ยอร์กเชอร์พุดดิง

ยอร์กเชอร์พุดดิง (อังกฤษ: Yorkshire pudding) เป็นพุดดิงอบที่ทำจากแป้งนวดเหลวที่มีส่วนผสมได้แก่ไข่ แป้ง และนมหรือน้ำ[1] ยอร์กเชอร์พุดดิงเป็นเครื่องเคียงที่นิยมรับประทานในสหราชอาณาจักรซึ่งสามารถเสิร์ฟได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับส่วนผสม ขนาด และอาหารที่จะรับประทานคู่ ถ้าเสิร์ฟเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยจะเสิร์ฟคู่กับเกรวีหอมใหญ่ ถ้าเสิร์ฟเป็นอาหารจานหลักจะเสิร์ฟร่วมกับเนื้ออบและน้ำเกรวี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเนื้ออบวันอาทิตย์ตามธรรมเนียมบริติชดั้งเดิม แต่ก็ยังสามารถใช้เป็นจานรองสำหรับบรรจุไส้กรอกและมันฝรั่งบดได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มไส้กรอกลงไปเพื่อทำเป็นอาหารอีกจานหนึ่งที่เรียกว่าโทดอินเดอะโฮลได้ด้วย วลี "ยอร์กเชอร์พุดดิง" ปรากฏในงานตีพิมพ์ครั้งแรกโดยฮันนาห์ กลาส นักเขียนตำราอาหารชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 18

ยอร์กเชอร์พุดดิง
ยอร์กเชอร์พุดดิง
ชื่ออื่นยอร์กเชอร์
ประเภทพุดดิง
แหล่งกำเนิดสหราชอาณาจักร
ภูมิภาคตอนเหนือของประเทศอังกฤษ
ส่วนผสมหลักนมหรือน้ำ แป้ง และไข่
ยอร์กเชอร์พุดดิง

ยอร์กเชอร์พุดดิงมีลักษณะคล้ายกับพอปโอเวอร์ของอเมริกันซึ่งทำจากส่วนผสมเดียวกัน[2] และคล้ายกับแพนเค้กของชาวดัตช์ที่เรียกว่าดัดช์เบบี[3]

ประวัติศาสตร์ แก้

 
ยอร์กเชอร์พุดดิงขนาดเล็กซึ่งเสิร์ฟเคียงกับเนื้ออบวันอาทิตย์แบบดั้งเดิม
 
ยอร์กเชอร์พุดดิงใช้เป็นภาชนะบรรจุมันฝรั่งบด เนื้อวัว เกรวี และผัก
 
ยอร์กเชอร์พุดดิงทอดในกระทะเหล็กหล่อขนาด 22 เซนติเมตร

เมื่อผู้คนในสหราชอาณาจักรเริ่มใช้แป้งสาลีเป็นหลักเพื่ออบเค้กและพุดดิง คนครัวทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษก็เริ่มคิดหาวิธีที่จะใช้ดริปปิงหรือมันที่หยดลงมาจากเนื้อระหว่างอบเพื่อทอดพุดดิงในระหว่างที่อบเนื้อ ใน ค.ศ. 1737 ตำราอาหาร เดอะโฮลดิวทีออฟอะวูมัน ของเซอร์อเล็กซานเดอร์ วิลเลียม จอร์จ เคสซีย์ ได้กล่าวถึงวิธีการปรุง "ดริปปิงพุดดิง" ไว้ว่า:[4]

Make a good batter as for pancakes; put in a hot toss-pan over the fire with a bit of butter to fry the bottom a little then put the pan and butter under a shoulder of mutton, instead of a dripping pan, keeping frequently shaking it by the handle and it will be light and savoury, and fit to take up when your mutton is enough; then turn it in a dish and serve it hot.

วิธีการปรุงในลักษณะเดียวกันปรากฏในหนังสือ ดิอาร์ตออฟคุกเคอรีเมดเพลนแอนด์อีซี ของฮันนาห์ กลาส ใน ค.ศ. 1747 ฮันนาห์ได้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก "ดริปปิงพุดดิง" เป็น "ยอร์กเชอร์พุดดิง" ซึ่งยอร์กเชอร์พุดดิงในสมัยนั้นจะแบนราบกว่าแบบที่ปรากฏในปัจจุบัน[5] วิลเลียม ซิตเวลล์เสนอว่าชื่อ "ยอร์กเชอร์" นั้นน่าจะมาจากการที่พื้นที่ยอร์กเชอร์เป็นแหล่งถ่านหินที่เป็นที่รู้จักแหล่งหนึ่ง ซึ่งให้ความร้อนสูง ความร้อนจากถ่านหินของยอร์กเชอร์น่าจะมีส่วนทำให้แป้งพุดดิงกรอบกว่าปกติ[6]

เดิมทีเดียวนั้นยอร์กเชอร์พุดดิงจะเสิร์ฟเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยโดยราดน้ำเกรวีข้นลงไปด้วย เพื่อถ่วงท้องแขกไม่ให้รับประทานเนื้อในอาหารจานหลักซึ่งมีราคาแพงกว่ามากเกินไป[7] เนื่องจากน้ำเกรวีจากเนื้ออบถูกใช้ในอาหารเรียกน้ำย่อยไปแล้ว อาหารจานหลักในช่วงนั้นได้แก่เนื้อและผักก็มักจะเสิร์ฟเคียงกับซอสผักชีฝรั่งหรือซอสขาว[8] ในครอบครัวที่ยากจนจะรับประทานยอร์กเชอร์พุดดิงเป็นมื้อหลัก โดยใช้ดริปปิงหรือไขมันสัตว์[9]ร่วมกับแป้ง ไข่ และนม และจะรับประทานเคียงกับเกรวีหรือซอสเพื่อให้พุดดิงชุ่ม

วิธีปรุง แก้

ยอร์กเชอร์พุดดิงจะปรุงโดยการเทแป้งนวดเหลวที่ทำจากนม แป้ง และไข่ลงในถาดอบที่ทาน้ำมันและอบให้ร้อนเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว อาจใช้ถ้วยขนาดเล็กหรือถาดสำหรับทำมัฟฟินแทนได้ถ้าต้องการยอร์กเชอร์พุดดิงขนาดเล็ก ส่วนผสมของแป้งนวดโดยทั่วไปจะใช้แป้ง 140 กรัม ไข่ 4 ฟอง และนม 200 มิลลิลิตร[10] อย่างไรก็ตาม ถ้าใช้น้ำแทนนมจะได้ส่วนผสมที่เบาบางและอบได้กรอบกว่า แต่จะหวานน้อยกว่า[11] นอกจากนี้ยังสามารถทอดในกระทะเหล็กหล่อหรืออุปกรณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกันได้ด้วย[12][13] ตำราอาหารใน ค.ศ. 1926 ยังระบุว่ายอร์กเชอร์พุดดิงสามารถเสิร์ฟเป็นของหวานได้ โดยใช้กระดาษรองอบกันไขมันปิดด้านบนเพื่อนึ่งให้สุกและเสิร์ฟเคียงกับแยม เนย และน้ำตาล[14]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย แก้

ในสหราชอาณาจักรมีการฉลองวันยอร์กเชอร์พุดดิงแห่งชาติทุกวันอาทิตย์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ตั้งแต่ ค.ศ. 2007[11][15][16][17] ส่วนในสหรัฐจะฉลองในวันที่ 13 ตุลาคม[18]

ยอร์กเชอร์พุดดิงในปัจจุบันนิยมทำให้ฟู ราชสมาคมเคมีแห่งสหราชอาณาจักรได้เสนอใน ค.ศ. 2008 ว่า "ยอร์กเชอร์พุดดิงจะไม่ใช่ยอร์กเชอร์พุดดิงถ้ามันสูงไม่ถึง 4 นิ้ว [10 เซนติเมตร]"[19]

บริษัทที-โมไบล์ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสหราชอาณาจักรได้จัดอันดับความนิยมสิ่งที่ผู้คนรักเกี่ยวกับสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 2012 ยอร์กเชอร์พุดดิงได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่สิบ[20]

อ้างอิง แก้

  1. Siciliano-Rosen, Laura (22 October 2014). "Yorkshire Pudding". Encyclopaedia Britannica. สืบค้นเมื่อ 2 July 2018.
  2. McGee, Harold (16 November 2004). On Food and Cooking: The Science and lore of the Kitchen. p. 551. ISBN 9780684800011.
  3. Campbell-Schmitt, Adam (15 May 2018). "Dutch Baby or Yorkshire Pudding? Brits Argue Their Savory Dish Should Never Go Sweet". Food & Wine. สืบค้นเมื่อ 27 September 2018.
  4. Lady, A; Kenrick, William (1737). The Whole Duty of a Woman. London. pp. 468–9. สืบค้นเมื่อ 7 December 2017 – โดยทาง archive.org.
  5. Glasse, Hannah (1998) [1747]. The Art of Cookery Made Plain and Easy. Applewood Books. ISBN 978-1-55709-462-9.
  6. Sitwell, William (2015). A History of Food in 100 Recipes. William Collins. p. 136. ISBN 978-0-00-741200-6.
  7. "Old England Traditional Roast Beef and Yorkshire Pudding". food.com. สืบค้นเมื่อ 15 October 2015.
  8. "Secret of a perfect Yorkshire pud". BBC News. 14 November 2008. สืบค้นเมื่อ 14 November 2008.
  9. "The history and origins of the Yorkshire Pudding". Historic UK. สืบค้นเมื่อ 26 June 2022.
  10. "Best Yorkshire puddings". BBC Good Food. สืบค้นเมื่อ 8 March 2021.
  11. 11.0 11.1 Clay, Xanthe (30 January 2015). "Yorkshire puds aren't just for roasts – they're a cracking dessert, too". The Daily Telegraph. สืบค้นเมื่อ 20 December 2017.
  12. "Best Yorkshire Puddings". BBC Good Food. February 2009.
  13. "Yorkshire pudding isn't for dessert". www.thegazette.com (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2022-11-24.
  14. "1926 Recipes – Puddings and Pastry". Recipes Past and Present. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-17. สืบค้นเมื่อ 16 May 2018.
  15. Lindsay, Duncan (7 February 2016). "National Yorkshire Pudding Day: 9 delicious and easy yorkie dishes to blow your taste buds". Metro. สืบค้นเมื่อ 20 December 2017.
  16. Gorringe, Anne (4 February 2016). "Don't get in a stew about Yorkshire puddings: Find out everything about the delicacy". Sunday Express. สืบค้นเมื่อ 17 May 2018.
  17. "National Yorkshire Pudding Day – Sunday 4 February 2018". Yorkshire's Best Guides. 29 January 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-09-23. สืบค้นเมื่อ 17 May 2018.
  18. Lemoine, Yvan (2010). FoodFest 365!: The Officially Fun Food Holiday Cookbook. Simon and Schuster. p. 39. ISBN 9781440510007. สืบค้นเมื่อ 20 May 2018.
  19. "Yorkshire pudding must be four inches tall, chemists rule". Royal Society of Chemistry. 12 November 2008. สืบค้นเมื่อ 8 January 2014.
  20. "Bacon Butty Best of British". SWNS digital. 3 February 2012. สืบค้นเมื่อ 27 April 2020.[ลิงก์เสีย]