมากขึ้น ในขณะที่ชาวอังกฤษทางใต้จะทำยอร์กเชอร์พุดดิงที่เนื้อนิ่มกว่า[6]

หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบที่อ้างถึงโทดอินเดอะโฮลนั้นย้อนไปได้ถึง ค.ศ. 1762 ซึ่งระบุว่าเป็นชื่อเรียกที่ "หยาบคาย" สำหรับใช้เรียก "เนื้อวัวชิ้นเล็กอบในพุดดิงขนาดใหญ่"[7] เดิมทีเดียวนั้นโทดอินเดอะโฮลคิดค้นขึ้นเพื่อให้ครอบครัวที่ยากจนใช้เนื้อปริมาณน้อยทำอาหารได้นานขึ้น[8] ผู้เขียนตำราอาหารสมัยนั้นจึงแนะนำให้ใช้เนื้อที่ราคาถูกที่สุดมาทำโทดอินเดอะโฮล ตัวอย่างได้แก่ในตำรา ดิอาร์ตออฟคุกเคอรีเมดเพลนแอนด์อีซี ของฮันนาห์ กลาส ใน ค.ศ. 1747 ซึ่งอ้างถึงสูตรการทำ "พิเจียนอินอะโฮล" โดยให้ใช้เนื้อนกพิราบแทนไส้กรอก[9] ใน ค.ศ. 1861 อิซาเบลลา บีตัน ได้เขียนสูตรอาหารที่คล้ายคลึงกันโดยใช้เนื้อสะโพกวัวและไตแกะ ส่วนตำราของชาลส์ เอลเม ฟรังคาเตลลี ใน ค.ศ. 1852 ระบุให้ใช้เนื้อ "ราคาหกเพนนีหรือหนึ่งชิลลิง"[10] ในตำราอาหารอิตาลีสมัยใหม่อ้างถึงโทดอินเดอะโฮลว่าเป็น "เนื้อสตูปรุงซ้ำของอังกฤษ" (lesso rifatto all'inglese)[11] ซึ่งเน้นย้ำว่าให้ใช้เนื้อที่เหลือจากสตูมาปรุงซ้ำในแป้งยอร์กเชอร์พุดดิง

ชื่อเรียก แก้

แต่เดิมนั้นอาหารชนิดนี้ไม่ได้ใช้ชื่อเรียกว่า "โทดอินเดอะโฮล" ตัวอย่างเช่นในหนังสือ อะโพรวินเชียลกลอสซารี ระบุชื่อเรียกว่าเป็น "meat boiled in a crust" คำว่า "โฮล" ปรากฏเป็นครั้งแรก (นอกเหนือจากงานเขียนของฮันนาห์ กลาส ที่ได้กล่าวไปแล้ว) ในงานตีพิมพ์ในวารสาร โนตส์แอนด์เควียรีส์ ใน ค.ศ. 1900 ซึ่งระบุว่าเป็น "แป้งพุดดิงที่มีรูตรงกลางซึ่งมีเนื้ออยู่ภายใน"[8] แม้ว่าจะมีผู้เชื่อว่าแต่เดิมอาจจะเคยใช้คางคก (toad) มาทำ แต่ไม่พบหลักฐานว่าเป็นความจริงแต่อย่างใด[8] ที่มาของชื่อนั้นไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคางคกที่จะดักซุ่มอยู่ในรูและโผล่เฉพาะส่วนศีรษะให้เห็นซึ่งคล้ายกับการที่ไส้กรอกโผล่ออกมาจากตัวแป้ง[8][12] หรืออาจจะมาจากปรากฏการณ์ที่กบหรือคางคกถูกพบว่ายังมีชีวิตอยู่ในก้อนหิน ซึ่งเป็นเรื่องประหลาดทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีหลักฐานยืนยันในช่วงปลายศตวรรษที่ 18[13]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. John Ayto (18 October 2012). The Diner's Dictionary: Word Origins of Food and Drink. OUP Oxford. pp. 372–. ISBN 978-0-19-964024-9.
  2. Bridget White (2013). Anglo-Indian Cuisine - A Legacy of Flavours from the Past. AuthorHouse. p. xi. ISBN 9781477251638. สืบค้นเมื่อ 23 August 2018.
  3. Emily Ansara Baines (3 October 2014). The Unofficial Downton Abbey Cookbook: From Lady Mary's Crab Canapes to Daisy's Mousse Au Chocolat--More Than 150 Recipes from Upstairs and Downstairs. F+W Media, Inc. pp. 213–. ISBN 978-1-4405-8291-2.[ลิงก์เสีย]
  4. Alan Davidson (21 August 2014). The Oxford Companion to Food. OUP Oxford. pp. 822–. ISBN 978-0-19-104072-6.
  5. Jennifer Stead (1985). Georgian Cookery: Recipes & History. English Heritage. ISBN 978-1-85074-869-4.
  6. Cloake, Felicity (15 Feb 2012). "How to cook perfect yorkshire puddings". The Guardian (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 27 September 2018.
  7. Mandelkern, India (11 October 2012). "The Secret History of Toad-in-a-Hole". Homo Gastronomicus. สืบค้นเมื่อ 3 May 2020.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Lavelle, Emma (20 June 2017). "How Toad-in-the-Hole Got Its Name". culture trip. สืบค้นเมื่อ 27 September 2018.
  9. Hyslop, Leah (24 July 2013). "Potted histories: toad in the hole". Telegraph. สืบค้นเมื่อ 9 September 2016.
  10. Francatelli, Charles Elme (1862). A Plain Cookery Book for the Working Classes. ISBN 0-946014-15-9.
  11. Pellegrino Artusi (1 February 2015). La scienza in cucina e l'arte di mangiar bene. E-text. ISBN 978-88-97313-74-8.
  12. Duncan McCorquodale (2009). A Visual History of Cookery. Black Dog. ISBN 978-1-906155-50-6.
  13. Jan Bondeson (1999). The Feejee Mermaid and Other Essays in Natural and Unnatural History. Cornell University Press. p. 297. ISBN 9780801436093. สืบค้นเมื่อ 23 August 2018.