เอมัน เดฟเลอรา

เอมัน เดฟเลอรา (ไอริช: Éamon de Valera; ˈeːmˠən̪ˠ dʲɛ ˈvˠalʲəɾʲə;14 ตุลาคม พ.ศ. 2425 — 29 สิงหาคม พ.ศ. 2518) เป็นนักการเมืองชาวไอริชผู้ต่อสู้เพื่อให้ไอร์แลนด์เป็นอิสระจากอังกฤษจนมีการสถาปนาสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐไอร์แลนด์[1] ในช่วงปี พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2502 หลังจากนั้นได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี พ.ศ. 2502 - พ.ศ. 2516[2]

เอมัน เดฟเลอรา
Éamon de Valera
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์
(ลำดับที่ 3)
ดำรงตำแหน่ง
25 มิถุนายน พ.ศ. 2502 – 24 มิถุนายน พ.ศ. 2516
ก่อนหน้า Seán T. O'Kelly
ถัดไป Erskine Hamilton Childers
นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์
ดำรงตำแหน่ง
29 ธันวาคม พ.ศ. 2480 – 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491
ก่อนหน้า ตัวเอง (ในตำแหน่งประธานคณะมนตรีบริหารแห่งเสรีรัฐไอร์แลนด์)
ถัดไป John A. Costello
ดำรงตำแหน่ง
13 มิถุนายน พ.ศ. 2494 – 2 มิถุนายน พ.ศ. 2497
ก่อนหน้า John A. Costello
ถัดไป John A. Costello
ดำรงตำแหน่ง
20 มีนาคม พ.ศ. 2500 – 23 มิถุนายน พ.ศ. 2502
ก่อนหน้า John A. Costello
ถัดไป Seán Lemass
ประธานคณะมนตรีบริหารแห่งเสรีรัฐไอร์แลนด์
(นายกรัฐมนตรี)
ดำรงตำแหน่ง
9 มีนาคม พ.ศ. 2475 – 29 ธันวาคม พ.ศ. 2480
ก่อนหน้า W. T. Cosgrave
ถัดไป ตัวเขาเอง (ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด 14 ตุลาคม พ.ศ. 2425
แมนฮัตตัน, นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา
เสียชีวิต 29 สิงหาคม พ.ศ. 2518 (92 ปี)
ดับลิน, ไอร์แลนด์
พรรค เฟียนนาเฟล (พ.ศ. 2469 – พ.ศ. 2518),
ชินน์เฟน (พ.ศ. 2459 – พ.ศ. 2465,
พ.ศ. 2466 – พ.ศ. 2469)
คู่สมรส ซิเนด เดฟเลอรา (แฟลนากัน)
ศาสนา โรมันคาทอลิก
ลายมือชื่อ Éamon de Valera Signature 2.svg

ประวัติแก้ไข

เกิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2425 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา บิดาเป็นจิตรกรชาวสเปน มารดาเป็นชาวไอริช เมื่อเขาอายุ 3 ขวบ บิดาก็เสียชีวิตลง เขาจึงถูกส่งไปอยู่กับลุงซึ่งมีฐานะยากจนที่เมืองบรูรี มณฑลไลเมอริก ในไอร์แลนด์ หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนของคณะสอนศาสนาที่เมืองชาร์ลวิลล์แล้ว เขาได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยแบล็กร็อก กรุงดับลิน ในปี พ.ศ. 2441 และที่มหาวิทยาลัยรอยัล ในปี พ.ศ. 2444 เขาโดดเด่นมากในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ เมื่อเขาสำเร็จการศึกษา ใน พ.ศ. 2447 เขาก็เริ่มอาชีพครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาละติน และภาษาฝรั่งเศสตามมหาวิทยาลัยคาทอลิกหลายแห่ง ในด้านชีวิตครอบครัว เขาสมรสกับซิเนด แฟลนากัน ในปี พ.ศ. 2453 มีบุตรชาย 5 คน และบุตรสาว 2 คน

ราว พ.ศ. 2450 เขาได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาตแห่งชาติเกล และเข้าร่วมกับกลุ่มภราดรแห่งสาธารณรัฐไอริช ซึ่งดำเนินการเคลื่อนไหวทางด้านชาตินิยมอย่างลับๆ ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังดำเนินอยู่นั้น เขาเข้าร่วมกับองค์กรอาสาสมัครแห่งชาติไอริช ซึ่งมุ่งดำเนินการเพื่อการเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์จากอังกฤษ และได้รับมอบหมายให้บังคับบัญชากองพันอาสาสมัครไอริชกองหนึ่งระหว่างที่เกิดการจลาจลวันอีสเตอร์ ซึ่งก่อความเสียหายอย่างมากให้แก่กองกำลังอังกฤษที่ถูกส่งเข้ามารักษาความสงบ และเป็นกองพันสุดท้ายที่จำต้องยอมจำนนต่ออังกฤษในช่วงการเจรจาดังกล่าว ศาลตัดสินให้ประหารเขาเช่นเดียวกับผู้นำการจลาจลอื่นๆ แต่การที่เขาถือสัญชาติอเมริกัน เขาจึงได้รับโทษให้ทำงานในเรือนจำตลอดชีวิต อย่างไรก็ดี เขาได้รับการนิรโทษกรรมในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2460

