โซฟีแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค
โซฟีแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค (พระนามเต็ม โซฟี ฟรีเดอริเคอ มาทิลดา ; พระราชสมภพ 17 มิถุนายน 1818 – สวรรคต 3 มิถุนายน 1877) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์ ในฐานะพระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระเจ้าวิลเลิมที่ 3 แห่งเนเธอร์แลนด์[1] สมเด็จพระราชินีโซฟีทรงแยกกันอยู่กับพระเจ้าวิลเลิมตั้งแต่ปี 1855 แต่ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระราชินีต่อสาธารณชนเรื่อยมา ทรงเป็นที่รู้จักจากพระราชวิสัยทัศน์อันก้าวหน้า แนวคิดเสรีนิยม ที่มีความสอดคล้องกับแนวคิดของปัญญาชนที่มีชื่อเสียงหลายคนในยุคนั้น
โซฟีแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระสาทิสลักษณ์ ในปี 1861 | |||||
สมเด็จพระราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์ แกรนด์ดัชเชสแห่งลักเซมเบิร์ก ดัชเชสแห่งลิมบืร์ค | |||||
ดำรงพระยศ | 7 มีนาคม 1849 – 3 มิถุนายน 1877 (28 ปี 88 วัน) | ||||
ก่อนหน้า | อันนา ปัฟลอฟนาแห่งรัสเซีย | ||||
ถัดไป | เอ็มมาแห่งวัลเด็คและเพือร์ม็อนท์ | ||||
พระราชสมภพ | 17 มิถุนายน ค.ศ. 1818 พระราชวังลูทวิชส์บวร์ค ชตุทการ์ท เวือร์ทเทิมแบร์ค | ||||
สวรรคต | 3 มิถุนายน พ.ศ. 1877 (58 พรรษา) เฮาส์เทินบอช กรุงเฮก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ | ||||
ฝังพระศพ | 20 มิถุนายน 1877 โบสถ์ใหม่เมืองเดลฟท์ เดลฟท์ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ | ||||
คู่อภิเษก | พระเจ้าวิลเลิมที่ 3 แห่งเนเธอร์แลนด์ (สมรส 1839) | ||||
พระราชบุตร | |||||
| |||||
ราชวงศ์ | เวือร์ทเทิมแบร์ค (พระราชสมภพ) ออเรนจ์-นัสเซา (อภิเษกสมรส) | ||||
พระราชบิดา | พระเจ้าวิลเฮ็ล์มที่ 1 แห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค | ||||
พระราชมารดา | เยกาเจรีนา ปัฟลอฟนาแห่งรัสเซีย |
พระราชประวัติ
แก้โซฟีเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1818 ในชตุทการ์ท ราชอาณาจักรเวือร์ทเทิมแบร์ค ในฐานะ เจ้าฟ้าหญิงโซฟีแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค เป็นพระราชธิดาในพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 แห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค พระราชสมภพแต่เยกาเจรีนา ปัฟลอฟนาแห่งรัสเซีย สมเด็จพระราชินีแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค พระราชธิดาพระองค์ที่ 4 ในจักรพรรดิพอลที่ 1 แห่งรัสเซีย ไม่นานหลังจากที่โซฟีเสด็จพระราชสมภพ พระราชมารดาก็เสด็จสวรรคต ทำให้ทรงถูกอบรมดูแลโดยพระราชปิตุจฉา เจ้าหญิงคาธารินา ฟรีเดอริเค นอกจากนี้ยังเป็นพระราชภาคิไนยของจักรพรรดิอเล็กซันดร์ที่ 1 และจักรพรรดินิโคไลที่ 1 แห่งรัสเซีย
ทรงมีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์โบนาปาร์ตผ่านทางพระราชมาตุจฉา และทรงคุ้นเคยกับทั้งนโปเลียนที่ 3 และเจ้าหญิงมาตีลด์ โบนาปาร์ต ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โซฟีทรงได้รับแนวคิดเสรีนิยมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ผ่านทางพระราชบิดาที่มีพระราชวิสัยทัศน์ก้าวไกล และทรงสนับสนุนประชาธิปไตยมากกว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[2]
เจ้าหญิงแห่งออเรนจ์
