แมวป่าหัวแบน (อังกฤษ: Flat-headed cat) แมวป่าชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prionailurus planiceps อยู่ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) โดยเป็นแมวป่าขนาดเล็ก ขาและหางสั้น ใบหูเล็ก ขนตามลำตัวสีน้ำตาลแดงหรือส้ม แมวป่านี้เป็นชนิดใกล้สูญพันธุ์เพราะมีประชากรในป่าน้อยกว่า 2,500 ตัว ซึ่งมีประชากรกลุ่มย่อยที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่น้อยกว่า 250 ตัว ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชุ่มน้ำมักถูกทำลายและเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้มันอยู่ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็นตั้งแต่ ค.ศ. 2008[2]

แมวป่าหัวแบน
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix I (CITES)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
อันดับ: อันดับสัตว์กินเนื้อ
อันดับย่อย: เฟลิฟอเมีย
วงศ์: เสือและแมว
วงศ์ย่อย: วงศ์ย่อยแมว
สกุล: สกุลแมวดาว
(Vigors & Horsfield, 1827)
สปีชีส์: Prionailurus planiceps[1]
ชื่อทวินาม
Prionailurus planiceps[1]
(Vigors & Horsfield, 1827)
การกระจายพันธุ์ของแมวป่าหัวแบนใน ค.ศ. 2015[2]

เดิมที่แมวนี้เคยอยู่ในสกุล Felis แต่ปัจจุบันจัดให้เป้นหนึ่งในห้าสปีชีส์ของ Prionailurus[1][3]

มีผู้เป็นเจ้าของแมวป่าหัวแบนน้อยมาก โดยทางSpecies360บันทึกว่ามีสวนสัตว์ในมาเลเซียและไทยมีแมวชนิดนี้เป็นเจ้าของน้อยกว่า 10 ตัว[4]

ลักษณะ แก้

แมวป่าหัวแบน จัดเป็นแมวที่แปลกกว่าแมวชนิดอื่น ๆ มันมีรูปหัวที่ยาวและแคบ และหน้าผากที่แบนราบสมชื่อ มีลำตัวยาวและขาสั้น ดูเผิน ๆ อาจคล้ายกับพวกชะมดหรือนากมากกว่าแมว

แมวป่าหัวแบนมีขนาดใกล้เคียงกับแมวบ้านตัวโต ๆ ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 1.5-2.5 กิโลกรัม ลำตัวยาว ขนตามลำตัวยาว อ่อนนุ่มและแน่น ตามลำตัวมีสีน้ำตาลคล้ำและลายจุดละเอียดทั่วตัว ขนตรงส่วนที่เป็นลายจุดมีสีเทาหรือสีเนื้อที่ปลายเส้น สีของหัวมีสีน้ำตาลอมแดงและดูสว่างกว่าลำตัว ปากค่อนข้างยาว คางสีขาวและมีแต้มขาวที่แก้ม มีเส้นสีเหลืองลากตั้งแต่ตาไปที่หูทั้งสองข้าง หูกลมและเล็กผิดจากแมวทั่วไป และอยู่ค่อนไปทางข้างหัวมากกว่า ใต้ลำตัวสีขาวและมักมีจุดหรือแถบสีน้ำตาล ดวงตาใหญ่สีน้ำตาลอยู่ชิดกัน ใบหูกลมและสั้น ขาสั้น อาจมีแถบลายจาง ๆ พาดตามแนวนอน อุ้งตีนแคบและยาวคล้ายกับแมวบอร์เนียวแดง หางสั้นประมาณ 13-17 เซนติเมตร หรือราว 25-35 เปอร์เซ็นต์ของความยาวหัว-ลำตัวและมีขนหนาแน่น มีสีน้ำตาลแดง ส่วนใต้หางจะออกเหลืองเล็กน้อย

แมวป่าหัวแบนมีปลอกเล็บตีนสั้นทำให้เมื่อหดเล็บเข้าไปจะยังเห็นส่วนปลาย เช่นเดียวกับชีตาห์ เสือปลา และแมวชอฟรัว (Oncifelis geoffroyi) โดยจะเก็บเข้าไปได้เพียงหนึ่งในสามเท่านั้น เล็บของมันจึงโผล่พ้นตีนออกมาและมองเห็นได้ ระหว่างนิ้วตีนยังมีพังพืดเชื่อมเพื่อช่วยในการว่ายน้ำแบบเดียวกับเสือปลา พังผืดของแมวป่าหัวแบนมีมากกว่าพังผืดของเสือปลาเสียอีก ทำให้เหมาะแก่การใช้ชีวิตริมน้ำ นอกจากนี้ยังมีกรามที่ยาว แคบ มีฟันที่แหลมคมกว่าแมวชนิดอื่น ๆ ซ้ำยังโย้เข้าหาด้านในปาก ยิ่งทำให้เหมาะที่จะคาบเหยื่อจำพวกปลาหรือกบไม่ให้ลื่นหลุดได้ง่าย ดวงตาที่ใหญ่ทำให้เหมาะกับการล่าในเวลากลางคืน จริง ๆ แล้วแมวชนิดนี้น่าจะเรียกว่า เสือปลา มากกว่าเสือปลา (Felis viverrina) จริง ๆ เสียอีก

ถิ่นที่อยู่อาศัย แก้

แม้ว่าเราจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับแมวป่าหัวแบนน้อยมาก แต่เชื่อว่ามันอาศัยอยู่ในป่าลึกที่ราบต่ำ และมีลำธารอุดมสมบูรณ์ หรือในพื้นที่ ๆ เป็นหนองน้ำ ระดับสูงสุดที่เคยพบเห็นคือ 700 เมตร ที่เขาดูลิตเขตกระจายพันธุ์สูงสุดไม่เกินคอคอดกระ

เมื่อปี 2528 ได้มีการประกาศว่าแมวป่าหัวแบนได้สูญพันธ์ไปจากมาเลเซียแล้ว แต่ต่อมาในปี 2534 มีผู้พบเห็นอีกในสวนปาล์มน้ำมันในมาเลเซียและล่าหนูเป็นอาหาร

อุปนิสัย แก้

จากการสังเกตอุปนิสัยในกรงเลี้ยงของลูกแมวป่าหัวแบนตัวหนึ่งในกัวลาลัมเปอร์ พบว่ามันชอบเล่นน้ำมาก เมื่อเจ้าหน้าที่นำอ่างน้ำเข้าไปในกรง มันจะรีบกระโจนเข้ามาเล่นโดยไม่รีรอ และเล่นอย่างสนุกสนาน ทั้งเล่นของเล่นใต้น้ำหรือแม้แต่นั่งแช่น้ำนานนับชั่วโมง มันสามารถมุดหัวลงไปคาบจับปลาใต้น้ำลึก 5 นิ้วได้ นอกจากนี้ยังพบว่ามันชอบนำสิ่งของไปล้างน้ำ ซึ่งคล้ายกับพฤติกรรมของแรกคูน และพบว่ามันมีการล้างอาหารก่อนกินด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำล้างกรง มันก็จะเข้ามาเล่นกับสายน้ำอย่างสนุกสนาน มันจับกบที่บังเอิญกระโดดเข้าไปในกรง แต่เมื่อมีนกกระจอกบินเข้าไปในกรงบ้างมันกลับไม่สนใจเลย เวลาอาหาร มันจะเข้ามากินโดยการตะครุบ แล้วคาบย้ายเหยื่อไปกินห่างจากจุดที่ให้อาหารไม่น้อยกว่า 6 ฟุต นี่อาจเป็นสัญชาติญานตามธรรมชาติที่ทำให้เหยื่อที่ลื่นไหลของมันที่ถูกจับได้ไม่อาจกลับสู่น้ำได้แม้ว่าอาจจะลื่นลุดจากปากก็ตาม

เมื่อปี 2548 ประเทศไทยได้ยึดลูกแมวป่าหัวแบนสองตัวจากผู้ลักลอบขนย้าย ปัจจุบันแมวทั้งสองตัวซึ่งเป็นตัวเมียทั้งสองตัวได้รับการเลี้ยงดูที่ศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์ป่าเขาประทับช้าง จังหวัดราชบุรี จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ผู้เลี้ยง แมวป่าหัวแบนจะกินเฉพาะปลาน้ำจืดเท่านั้น แต่ไม่กินปลาทะเลเลย ไม่กินเนื้อกบ เมื่อให้อาหาร แมวจะคาบอาหารแล้วนำกลับเข้าไปกินในลังนอน

จากการผ่าดูกระเพาะของแมวป่าหัวแบนตัวเต็มวัยตัวหนึ่งในประเทศมาเลเซีย พบว่ามีปลาเพียงอย่างเดียว อีกตัวหนึ่งเป็นตัวผู้ที่ตายในป่าของป่าอนุรักษ์กาลีมันตัน ในกระเพาะมีเกล็ดปลาและเปลือกกุ้ง ในบอร์เนียว พบว่าแมวป่าหัวแบนมักจับกบและปลาเป็นอาหาร

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแมวป่าหัวแบนจะหากินกับสัตว์น้ำเป็นหลัก แต่ก็มีบันทึกว่ามันกินสัตว์ฟันแทะและนกบ้างเหมือนกัน มีบันทึกจากนักปักษีวิทยาชื่อ บี.เอ็น. สมิททีส์ ว่าพบแมวป่าหัวแบนตัวหนึ่งในซาราวักถูกยิงขณะไล่จับลูกไก่ และ เอ็ม. คาน ก็เคยบันทึกว่าแมวป่าหัวแบนตัวหนึ่งในเปรัก มาเลเซีย เคยติดกับดักสำหรับดักชะมดที่ใช้ไก่เป็นเหยื่อล่อ

เชื่อว่าแมวป่าหัวแบนในธรรมชาติอาศัยโดยลำพัง และประกาศอาณาเขตโดยการปล่อยปัสสาวะเช่นเดียวกับแมวทั่วไป ในแหล่งเพาะเลี้ยง พบว่าแมวป่าหัวแบนทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างก็ปล่อยกลิ่นโดยปัสสาวะเหมือนกัน วิธีปล่อยกลิ่นของแมวป่าหัวแบนต่างจากแมวชนิดอื่น แมวทั่วไปใช้วิธีหันก้นเข้าใส่เป้าหมายซึ่งอาจเป็นต้นไม้หรือพุ่มไม้ เหยียดหางตรงชี้ฟ้า แล้วฉีดปัสสาวะออกไปเป็นฝอย แต่แมวป่าหัวแบนจะยกหางขึ้นเฉียง ๆ ย่อขาหลังลงแล้วเดินไปข้างหน้าทั้งที่อยู่ในท่าย่ออย่างนั้นพร้อมกับปล่อยปัสสาวะออกมาเป็นทาง

เสียงลูกแมวป่าหัวแบนคล้ายเสียงของลูกแมวบ้านทั่วไป แต่ค่อนข้างสั่นเครือมากกว่า Muul และ Lim บรรยายไว้ว่าเสียงเหมือนเอานิ้วถูไปบนหวี

ชีววิทยา แก้

แมวป่าหัวแบนตัวเมียตั้งท้องนานราว 56 วัน ออกลูกครั้งละ 1-4 ตัว ฤดูกาลไม่ทราบแน่ชัด แต่เคยมีผู้พบเห็นลูกแมวในเดือนมกราคม ลูกแมวมีสีสันคล้ายกับตัวเต็มวัยมาก เพียงแต่สีออกจะเป็นสีเทามากกว่าเท่านั้น หลังจากนั้นจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปจนเหมือนตัวเต็มวัยเมื่ออายุได้ 1 ปี ในสถานที่เพาะเลี้ยง มันอาจมีอายุอยู่ได้ถึง 14 ปี

ภัยที่คุกคาม แก้

ด้วยเหตุที่แมวป่าหัวแบนอาศัยและหากินอยู่ริมน้ำ มันจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมลภาวะทางน้ำ โดยเฉพาะการปนเปื้อนของน้ำมัน คลอรีน และโลหะหนักที่ได้จากการทำเกษตรเคมีและการทำไม้ โดยสารพิษเหล่านี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางอาหารของมัน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพของแหล่งน้ำที่หากินของแมวป่าหัวแบนเพื่อขยายที่ดินทำกินของมนุษย์ก็ทำให้มันลดจำนวนลงเช่นกัน

สถานภาพ แก้

แมวป่าหัวแบนอยู่ในCITES Appendix I ซึ่งได้รับการคุ้มครองสูงสุด โดยห้ามล่าสัตว์และซิ้อขายในประเทศอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และไทย[2]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Wozencraft, W. C. (2005). "Species Prionailurus planiceps". ใน Wilson, D. E.; Reeder, D. M. (บ.ก.). Mammal Species of the World: A Taxonomic and Geographic Reference (3rd ed.). Johns Hopkins University Press. p. 543. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Wilting, A.; Brodie, J.; Cheyne, S.; Hearn, A.; Lynam, A.; Mathai, J.; McCarthy, J.; Meijaard, E.; Mohamed, A.; Ross, J.; Sunarto, S. & Traeholt, C. (2015). "Prionailurus planiceps". IUCN Red List of Threatened Species. 2015: e.T18148A50662095. doi:10.2305/IUCN.UK.2015-2.RLTS.T18148A50662095.en. สืบค้นเมื่อ 16 January 2022.
  3. Kitchener, A. C.; Breitenmoser-Würsten, C.; Eizirik, E.; Gentry, A.; Werdelin, L.; Wilting, A.; Yamaguchi, N.; Abramov, A. V.; Christiansen, P.; Driscoll, C.; Duckworth, J. W.; Johnson, W.; Luo, S.-J.; Meijaard, E.; O’Donoghue, P.; Sanderson, J.; Seymour, K.; Bruford, M.; Groves, C.; Hoffmann, M.; Nowell, K.; Timmons, Z. & Tobe, S. (2017). "A revised taxonomy of the Felidae: The final report of the Cat Classification Task Force of the IUCN Cat Specialist Group" (PDF). Cat News (Special Issue 11).
  4. International Species Information System (2011) Captive Prionailurus planiceps. Accessed 13 October 2011

แหล่งข้อมูลอื่น แก้