เข้าสู่การเมืองแก้ไข

ทันทีที่ได้รับอิสรภาพเขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสามัญจากเขตเลือกตั้งแคลร์ นอกจากนี้เขายังเป็นหัวหน้าพรรคชินน์เฟน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการสถาปนาสาธารณรัฐไอร์แลนด์ขึ้น เขาจึงถูกจับกุมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2461 ด้วยข้อหาร่วมมือกับเยอรมนีวางแผนโจมตีอังกฤษ และถูกส่งไปคุมขังที่อังกฤษ

ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2461 พรรคชินน์เฟนของเขาได้ที่นั่งถึง 3 ใน 4 ของที่นั่งทั้งหมดจากเขตเลือกตั้งในไอร์แลนด์ แต่สมาชิกพรรคฯ ปฏิเสธเข้าประชุม ณ รัฐสภาเวสต์มินเตอร์ของอังกฤษ และประกาศตั้งสภาราษฎรแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ขึ้นแทน ในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้เขาเป็นประธานาธิบดีแห่งรัฐบาลชั่วคราวทั้งๆ ที่ยังถูกคุมขังอยู่ ทำให้อังกฤษไม่พอใจและส่งทหารเข้ามาปราบเพื่อล้มรัฐบาลชั่วคราว เกิดการสู้รบของกองพันแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์กับกองตำรวจหลวงแห่งไอร์แลนด์ซึ่งได้รับกำลังเสริมจากอังกฤษ ขณะที่การรบยังดำเนินอยู่ เขาจึงแอบหลบหนีออกจากเรือนจำลินคอล์น และลอบเดินทางสู่นิวยอร์ก ระหว่างที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา 18 เดือน เขาได้เดินทางไปทั่วอเมริกาเพื่อขอความสนับสนุนในการต่อสู้เพื่อเอกราชของไอร์แลนด์

การสู้รบดำเนินในลักษณะของสงครามกองโจรและยุติลงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2464 เพราะความรุนแรงและความทารุณจากการต่อสู้ทั้งสองฝ่าย ทำให้ชาวอังกฤษและสหรัฐอเมริกาบีบบังคับให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเดวิด ลอยด์ จอร์จ รีบหาทางยุติความขัดแย้งโดยเร็ว

แม้ว่าเขาจะเดินทางไปกรุงลอนดอนเพื่อเจรจากับลอยด์ จอร์จ แต่เขาก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจาช่วงสุดท้ายซึ่งนำไปสู่การลงนามสนธิสัญญาอังกฤษ - ไอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2464 โดยมีผู้แทนรัฐบาลอังกฤษกับอาเทอร์ กริฟฟิท และไมเคิล คอลลินส์ ซึ่งเป็นผู้แทน 2 คน จากพรรคชินน์เฟน เขาไม่ยอมรับในสนธิสัญญา ซึ่งมีเนื้อหาสถาปนาเสรีรัฐไอร์แลนด์ ขึ้นเป็นอาณาจักรในเครือจักรภพอังกฤษ ซึ่งครอบคลุมอาณาเขตเกือบทั้งหมดของเกาะไอร์แลนด์ ยกเว้น 6 มณฑลทางเหนือที่เรียกว่า อัลสเตอร์ อันมีเมืองสำคัญ ได้แก่ เบลฟัสต์ และลอนดอนเดอร์รี เป็นต้น เขาเห็นว่าการสถาปนาเสรีรัฐไอน์แลนด์นี้ จะทำให้การนำไอร์แลนด์เหนือรวมกับไอร์แลนด์ใต้เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

แม้ว่าเขาคัดค้านในสนธิสัญญา แต่สภาผู้แทนราษฎรไอร์แลนด์ก็ให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาดังกล่าว ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น กระทั่งเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2466 เขาได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี อาเทอร์ กริฟฟิท ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทน สงครามกลางเมืองยังคงดำเนินต่อไป สิ้นสุดด้วยความปราชัยของเขา เขาจึงถูกรัฐบาลแห่งเสรีรัฐไอร์แลนด์คุมขังอีกเกือบ 1 ปี จึงได้รับการปล่อยตัว