แก้เจ้าหญิงโซฟีอภิเษกสมรสกับพระญาติชั้นที่ 1 เจ้าชายวิลเลิมแห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทรงเป็นเจ้าชายแห่งออเรนจ์ (ภายหลังคือ พระเจ้าวิลเลิมที่ 3 แห่งเนเธอร์แลนด์) ณ เมืองชตุทการ์ท เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 1839 ด้วยความคิดที่ว่าในที่สุดพระองค์จะทรงประสบความสำเร็จในการครอบงำเจ้าชายพระองค์นั้น[3]
การแต่งงานถูกจัดขึ้น ขณะที่พระราชบิดาของพระองค์ทรงเป็นพวกเสรีนิยมก้าวหน้าในด้านอื่น ๆ แต่ยังคงชอบการแต่งงานของราชวงศ์และปรารถนาให้พระราชธิดาอภิเษกกับพระมหากษัตริย์ ก่อนการอภิเษกสมรส พระเจ้าโอซอนแห่งกรีซและดยุควิลเฮล์มแห่งเบราน์ชไวค์ทรงเคยเป็นพระคู่หมั้นของเจ้าหญิงโซฟี การหมั้นหมายกับพระองค์แรก เป็นโมฆะเพราะพระราชบิดาผู้ทะเยอทะยานของเจ้าหญิงโซฟีทรงไม่มั่นใจในระบอบราชาธิปไตยของกรีกที่พระเจ้าโอซอนทรงจัดตั้งขึ้น ส่วนพระองค์ที่สองนั้น พระราชบิดาของพระองค์ปล่อยข่าวให้ดยุกวิลเฮล์มรู้ว่าเจ้าหญิงโซฟีมีพระคู่หมั้นแล้ว โซฟีเองก็ทรงโปรดที่จะอภิเษกวิลเฮล์มแห่งเบราน์ชไวค์ แต่ทรงยืนกรานที่จะอภิเษกสมรสกับเจ้าชายวิลเลิมแห่งเนเธอร์แลนด์ เพื่อเป็นการเสียสละที่ทรงทำเพื่อพระราชบิดา[2]
หลังจากอภิเษกสมรสกันแล้ว เจ้าชายวิลเลิมและเจ้าหญิงโซฟีเสด็จไปประทับ ณ พระราชฐานในกรุงเฮก ทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับ พระเจ้าวิลเลิมที่ 2 แห่งเนเธอร์แลนด์ พระสัสสุระ[2] แต่พระนางวิลเฮลมีเนอแห่งปรัสเซีย พระราชชนนีในพระเจ้าวิลเลิม ทรงต่อต้านการแต่งงานโดยสิ้นเชิง กับพระนางอันนา ปัฟลอฟนาแห่งรัสเซีย พระสัสสุเองความสัมพันธ์ก็ไม่ค่อยจะดีนัก ถึงแม้พระนางอันนาก็เป็นพระมาตุจฉาของเจ้าหญิงโซฟี แต่พระนางก็ไม่เคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพระขนิษฐาซึ่งเป็นพระราชมารดาของโซฟี และพระนางยังทรงคัดค้านการอภิเษกสมรสระหว่างโซฟีกับพระราชโอรสของพระนาง[2]
ชีวิตสมรสของเจ้าชายวิลเลิมและเจ้าหญิงโซฟีนั้นไม่ค่อยมีความสุข แม้แต่พระประสูติกาลพระราชบุตรก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองพระองค์ดีขึ้นเลย ซึ่งการเลี้ยงดูพระราชบุตรก็เป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสองพระองค์มาอย่างต่อเนื่อง[2] เจ้าชายวิลเลิมก็ทรงนอกใจตลอดเวลา โซฟีเองก็ไม่ทรงโปรดการอยู่กับเจ้าชายและทรงอุทิศพระองค์เพื่อเพิ่มพูนความสนใจทางปัญญา ความรู้และการศึกษาในสาขาต่างๆ[2] ทั้งคู่ทรงมีการไตร่ตรองเรื่องการหย่าร้างตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ปัดตกไปเพราะเห็นว่าไม่สมควรกับพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินี ในอนาคต
สมเด็จพระราชินี
แก้ในเดือนมีนาคม ปี 1849 พระเจ้าวิลเลิมที่ 2 แห่งเนเธอร์แลนด์ เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน วิลเลิมและโซฟีจึงทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์ และเสด็จไปประทับ ณ พระราชวังนวร์ดแอ็งเดอ
สมเด็จพระราชินีโซฟีทรงติดต่อกับนักวิชาการชาวยุโรปหลายคนและทรงรักษาความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ทรงปกป้องและสนับสนุนงานศิลปะ ทรงสนับสนุนองค์กรการกุศลหลายแห่งไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ รวมถึงการคุ้มครองสัตว์และการก่อสร้างสวนสาธารณะ ในฐานะสมเด็จพระราชินี ทรงได้เข้าร่วมนิทรรศการอุตสาหกรรมในช่วงทศวรรษที่ 1860 และทรงมีส่วนร่วมในการศึกษาผู้มีปัญหาทางจิต นอกจากนี้ ยังทรงสนับสนุน Society for the Protection of Animals นอกจากนี้ สมเด็จพระราชินีโซฟียังสนับสนุนกลุ่มการเคลื่อนไหวสิทธิสตรีเมื่อแรกก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในเนเธอร์แลนด์
โซฟีเป็นพระราชินีที่ไม่ธรรมดา โดยทรงมีความคิดเห็นทางการเมืองและความสนใจทางวิทยาศาสตร์ที่เอนเอียงไปทางฝ่ายซ้าย และทรงมีมุมมองที่ไม่ยึดถือศาสนา และการที่ทรงรังเกียจกฎระเบียบในราชสำนักทำให้ทรงได้รับฉายาว่า "la reine rouge" ('The Red Queen' ราชินีสีแดง)
สมเด็จพระราชินีโซฟีเสด็จสวรรคตที่พระราชวังเฮาส์เทินบอช กรุงเฮก พระบรมศพทรงฉลองพระองค์ชุดในวันอภิเษกสมรสถูกฝังในโบสถ์เมืองเดลฟท์ เพราะในความคิดของพระองค์ พระชนม์ชีพนั้นได้จบลงแล้วในวันที่ทรงอภิเษกสมรส
พระราชบุตร
แก้สมเด็จพระราชินีโซฟีและพระเจ้าวิลเลิมที่ 3 แห่งเนเธอร์แลนด์ มีพระราชโอรสด้วยกัน 3 พระองค์ คือ
- เจ้าชายวิลเลิม เจ้าชายแห่งออเรนจ์ (วิลเลิม นีโกลาส อาเลกซันเดอร์ เฟรเดอริก กาเริล แฮ็นดริก; 4 กันยายน ค.ศ. 1840 – 11 มิถุนายน ค.ศ. 1879) ทรงดำรงพระยศเป็น เจ้าชายแห่งออเรนจ์ เป็นองค์รัชทายาทเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1849
- เจ้าชายเมาริทส์แห่งเนเธอร์แลนด์ (วิลเลิม เฟรเดอริก เมาริตส์ อาเลกซันเดอร์ แฮ็นดริก กาเริล; 15 กันยายน ค.ศ. 1843 – 4 มิถุนายน ค.ศ. 1850)
- เจ้าชายอเล็กซานเดอร์ เจ้าชายแห่งออเรนจ์ (วิลเลิม อาเลกซันเดอร์ กาเริล แฮ็นดริก เฟรเดอริก; 25 สิงหาคม ค.ศ. 1848 – 21 มิถุนายน ค.ศ. 1884) ทรงดำรงพระยศเป็น เจ้าชายออเรนจ์ ต่อจากพระเชษฐาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1879
ซึ่งทั้งหมดล้วนสิ้นพระชนม์ก่อนที่พระเจ้าวิลเลิมจะสวรรคต
พระราชอิสริยยศ
แก้- 17 มิถุนายน 1818 – 18 มิถุนายน 1839 : เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าฟ้าหญิงโซฟีแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค (Her Royal Highness Princess Sophie of Württemberg)
- 18 มิถุนายน 1839 – 7 มีนาคม 1849 : เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงโซฟี เจ้าหญิงแห่งออเรนจ์ (Her Royal Highness Princess Sophie, The Princess of Orange)
- 7 มีนาคม 1849 – 3 มิถุนายน 1877 : เฮอร์มาเจสตี สมเด็จพระราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์ (Her Majesty Queen of The Netherlands)
ตราอาร์มสมเด็จพระราชินีโซฟีแห่งเนเธอร์แลนด์ | ตราพระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระราชินีโซฟีแห่งเนเธอร์แลนด์ |
อ้างอิง
แก้- ↑ Hamer, Dianne (2011). Sophie: biografie van Sophie van Würtemberg (1818–1877) op basis van brieven en dagboeken. Uitgeverij Verloren. ISBN 978-90-8704-201-1.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Dieteren, Fia (13 มกราคม 2014). "Sophie van Württemberg". Digitaal Vrouwenlexicon van Nederland (ภาษาดัตช์). Huygens Institute, Koninklijke Nederlandse Akademie van Wetenschappen.
- ↑ van der Meulen, Dik (2013). Koning Willem III: 1817–1890 (ภาษาดัตช์). Boom. pp. 146–147. ISBN 978-94-6127-484-7.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ โซฟีแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค