แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด

แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด คือ แหล่งโบราณที่มีหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่ใหญ่ที่สุด และมีความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย ณ เวลานี้ [1] นับได้ตั้งแต่ยุคหินใหม่ สำริด เหล็ก เรื่อยมากระทั่งยุคปัจจุบัน กว่า 200 ชั่วอายุคน ตัวแหล่งขุดค้นตั้งอยู่ในเขตตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ภายในได้มีการขุดพบหลุมศพ กระดูกมนุษย์ เครื่องประดับ และไหโบราณลวดลายงดงาม ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงที่จังหวัดอุดรธานี คือประมาณ 4,500 ปี และในอนาคตอาจมีการสนับสนุนให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกอีกด้วย

แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด

ประวัติ แก้

 
การขุดค้นทางโบราณคดี ณ บ้านโนนวัด
 
เมล็ดข้าวที่ผ่านการเผาพบในภาชนะดินเผา
 
โครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ ที่นักโบราณคดีทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เป็นครั้งแรกที่โครงกระดูกมนุษย์ถูกบรรจุในภาชนะดินเผา
 
โครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่ อยู่ในลักษณะนอนงอเข่า ชันเข่า
 
โครงกระดูกมนุษย์ยุคสำริด คาดว่าน่าจะเป็นผู้นำชุมชน ดูจากสิ่งที่ประดับไว้กับโครงกระดูกจำนวนมาก
 
ภาชนะดินเผาที่ค้นพบ ณ บ้านโนนวัด มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ บ่งบอกถึงความชำนาญด้านงานช่าง

โครงการศึกษาวิจัย “The Development of An Iron Age Chiefdom : Phase Twor” เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ได้รับอนุญาตจากภารกิจการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้เข้ามาศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดีในประเทศ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งดำเนินการระหว่าง พ.ศ. 2538 ถึง 2542 ในบริเวณบ้านโนนวัด ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อศึกษาเรื่องราวของคนในประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะพัฒนาเข้าสู่อารยธรรมอย่างแท้จริงในช่วงคริสตกาล สาเหตุที่เลือกศึกษาในบริเวณนี้ เนื่องจากปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า มีอารยธรรมขอมโบราณที่เก่าแก่ คือ ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมวัน และปราสาทหินพนมรุ้ง อันเป็นถิ่นกำเนิดของกษัตริย์ที่สำคัญของราชวงศ์หนึ่งของขอมโบราณ คือ มหิธรปุระ

และหลังจากโครงการศึกษาวิจัย : The Development of An Iron Age Chiefdom : Phase Two สิ้นสุดโครงการลง และได้ข้อมูลในปริมาณมาก ดร.ไนเจล ชาง นักโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยเจมส์คุกประเทศออสเตรเลีย จึงสนใจเข้ามาศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงของสังคมลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน Environment Change and Society before Angkor : Ban Non Wat and the upper Mun River Catchment in Prehistory เพื่อเป็นการค้นคว้าเพิ่มเติมในส่วนของวิถีชีวิตในรอบ 5,000 ปี การแก้ปัญหาสภาวะแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนน้ำ และปัญหาน้ำท่วม โดยเริ่มจากการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของสังคมชาวนาสมัยแรกสุดในบริเวณนี้ ต่อด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีการใช้โลหะเป็นครั้งแรกๆ จากภายนอก คือ การใช้ทองแดง สำริด และเหล็ก จากนั้นจึงมีการเกิดขึ้นของสังคมแบบรัฐ มีผู้นำของสังคม ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับอารยธรรมทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทยและอายธรรมแห่งเมืองพระนครในประเทศกัมพูชาในระยะเวลาต่อมา

การขุดค้นทางโบราณคดี ณ บ้านโนนวัด แก้

โครงการวัด ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.โครงการช่วงที่ 1. The Development of An Iron Age Chiefdom : Phase Two โดย ศาสตราจารย์ชาร์ล ไฮแอม จากมหาวิทยาลัยโอทาโก นิวซีแลนด์

เมือง พระนครหรือเมืองหลวงของอาณาจักรเขมรเคยเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรือง ยิ่งใหญ่ทางวัฒธรรมทางแถบศูนย์สูตร มีความน่าสนใจเทียบเท่ากับอาณาจักรของชนเผ่ามายาในประเทศกัวเตมาลาและ เม็กซิโก แต่ยังไม่มีนักวิชาการใดได้ศึกษาอย่างจริงจัง การศึกษาความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของอาณาจักรใดต้องศึกษาจากจารึกและโบราณ วัตถุหรือโบราณสถานของอาณาจักรนั้น

นครวัดเป็นหลักฐานที่ดียิ่งในการแสดงให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของ อาณาจักรเขมรได้เป็นอย่างดี ในอดีตการศึกษาร่องรอย อารยธรรมของเขมรไม่สามารถดำเนินการได้ในประเทศกัมพูชาด้วยปัญหาทางการเมือง นักวิจัยจึงได้เข้ามาศึกษาแหล่งโบราณคดีเนินอุโลก และบ้านโนนวัด จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีในยุคเดียวกันซึ่งได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมขอม โดยได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรให้เข้ามาขุดค้นแหล่งโบราณคดีดังกล่าว

จาก การขุดค้นในครั้งนั้นทำให้ทราบว่าแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัดเป็นการตั้งรกราก ของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโนนวัด จังหวัดนครราชสีมา แหล่งขุดค้นนี้มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นที่ตั้งรกรากของสังคมเกษตรกรรมสังคมแรกมีอายุราว 2,100 – 1,250 ปี ก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก จนถึงยุคประวัติศาสตร์ตอนต้น ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานคล้ายบ้านเชียง แต่สิ่งที่ขุดค้นได้จากแหล่งประวัติศาสตร์บ้านโนนวัดมีมากมายกว่าบ้านเชียง และยังคงสภาพความสมบูรณ์ไว้ได้ มีประโยชน์ต่อการศึกษาความต่อเนี่องของวัฒนธรรมโบราณ ซึ่งยังไม่เคยปรากฏขึ้นในประเทศไทย

โครงการช่วงที่ 2. Environment Change and Society before Angkor : Ban Non Wat and the upper Mun River Catchment in Prehistory โดย ดร.ไนเจล ชาง มหาวิทยาลัยเจมส์คุก ประเทศ ออสเตรเลีย

เนื่อง จากนักวิจัยได้ร่วมขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ได้ค้นพบข้อมูลก่อนประวัติศาสตร์มากมายที่แสดงถึงวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปในรอบ 5,000 ปี

นักวิจัยจึงประสงค์จะขุดค้นเพิ่มเติมอย่างละเอียดที่บ้านโนนวัด และสำรวจชั้นดินในอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดนครราชสีมาโดยมีประเด็นที่จะศึกษาดังนี้

1.ขุดค้นแหล่งโบราณคดีแห่งใหม่ที่บ้านโนนวัด เพื่อหาหลักฐานเกี่ยวกับอาชีพและประเพณีการฝังศพในยุคต่าง ๆ

2.สำรวจ และศึกษาวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รับน้ำที่อยู่เหนือบ้านโนนวัด ที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในอดีตของบ้านโนนวัด

3.สร้างฐานข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เกี่ยวกับบ้านโนนวัดซึ่งกรมศิลปากรสามารถเข้าไปใช้ข้อมูลได้

4.สำรวจและขุดค้นชั้นดิน (columns of soil) เพื่อ วิเคราะห์วิวัฒนาการของพืชและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในหมื่นปี ของบริเวณต่าง ๆ ในพื้นที่ชุ่มน้ำในจังหวัดนครราชสีมาเพื่อเทียบเคียงกับบ้านโนนวัด

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจำนวนมากในแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ มีอายุอยู่ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ครบทั้ง 4 ช่วง คือ ยุคหินใหม่ ยุคสำริด และยุคเหล็ก ต่อเนื่องจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ คือ ทวารวดี ขอม อยุธยา รัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน

ซึ่งการเข้ามาศึกษาวิจัยโดยนักวิจัยชาวต่างประเทศ ได้เข้ามาทำการวิจัยทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ และสังคมศาสตร์ในทุกสาขาวิชาการ อันเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และประวัติศาสตร์ รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนักวิจัยและประชาชนในชุมชนท้องถิ่น

ลำดับชั้นทางวัฒนธรรม แก้

1.ยุคหินใหม่ อยู่ในช่วงอายุประมาณ 3,000 – 3,700 ปี มาแล้ว

2.ยุคสัมฤทธิ์ มีอายุระหว่าง 2,500 – 3,000 ปีมาแล้ว

3.ยุคเหล็ก มีอายุประมาณ 1,500 – 2,500 ปีมาแล้ว


การดำรงชีวิตของชุมชนโบราณที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด แก้

กล่าวโดยสรุป ชุมชนโบราณที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัดมีการดำรงชีวิตหรือความเป็นอยู่โดยการเลี้ยงสัตว์จำพวก วัว ควาย หมู และสุนัข ล่าสัตว์และดักสัตว์จำพวกวัวป่า หมูป่า กวางป่า เนื้อสมัน ละอง / ละมั่ง เนื้อทราย เก้ง และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก จับสัตว์น้ำและสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก จำพวกปลา หอย เต่า และตะพาบน้ำ การบริโภคสัตว์นิยมกินไขกระดูก โดยการทุบขวางกระดูก (diaphysis) นอกจากนี้ยังมีการเพาะปลูกข้าวและการแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนภายนอก สภาพแวดล้อมรับแหล่งโบราณคดีเป็นที่ราบน้ำท่วมขังและมีแม่น้ำ ลำน้ำสาขา คลอง สระ หนอง ส่วนป่านั้นที่โดดเด่นคือป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าแดง หรือป่าเต็งรัง เพราะป่าเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้

ความสำคัญของโนนวัด แก้

การค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นการเปิดให้เห็นว่าบรรพบุรุษของคนไทยนั้นมีความเป็นมาที่ยาวนานถึง 4,000 ปี ในขั้นตอนของการศึกษาต่อไป หากมีการศึกษาข้อมูลตรงนี้อย่างจริงจัง จะทำให้เราเข้าใจบรรพบุรุษคนไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างแท้จริงได้ เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลของคนไทยย้อนหลังไปตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งหลักฐานที่พบที่นี่อาจจะเรียกได้ว่า เป็นข้อมูลใหม่ของโลกเลยก็ว่าได้ นับเป็นการค้นพบครั้งสำคัญของโลก

ความสำคัญต่อความรู้ทางโบราณคดีของมนุษยชาติที่เกิดขึ้นจากแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัดจะต้องถูกนำมาใช้เพื่อการเรียนรู้ ที่ทุกภาคส่วน ทุกระดับจะเข้าถึงได้ การจัดระบบข้อมูลทางวิชาการที่เป็นมาตรฐานยังคงต้องดำเนินต่อไป แต่ความรู้สำหรับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชุมชนและอนุชนรุ่นหลัง ควรจะต้องถูกพัฒนาขึ้นมา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะเป็นคำตอบที่จะต้องมีการแสวงหาแนวทางด้วยปัญญาของทุกภาคส่วนร่วมกันเพื่อบรรลุคำตอบที่ต้องการนี้


ความสำคัญระดับท้องถิ่น

1. เป็นเวลามากกว่า 2 ปีแล้ว ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้ร่วมทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยชาวต่างประเทศ และได้นำคณะครู อาจารย์ นักเรียนโรงเรียนในท้องถิ่น สถาบันการศึกษาต่างๆ และคณะผู้บริหารการปกครองระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น มาเยี่ยมชมการขุดค้นทางโบราณคดี และได้มีการนำข้อมูลทางโบราณคดีที่เกิดขึ้น ไปใส่ไว้ในการเรียนการสอนของโรงเรียนในท้องถิ่นอีกด้วย

2. ได้มีการร่วมกันพิจารณาอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากชุมชนเอง ได้ทำการประชาคม เพื่อต้องการให้มีการจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่น ซึ่งมุ่งหวังให้ลูกหลานได้ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน และยังเป็นการสร้างแรงดึงดูดด้านการท่องเที่ยว และในขณะเดียวกันยังจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนร่วมอยู่ด้วย

3. การที่โครงการขุดค้นทางโบราณคดีโดยนักวิจัยชาวต่างประเทศ ได้มีโอกาสการจ้างงานคนในหมู่บ้านอย่างน้อย 20 คน ในทุก ๆ ปี เป็นเวลากว่า 8 ปี ทำให้เกิดรายได้ และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน เพราะในหลุมขุดค้นนั้นประกอบไปด้วยนักวิจัยจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ชุมชนเกิดการเรียนรู้ ปรับตัว และนอกจากนี้นักวิจัยชาวต่างชาติยังได้ซึมซับเอาวัฒนธรรมที่สวยงามคนไทย เช่น การมีส่วนร่วมในพิธีกรรมต่างๆ ทั้งงานแต่งงาน งานศพ และการบูรณปฏิสังขรวัด นอกจากนี้ยังช่วยซื้อผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านกลับไปเผยแพร่ในต่างประเทศด้วย


ระดับชาติ และภูมิภาค

1. ทางด้านโบราณคดี งานวิจัยนี้ช่วยเติมช่องว่างของข้อมูลเกี่ยวกับก่อนประวัติศาสตร์ในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะโครงการที่บ้านโนนวัดขนาดใหญ่และทำต่อเนื่องกันเป็นเวลานานมากกว่าแหล่งโบราณคดีแหล่งอื่นๆ ในประเทศไทย โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการงานวิจัย เรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ส่วนที่เป็นรายละเอียด ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงยุโรปเท่านั้นที่มีการศึกษาในลักษณะเช่นนี้

2. การขุดค้นทำให้เกิดข้อมูลใหม่ เกี่ยวกับความสำคัญของสมัยหินใหม่ในประเทศไทย และข้อมูลเกี่ยวกับความซับซ้อนของสังคมสมัยสำริดและสมัยเหล็กมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขุดค้นที่บ้านโนนวัดมีส่วนในการสร้างความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับความหลากหลายของพื้นที่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย


ระดับนานาชาติ

1. โครงการวิจัยนี้มีความสำคัญในฐานะที่เป็นผู้นำเสนอข้อมูลทางโบราณคดีซึ่งเป็นที่สนใจในระดับนานาชาติ ทั้งการพิจารณา และประเด็นคำถามที่ว่าด้วยกำเนิด ความเก่าแก่ การแพร่กระจายของสังคมเกษตรกรรม สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในระดับโลก ซึ่งวงการโบราณคดีระดับนานาชาติได้ให้ความสนใจประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ซับซ้อน ซึ่งพบว่า เกิดขึ้นค่อนข้างล่าช้าในดินแดนตะวันออกเฉียงใต้

2. ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา Prof. Charles Hiam และ Dr. Nigel Chang ได้นำเสนอผลงานวิจัยทางโบราณคดีที่บ้านโนนวัด และได้ตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่อย่างกว้างขวางอีกด้วย อาจจะกล่าวได้ว่า นี่เป็นเครื่องวัดความสำคัญของบ้านโนนวัดในระดับนานาชาติ คือ การมีข้อมูลการวิจัยที่กล่าวถึงบ้านโนนวัดของประเทศไทยตีพิมพ์ในวารสาร และตำราเรียนในระดับนานาชาติที่ว่าด้วยวิชาประวัติศาสตร์ของโลก ตัวอย่างเช่น หนังสือเรื่อง อดีตของมนุษยชาติ และนอกจากนี้ ริชาร์ด สโตน ผู้สื่อข่าวประจำทวีปเอเชียของ Science Magazine ได้เคยเยี่ยมชมการขุดค้นที่บ้านโนนวัด และได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับโครงการนี้ และต่อมา โทมัส กิดวิช ได้มาเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีแหล่งนี้เช่นกันได้ได้ตีพิมพ์ลงบทความพิเศษลงในวารสาร Archaeology ซึ่งเป็นวารสารของสถาบันโบราณคดีแห่งอเมริกาและมียอดขายกว่า 400,000 ฉบับ

จุดเด่นบ้านโนนวัด แก้

1. แหล่งโบราณคดีที่มีความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย

2. หลุมขุดค้นที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

3. มีโอกาสได้รับการพิจารณาให้เป็น “แหล่งมรดกโลกบ้านโนนวัด” ในอนาคต

4. มีความเก่าแก่อยู่ในยุคหินใหม่ ประมาณ 4,500 ปีมาแล้ว ร่วมสมัยเดียวบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ถึงประมาณ 1,000 ปี

5. มีลวดลายที่ปรากฏบนภาชนะดินเผา เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่บ้านโนนวัด

6. ครั้งแรกของประเทศไทยที่พบว่าเป็นศพผู้ใหญ่ที่ถูกนำบรรจุใส่ในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่มีอายุราว 4,000 ปี

การดำเนินการในปัจจุบัน แก้

ปัจจุบันโครงการขุดค้นยังดำเนินงานอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันเป็นโครงการช่วงที่สอง โดย ดร.ไนเจล ชาง (Dr. Nigel Chang) จากมหาวิทยาลัยเจมส์คุก ประเทศออสเตรเลีย เพื่อศึกษาวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปในรอบ 5,000 ปี และจะเสร็จสิ้นโครงการในปี 2555

 
แบบอาคารศูนย์เรียนรู้สมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านโนนวัด ออกแบบโครงสร้างโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดนครราชสีมา
 
พิธีเปิดและส่งมอบอาคารชั่วคราว ศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่น สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งอารยธรรมบ้านโนนวัด 24 ก.ย. 2552
 
การรายงานความก้าวหน้า โครงการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่น สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งอารยธรรมบ้านโนนวัด โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 7 ก.พ.2554
 
นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าชมศูนย์การเรียนรู้ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ชั่วคราวบ้านโนนวัด 9 ก.พ.2554
 
การดำเนินการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ฯ สมัยก่อนประวัติศาสตร์แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด 29 มกราคม 2555
 
การดำเนินการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ฯ สมัยก่อนประวัติศาสตร์แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด 6 กันยายน 2555 แล้วเสร็จไปแล้วกว่า 95%
 
การประชุมเพื่อลงรายละเอียดปลีกย่อยนิทรรศการ 17 มกราคม 2556

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ในฐานะสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาท้องถิ่น ได้ให้ความช่วยเหลือชุมชนในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งอารยธรรมบ้านโนนวัด ให้เคลื่อนตัวไปได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์เศาวนิต เศาณานนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาได้อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการดำเนินโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นสมัยก่อนประวัติศาสตร์แหล่งอารยธรรมบ้านโนนวัดขึ้น เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่น และแสวงหาศักยภาพของชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ "เข้าใจ เขาถึง พัฒนา" มาเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงาน

อาจารย์ทวี วัชระเกียรติศักดิ์ หัวหน้าคณะนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้กระบวนการพัฒนา โดยใช้แนวคิดทางการการจัดการ มาประยุกต์ใช้ พร้อมกับเตรียมความพร้อมให้ชุมชน ตั้งรับกับความเจริญที่กำลังเคลื่อนตัวมาพร้อมกับศูนย์การเรียน โดยเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้

อาจารย์วิลาวัลย์ วัชระเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้นำคณาจารย์และนักวิชาการ เข้าสำรวจวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ และโบราณคดี และดำแนินการจัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่น (ชั่วคราว)

ผลการวิจัยดังกล่าวได้นำสู่การจัดสร้างอาคารชั่วคราว ศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่น สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งอารยธรรบ้านโนนวัด จัดแสดงนิทรรศการความรู้ด้านโบราณคดี พร้อมกับองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่น ด้วยความร่วมแรงรวมใจกันของภาคีพัฒนาและชุมชนบ้านโนนวัด บนพื้นที่ศาลาประชาคมแห่งนี้ ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้เกิดเป็นรูปธรรมของแหล่งเรียนรู้เพื่อการศึกษาท้องถิ่น พัฒนาสู่การจัดสร้างอาคารถาวรบนพื้นที่ที่ชุมชนจัดเตรียมไว้แล้ว

ศูนย์การเรียนรู้ฯ ท้องถิ่น (ชั่วคราว) เป็นบทเรียนของการพัฒนาที่มีชุมชนท้องถิ่นเป็นส่วนกลางจะอยู่ที่กระบวนสื่อสารที่เท่าเทียมกัน จริงใจ และเปิดกว้าง ให้โอกาสกับการเรียนรู้และการแก้ปัญหาของชุมชนเอง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นผลงานของภาคีในชุมชนที่เป็นความภาคภูมิใจ เกิดความหวงแหน ความรับผิดชอบ และการทำให้ดีขึ้นมากกว่าการเป็นผู้รับในกระแสการพัฒนาที่ผ่านมา

ความสำเร็จดังกล่าวนำมาสู่การดำเนินการเสนอขอการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล โดย สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบลพลสงคราม ชุมชนบ้านโนนวัด และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมีแผนที่จะทำการก่อสร้างในพื้นที่หลุมขุดค้นเดิม คือ พื้นที่ของนางวอย แก้วกลาง ซึ่งได้บริจาคไว้เมื่อครั้งทำการประชาคมภาคีการพัฒนาในท้องถิ่นเอง คือ องค์การบริหารส่วนตำบลพลสงคราม เจ้าคณะตำบลพลสงคราม เจ้าอาวาสวัดมะรุม ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาและประถมศึกษาในพื้นที่ และประชาชนในบ้านโนนวัดทั้งหมด จนเกิดความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านต่างๆ ขึ้นต่อไป

หลังจากแรงผลักดันที่ฝ่ายได้กระตุ้นให้ก่อเกิด จังหวัดนครราชสีมา ได้อนุมัติงบประมาณในโครงการลงทุนภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้ดำเนินการเสนอรายละเอียดในการก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นสมัยก่อนประวัติศาสตร์แหล่งอารยธรรมบ้านโนนวัด โดยทางอำเภอโนนสูง ได้จัดการประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินงานขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2553 ณ ห้องประชุมศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอโนนสูง โดยมีว่าที่ร้อยตรี ดร. นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ นายอำเภอโนนสูง เป็นประธาน

ในด้านการออกแบบอาคารมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้เชิญสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองมาร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินออกแบบอาคาร โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากการสัมมนา เรื่อง “การจัดตั้งศูนย์ข้อมูล สมัยก่อนประวัติศาสตร์ บ้านโนนวัด” ขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส โคราช จังหวัดนครราชสีมา จัดโดยภารกิจการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสัมนาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการด้านการศึกษาวิจัย ความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีของมนุษยชาติจากการศึกษาทางโบราณคดี รวมทั้งการอภิปรายประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดศูนย์ข้อมูลสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บ้านโนนวัด ซึ่งมีข้อสรุปออกมาเป็นแนวทางในการออกแบบเพื่อเสนอขอการสนับสนุนจากรัฐบาล

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้จัดการประชุม การรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นสมัยก่อนประวัติแหล่งอารยธรรมบ้านโนนวัด ณ ห้องประชุมสุวัจน์ลิปตพัลลภ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งได้รับจากทุกภาคของการร่วมมือในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา พร้อมที่จะเข้ามาเป็นแม่งาน ในการดำเนินงานด้านการทำ E-Auction เพื่อให้เกิดความรวดแรวในด้านการประมูล และการดำเนินงานด้านงบประมาณ และทางสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ก็พร้อมที่จะเป็นผู้เสริมความสมบูรณ์ในส่วนของเนื้อหาวิชาการโบราณคดี และทางสำนักศิลปะและวัฒนธรรม จะยังคงเป็นพี่เลี้ยงและผู้ประสานความร่วมมือฝ่ายต่างๆ ทั้งนักวิจัยชาวต่างชาติ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ได้มีกิจกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสัญจร “ผู้ว่ามาแล้ว" โดยนายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เข้าตรวจเยี่ยมแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด และได้รับการต้อนรับจากนักวิชาการชาวไทย และชาวต่างประเทศ ที่ได้เป็นวิทยากรให้ความรู้ ด้านโบราณคดี และความสำคัญของแหล่งโบราณคดีนี้ ที่มีศักยภาพมากสู่การได้รับการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก ในอนาคต จึงได้รับการตื่นตัวในวงกว้าง นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่บ้านโนนวัดอย่างจริงจัง

วันที่ 7 มีนาคม 2554 นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏนครราชสีมา ได้นำเสนอถึงความสำคัญของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำมูลตอนต้น ในเขตอำเภอโนนสูงนครราชสีมาที่มีความต่อเนื่องยาวนานกว่า 3000 ปี ซึ่งทางจังหวัดนครราชสีมาจะผลักดันสู่การเป็นมรดกโลก

และการดำเนินการล่าสุด ทางจังหวัดนครราชสีมา โดย นายสุชาติ นพวรรณ รองผู้ว่าฯ นครราชสีมา ได้เป็นประธานประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการหารือเกี่ยวกับเรื่องการจัดหาที่ดิน เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ ร้านค้าของที่ระลึก และส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อการผลักดันสู่การเป็นมรดกโลกดังกล่าว

วันที่ 17 มีนาคม 2554 ได้มีการจัดเวทีประชาคมรับฟังความคิดเห็น โครงการการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แหล่งอารยธรรมบ้านโนนวัด ณ วัดมะรุม ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการดังกล่าว

การดำเนินการในปัจจุบัน สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ศึกษาและกำหนดเนื้อหารายละเอียดนิทรรศการที่จะจัดแสดงในศูนย์เรียนรู้ และได้รับการตรวจความถูกต้องของเนื้อหาจากกรมศิลปากรเรียบร้อยแล้ว และได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้ฯ ซึ่งแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2556 โดยเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการแล้ว

ปัจจุบันโครงการการดำเนินงานติดปัญหาในเรื่องของการส่งมอบอาคารจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมาสู่ชุมชน คือ อบต. อาจารย์วิลาวัลย์ วัชระเกียรติศักดิ์ จึงได้เร่งผลักดันให้เกิดการส่งมอบอย่างโดยด่วน เพื่อให้ชุมชนสามารถบริการจัดการศูนย์การเรียนรู้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม โดยหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมาจะได้ดำเนินการ นำเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อขึ้นทะเบียนแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัดเป็น "มรดกแห่งชาติ"

วันที่ 3 กันยายน 2557 นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นฯ บ้านโนนวัด เข้าสำรวจอาคารศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นฯ เพื่อหาแนวทางเร่งด่วนในการส่งมอบอาคารศูนย์การเรียนรู้ฯ บ้านโนนวัดแก่ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อบต.พลสงคราม เพื่อความสะดวกของชุมชนในการบริหารจัดการในศูนย์การเรียนรู้ และเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ เพื่อที่จะได้ร่วมกันรักษาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้และพร้อมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงโบราณคดีต่อไป

วันที่ 30 กันยายน 2557 นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์รักษาราชการผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ลงนามในหนังสือราชการเพื่อส่งมอบอาคารศูนย์การเรียนรู้ฯ บ้านโนนวัด ให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา เพื่อส่งต่อให้องค์การบริหารส่วนตำบลพลสงคราม เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ (พรบ.พื้นที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2545)

วันที่ 9 กรกฎาคม 2558 หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดการประชุมคณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมประจำจังหวัดนครราชสีมาครั้งที่ 1/2558 โดยมีนายบุญยืน คำหงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา โดยในที่ประชุมมีมติในที่ประชุมเห็นชอบในการแต่งตั้งให้แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เป็นมรดกแห่งชาติ (ระดับจังหวัด) และให้หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา จัดทำข้อมูลแผนการดำเนินงานเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอให้ประกาศเป็นมรดกแห่งชาติต่อไป

วันที่ 22 กันยายน 2558 นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ลงนามในประกาศจังหวัดนครราชสีมา เพื่อประกาศขึ้นทะเบียนมรดกจังหวัดนครราชสีมา แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด (อาศัยอำนาจตาม พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และคำสั่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งขาติที่ 25/2550 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550)

อ้างอิง แก้

  1. http://nonwat.igetweb.com/index.php?mo=3&art=280368 ความสำคัญของโครงการ

แหล่งข้อมูลอื่น แก้