แม่น้ำหนุมาน

(เปลี่ยนทางจาก แควหนุมาน)

แม่น้ำหนุมาน หรือ แควหนุมาน เป็นลำน้ำสายหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี ตั้งต้นจากจุดที่ห้วยใสน้อยและห้วยใสใหญ่ไหลมารวมกันในเขตอำเภอนาดี แล้วไหลลงทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่ราบ และเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอนาดีกับอำเภอกบินทร์บุรี มีห้วยโสมง (แควโขมง) ไหลมาร่วมด้วยทางฝั่งซ้าย จากนั้นไหลเข้าเขตอำเภอกบินทร์บุรี ก่อนจะไหลไปรวมกับแม่น้ำพระปรงที่มาจากทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำบางปะกงหรือแม่น้ำปราจีนบุรี[2] มีความยาวประมาณ 27 กิโลเมตร[3] ตอนต้นน้ำมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "แควน้ำใส" ส่วนตอนปลายน้ำมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "แควน้อย" (คู่กับ "แควใหญ่" หรือแม่น้ำพระปรง)

แม่น้ำหนุมาน
แควหนุมาน, แควน้ำใส, แควน้อย
ที่ตั้ง
ประเทศ ไทย
จังหวัดปราจีนบุรี
ลักษณะทางกายภาพ
ต้นน้ำจุดบรรจบระหว่างห้วยใสน้อยกับห้วยใสใหญ่
 • ตำแหน่งตำบลสำพันตาและตำบลสะพานหิน อำเภอนาดี
 • พิกัดภูมิศาสตร์14°08′48.7″N 101°43′53.4″E / 14.146861°N 101.731500°E / 14.146861; 101.731500
ปากน้ำจุดบรรจบกับแม่น้ำพระปรง
 • ตำแหน่ง
ตำบลกบินทร์ อำเภอกบินทร์บุรี
 • พิกัด
13°59′10.2″N 101°42′31.0″E / 13.986167°N 101.708611°E / 13.986167; 101.708611พิกัดภูมิศาสตร์: 13°59′10.2″N 101°42′31.0″E / 13.986167°N 101.708611°E / 13.986167; 101.708611
ความยาว27 กิโลเมตร (17 ไมล์)
ลุ่มน้ำ
ระบบแม่น้ำลุ่มน้ำบางปะกง
ลำน้ำสาขา 
 • ซ้ายห้วยใสใหญ่, ห้วยยาง, ห้วยโสมง[1]
 • ขวาห้วยใสน้อย, คลองตากล่ำ, คลองผึ้ง

พื้นที่ตอนล่างของแม่น้ำหนุมานในอดีตเป็นที่ตั้งของบ้านด่านที่เรียกว่า "ด่านหนุมาน" มีชุมชนชาวลาวเวียงอาศัยอยู่เป็นกลุ่มใหญ่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นบ้านด่านสําหรับเฝ้าระวังในเส้นทางเดินทัพไปยังเขมร มีศาลเจ้าพ่อหนุมานตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ห่างจากบ้านใต้ ตำบลเมืองเก่า ราว 1 กิโลเมตร ภายหลังชาวบ้านรื้อถอนศาลเพื่อบูรณะและย้ายให้มาอยู่ใกล้กับชุมชนเมื่อ พ.ศ. 2500 ในปัจจุบันตั้งอยู่ติดกับหนองหนุมาน ส่วนที่บ้านปากน้ำ ตำบลกบินทร์ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำหนุมานกับแม่น้ำพระปรงไหลมาบรรจบกันนั้น มีชุมชนที่เป็นศูนย์รวมการคมนาคมในราว พ.ศ. 2449 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[4]

อ้างอิง แก้

  1. "จับตา....การพัฒนาลุ่มน้ำปราจีนบุรีสู่การแก้ปัญหาน้ำที่ยั่งยืน". แนวหน้า.
  2. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. "ภูมิวัฒนธรรมของการตั้งถิ่นฐานสมัยโบราณกับเมืองหน้าด่านตะวันออก".
  3. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๔ (อักษร ย-ฮ) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2561.
  4. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. ""กบินทร์บุรี "เมืองด่านภาคตะวันออก". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-01. สืบค้นเมื่อ 2022-11-01.