เออร์วิง แลงมิวร์

เออร์วิง แลงมิวร์ (อังกฤษ: Irving Langmuir; 31 มกราคม ค.ศ. 188116 สิงหาคม ค.ศ. 1957) เป็นนักเคมีและนักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน เป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี ค.ศ. 1932 จากผลงานด้านวิทยาศาสตร์พื้นผิว[3]

เออร์วิง แลงมิวร์
เกิด31 มกราคม ค.ศ. 1881(1881-01-31)[1]
บรุกลิน, รัฐนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา
เสียชีวิต16 สิงหาคม ค.ศ. 1957(1957-08-16) (76 ปี)
วุดส์โฮล, รัฐแมสซาชูเซตส์, สหรัฐอเมริกา
สัญชาติอเมริกัน
ศิษย์เก่า
มีชื่อเสียงจาก
  • ประดิษฐ์หลอดสุญญากาศระดับสูง
  • นิยามศัพท์ "พลาสมา"[2]
รางวัล
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาเคมี, ฟิสิกส์
สถาบันที่ทำงานเจเนอรัลอิเล็กทริก
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกวัลเทอร์ แน็นสท์

ประวัติ แก้

เออร์วิง แลงมิวร์ เกิดที่บรุกลิน รัฐนิวยอร์กในปี ค.ศ. 1881 เป็นบุตรคนที่ 3 จากทั้งหมด 4 คนของชาลส์ แลงมิวร์ และเซดี คัมมิงส์ เขาได้รับการสนับสนุนจากบิดามารดาให้สนใจด้านวิทยาศาสตร์และธรรมชาติตั้งแต่เด็ก และได้รับอิทธิพลจากอาร์เธอร์ แลงมิวร์ พี่ชายซึ่งเป็นนักเคมี[4] แลงมิวร์เรียนระดับมัธยมที่สถาบันเชสต์นัตฮิลล์ในเมืองฟิลาเดลเฟียและเรียนจบสาขาวิศวกรรมโลหการจากโรงเรียนวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์โคลัมเบีย ในปี ค.ศ. 1906 เขาได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเกิททิงเงินและเป็นอาจารย์สอนที่สถาบันเทคโนโลยีสตีเวนส์ในเมืองโฮโบเคน ก่อนจะย้ายไปทำงานที่บริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริกในปี ค.ศ. 1909

งานชิ้นแรกของแลงมิวร์คือการศึกษาหลอดไฟฟ้าและปรับปรุงเครื่องสูบแบบการแพร่ ซึ่งนำไปสู่การประดิษฐ์ตัวเรียงกระแสสุญญากาศระดับสูงและหลอดแอมพลิฟาย ปีต่อมา เขาและเลวี ท็องกส์ เพื่อนร่วมงานพบว่าไส้หลอดทังสเตนจะมีอายุการใช้งานนานขึ้นหากอยู่ในแก๊สเฉื่อยและพบว่าการขดไส้หลอดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้มากขึ้น การค้นพบดังกล่าวทำให้มีการประดิษฐ์หลอดไส้ร้อนแบบธรรมดาในเวลาต่อมา[5] การศึกษาไส้หลอดในสภาวะต่าง ๆ ทำให้แลงมิวร์สนใจการปล่อยเทอร์ไมออนและเรียกแก๊สที่แตกตัวเป็นไอออนว่า "พลาสมา"[2] ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 เขาและท็องกส์ค้นพบการแกว่งพลาสมาหรือคลื่นแลงมิวร์[6] และในปี ค.ศ. 1928 แลงมิวร์คิดค้นการเชื่อมด้วยอะตอมไฮโดรเจน[7] ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาเป็นการเชื่อมทิก

ช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1910 ถึง 1930 แลงมิวร์สนใจด้านเคมีของน้ำมัน ฟิล์ม และพื้นผิว โดยในปี ค.ศ. 1917 เขาตีพิมพ์ผลงานด้านเคมีของฟิล์มน้ำมันและร่วมกับแคเทอริน เบอร์ บล็อดเจตต์ ศึกษาฟิล์มบางและการดูดซึมพื้นผิว ในปี ค.ศ. 1932 แลงมิวร์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีจากงานด้านการบุกเบิกวิทยาศาสตร์พื้นผิว[3] นอกจากด้านเคมีแล้ว แลงมิวร์ยังสนใจด้านบรรยากาศศาสตร์และอุตุนิยมวิทยา โดยในปี ค.ศ. 1927 เขาค้นพบการไหลเวียนแลงมิวร์จากการสังเกตลมที่กระทำต่อสาหร่ายทะเลในทะเลซาร์แกสโซ[8] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แลงมิวร์พัฒนาระบบโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำและคิดค้นวิธีขจัดน้ำแข็งบนปีกเครื่องบิน[9]

ด้านชีวิตส่วนตัว แลงมิวร์แต่งงานกับแมเรียน เมอร์เซโรในปี ค.ศ. 1912 และมีบุตรบุญธรรม 2 คนชื่อเคนเนธและบาร์บารา แลงมิวร์เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือดที่เมืองวุดส์โฮลในปี ค.ศ. 1957[10] ต่อมาบ้านของเขาในเมืองสกิเน็กทาดีได้รับการประกาศให้เป็นสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติและขึ้นทะเบียนสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติในปี ค.ศ. 1976[11][12][13]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Taylor, H. (1958). "Irving Langmuir 1881-1957". Biographical Memoirs of Fellows of the Royal Society. 4: 167. doi:10.1098/rsbm.1958.0015.
  2. 2.0 2.1 Goldston, R.J.; Rutherford, P.H. (1995). Introduction to Plasma Physics. Taylor & Francis. p. 1−2. ISBN 978-0-7503-0183-1.
  3. 3.0 3.1 "The Nobel Prize in Chemistry 1932". Nobelprize.org. สืบค้นเมื่อ May 12, 2017.
  4. "Irving Langmuir - Biography". The Famous People. สืบค้นเมื่อ May 12, 2017.
  5. "Irving Langmuir - Biography". Britannica. สืบค้นเมื่อ May 12, 2017.
  6. Franklin, R.N.; Braithwaite, N.St.J. "Electron plasma waves and plasma resonances" (PDF). Técnico Lisboa. สืบค้นเมื่อ May 12, 2017.
  7. "Langmuir, the Man and the Scientist: With Contributions in Memoriam Including a Complete Bibliography of His Works". Google Books. สืบค้นเมื่อ May 12, 2017.
  8. Open University (2001), Ocean Circulation (2nd ed.), Butterworth-Heinemann, ISBN 9780750652780
  9. "Irving Langmuir - Biography". Encyclopedia.com. สืบค้นเมื่อ May 12, 2017.
  10. Staff writers (17 August 1957). "Dr. Irving Langmuir Dies at 76; Winner of Nobel Chemistry Prize". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 20 October 2008.
  11. "Irving Langmuir House". National Historic Landmark summary listing. National Park Service. 2007-09-12. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-05. สืบค้นเมื่อ 2017-05-12.
  12. James Sheire (July 1975). "National Register of Historic Places Inventory-Nomination: Irving Langmuir House" (pdf). National Park Service. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help) and Accompanying photo, exterior, from 1975 (729 KB)
  13. "Irving Langmuir House". National Register of Historic Places. สืบค้นเมื่อ May 12, 2017.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้