ในปี พ.ศ. 2469 เขาได้แยกตัวออกจากพรรคชินน์เฟนและตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อว่า เฟียนนาเฟล (Fianna Fail / Soldier of Destiny) และได้รับเสีงข้างมากในการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2475 เขาจึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึง 3 วาระ รวม 21 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2491, พ.ศ. 2494 - พ.ศ. 2497 และ พ.ศ. 2500 - พ.ศ. 2502

ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแก้ไข

ทันทีที่ขึ้นบริหารประเทศเขาพยายามที่จะยกเลิกพันธะต่างๆที่เสรีรัฐไอร์แลนด์ทำขึ้นต่อประเทศอังกฤษ เช่น ยกเลิกการปฏิญาณที่จะจงรักภักดีต่ออังกฤษ การลิดรอนอำนาจของข้าหลวงใหญ่อังกฤษในไอร์แลนด์ ล้มเลิกวุฒิสภาซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาล ยุติการส่งคดีที่อุทธรณ์ในไอร์แลนด์ไปให้สภาองคมนตรีในอังกฤษพิจารณา และยกเลิกการจ่ายค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดินในไอร์แลนด์ให้แก่อังกฤษ

และที่สำคัญที่สุดคือการที่เขาพยายามให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นในช่วงที่อังกฤษกำลังประสบวิกฤตการณ์สละราชสมบัติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ในปี พ.ศ. 2479 เพื่อเพิกถอนรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ฉบับเดิม ซึ่งในที่สุดก็ผ่านการรับรองโดยสาธารณชน ใน พ.ศ. 2480 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ล้มเลิกเสรีรัฐไอร์แลนด์และสถาปนาไอร์แลนด์ขึ้นเป็นรัฐเอกราชที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ โดยมีชื่อว่า "แอรา" (Eire)

อังกฤษตอบโต้โดยการขึ้นอัตราภาษีสินค้าจากไอร์แลนด์ ทำให้สินค้าส่งออกหลักของไอร์แลนด์ เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และนม ได้รับผลกระทบกระเทือนมาก เกิดเป็นความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจระหว่างแอรากับอังกฤษ เขาจึงพยายามบังคับใช้แผนการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด ลดเงินเดือนข้าราชการ และประกาศใช้พิกัดอัตราภาษีเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ

กระทั่งเมื่อใกล้จะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลอังกฤษซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีเนวิลล์ เชมเบอร์เลน เห็นว่าควรยุติความขัดแย้งทางเศรษฐกิจกับแอราโดยเร็วที่สุด จึงตามมาด้วยการเจรจาระหว่างแอรากับอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2481 ผลของการเจรจาคือแอรายอมตกลงจ่ายเงิน 10 ล้านปอนด์เพื่อชดเชยค่าธรรมเนียมที่ดินที่เคยจ่ายแก่อังกฤษ แลกกับการที่อังกฤษยอมที่จะถอนตัวออกจากเมืองท่าโคฟ เบียร์เฮเวน ลอกสวิลลี ที่อังกฤษครอบครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465

ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาประกาศยโนบายเป็นกลางและยึดมั่นมาโดยตลอด ทั้งที่ได้รับแรงกดดันจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้เขาได้รับความพอใจจากชาวไอริชเป็นจำนวนมาก พรรคของเขาจึงได้รับการเลือกตั้งให้บริการประเทศต่อไปอีกหลายสมัย

ในเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2491 รัฐสภาแห่งแอราได้ผ่านพระราชบัญญัติแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งทำให้แอรามีสถานะเป็นสาธารณะรัฐอย่างเป็นทางการและยุติการเป็นสมาชิกเครือจักรภพแห่งประชาชาติด้วย รัฐสภาอังกฤษได้ให้การรับรองเอกราชของสาธารณรัฐใหม่นี้ด้วยดี โดยการผ่านร่างพระราชบัญญัติไอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2492

ลดบทบาททางการเมืองแก้ไข

 
หลุมฝังศพของเอมัน เดฟเลอรา เคียงคู่กับภรรยาและบุตรชายของเขา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 เขาได้เริ่มละบทบาททางการเมืองลง โดยลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคเฟียนนาเฟล เพราะปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะตา แต่ในปีนั้นเองเขายังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งเป็นตำแหน่งประมุขที่ไม่มีอำนาจบริหาร มีวาระ 7 ปี เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ถึง 2 สมัยติดต่อกันก่อนที่จะอำลาการเมืองอย่างสิ้นเชิงในปี พ.ศ. 2516

ในช่วง 2 ปีสุดท้ายของชีวิตเขาพำนักอยู่ที่สถานพยาบาลใกล้กรุงดับลินจนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ขณะอายุ 92 ปี[3]

อ้างอิงแก้ไข

  1. "Mr. Éamon de Valera". Oireachtas Members Database. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 3 อักษร E-G. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2546.
  3. RTE 1975 - Eamon De Valera is dead RTÉ News (วิดีโอ). สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2011.

แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข