เศรษฐกิจและการค้าของประเทศลิทัวเนีย

ประเทศลิทัวเนีย ใช้สกุลเงินยูโร (Euro)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 22.287 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (GDP ต่อหัว 6487 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี)

อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ร้อยละ 6.7

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 2.9

อัตราการว่างงาน ร้อยละ 11.4 (จำนวนแรงงาน 1.5 ล้านคน)

ดุลการค้า ขาดดุล 3.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นำเข้า/ส่งออก 12.78 และ 9.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประเทศคู่ค้านำเข้าสำคัญ รัสเซีย (ร้อยละ 22.34) เยอรมนี (ร้อยละ 16.89) โปแลนด์ (ร้อยละ 7.56) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 3.95) ลัตเวีย (ร้อยละ 3.8)/ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (ร้อยละ 63)

ประเทศคู่ค้าส่งออกสำคัญเยอรมนี (ร้อยละ 10.24) ลัตเวีย (ร้อยละ 10.06) รัสเซีย (ร้อยละ 9.10) ฝรั่งเศส (ร้อยละ 6.31) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 5.32)/ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (ร้อยละ 66.45)

สินค้านำเข้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์แร่ธาตุ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่ง เคมีภัณฑ์ โลหะ

ภาพรวมทางเศรษฐกิจ แก้

ภายหลังจากการแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต เมื่อเดือนกันยายน 2534 ลิทัวเนียได้เปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจรวมศูนย์มาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด ทำให้สถานภาพทางเศรษฐกิจของลิทัวเนียมีความมั่นคงยิ่งขึ้น ประกอบลิทัวเนียได้ทำความตกลงการค้าเสรี (free trade agreement) กับเอสโตเนียและลัตเวียเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ รวมตลาดของทั้งสามประเทศซึ่งมีจำนวนผู้บริโภค 8 ล้านคนเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ รัฐบาลยังดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของลิทัวเนียเริ่มฟื้นตัวขึ้น อัตราเงินเฟ้อลดลงเป็นลำดับ ค่าเงินสกุลลิตัส (Litas) ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 25มิถุนายน 2536 เริ่มมีเสถียรภาพขึ้นบรรยากาศน่าลงทุนมากขึ้น

ในปี 2538 ลิทัวเนียมีอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 35.7 ลดลงจากปี 2537 ร้อยละ 45.10 ในปี 2539 มีอัตราร้อยละ 20 ในปี 2540 อัตราเงินเฟ้อลดลงเหลือร้อยละ 15 ปี 2544 เหลือร้อยละ 1.3 และ ในปี 2545 เหลือร้อยละ 0.8

โครงสร้างทางเศรษฐกิจของลิทัวเนียที่สำคัญประกอบด้วยภาคอุตสาหกรรมและพลังงาน ภาคการก่อสร้าง การค้า การขนส่ง และการบริการ

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) แก้

นับแต่ปี 2534 รัฐบาลได้ดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (privatization) โดยเปิดกว้างสำหรับประชาชนทั่วไป และรัฐบาลได้ทำการเปิดตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ “The Vilnius-based National Stock Exchange” ปลายเดือนมิถุนายน 2536 เพื่อเป็นการระดมเงินทุนภายในประเทศ บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 250,000 Litas กิจการส่วนใหญ่ที่รัฐบาลจัดการโอนให้แก่เอกชนเป็นกิจกรรมที่มีขนาดเล็ก ส่วนกิจการรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ยังคงอยู่ในความดูแลของรัฐบาล

นโยบายการเงิน แก้

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 ลิทัวเนียได้ประกาศตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลลิตัสกับเงินสกุลยูโร แทนดอลลาร์สหรัฐ ฯ ไว้ที่ 1 ลิตัส = 3.4528 ยูโร

รัฐบาลได้ออกเงินสกุลแห่งชาติลิทัวเนีย (ลิตัส) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2536 และควบคุมกระแสหมุนเวียนทางการเงินอย่างเข้มงวด

รัฐบาลมีนโยบายที่จะลดภาษีเพื่อกระตุ้นกิจกรรมด้านธุรกิจ และเพิ่มการผลิต และปรับปรุงระบบภาษีทรัพย์สิน ภาษีนิติบุคคล และภาษีรายได้ส่วนบุคคล

นอกจากนั้น รัฐบาลยังจัดตั้งเขตปลอดภาษีสำคัญการลงทุน รัฐบาลได้อนุมัติให้จัดตั้งเขตปลอดภาษีขึ้น 6 แห่ง เพื่อดึงดูดความสนใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ การลงทุนภายในเขตที่กำหนด นักลงทุนจะได้รับการยกเว้นภาษีส่งออก-นำเข้า สำหรับสิทธิภาษีอื่น ๆ หากกิจการดังกล่าวมีเงินทุนจากต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 30 ของเงินทุนทั้งหมด จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นระยะเวลานาน 3 ปี และหากเงินทุนจากต่างประเทศเกินร้อยละ 30 จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 5 ปี รัฐบาลจัดตั้งระบบบัญชีร่วม (mutual accounts) ระหว่างรัสเซียและลิทัวเนีย เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างวิสาหกิจของประเทศทั้งสอง

รัฐบาลดำเนินมาตรการปล่อยให้ราคาสินค้าลอยตัวโดยเสรี ส่งเสริมการแข่งขันโดยภาคเอกชน และยกเลิกการสนับสนุนโดยรัฐบาล ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2536 รัฐบาลได้ยกเลิกการพยุงและอุดหนุนราคา (subsidies) ในสินค้าขนมปัง และน้ำตาล

สำหรับการค้าการลงทุนในลิทัวเนียมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลลิทัวเนีย ได้ออกกฎหมายหลายฉบับซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อผู้ลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในลิทัวเนีย ดังจะเห็นได้จากการที่ในช่วงต้นปี 2538 เงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนสูงกว่า 57% ของเงินลงทุนทั้งหมด กอปรกับปัจจัยต่าง ๆ ที่สนับสนุนการลงทุนในลิทัวเนีย คือ

ลิทัวเนียเป็นรัฐที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองระดับหนึ่ง ทำให้นักลงทุนมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุน

ในแง่ภูมิศาสตร์ ลิทัวเนียสามารถระบายสินค้าไปสู่รัสเซียเพราะความใกล้ชิดทางด้านภูมิศาสตร์และคุ้นเคยกับการค้าขายกับรัสเซีย

ระบบการคมนาคมและสื่อสาร ภายในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีและสามารถติดต่อกับภูมิภาคยุโรปได้สะดวก อีกทั้งการพัฒนาสาธารณูปโภคก็อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งเป็นพื้นฐานในการลงทุนในประเทศ

ลิทัวเนียได้จัดทำความตกลงทางการค้าเสรีกับหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งสหภาพยุโรปซึ่งเป็นหนทางขยายลู่ทางการค้าวิธีหนึ่ง

เมื่อเดือนมกราคม 2539 รัฐบาลลิทัวเนียได้อนุมัติ Public Investment Programme ซึ่งเป็นโครงการการลงทุนที่ต้องการเงินทุนมาพัฒนาในสาขาจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน โดยมีสาขาที่ต้องการเงินลงทุนมากที่สุดตอนนี้คือ ระบบสาธารณูปโภค พลังงานคมนาคม การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โครงการเกี่ยวกับสุขภาพ (โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์) โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐลิทัวเนีย ความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง ประเทศไทยได้ประกาศรับรองเอกราชสาธารณรัฐลิทัวเนียพร้อมกับประเทศบอลติก อื่น ๆ (ลัตเวียและเอสโตเนีย) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2534 และเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2534 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาลงมติเห็นชอบให้ดำเนินการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับลิทัวเนีย (พร้อมกับลัตเวียและเอสโตเนีย) ซึ่งต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2536 ประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐลิทัวเนียอย่างเป็นทางการ และมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน มีเขตอาณาครอบคลุมลิทัวเนียและไอซ์แลนด์ด้วย ในปัจจุบันนายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ [[เอกอัครราชทูต[[ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำลิทัวเนียและไอซ์แลนด์

สถานที่อยู่ Royal Thai Embassy, Norgesmindevej 18 2900 Hellerup Copenhagen Tel.(45) 39625010,39625257 Fax: (45) 39625059

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2545 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เห็นชอบในการแต่งตั้งนาย Ginutis Dainius Voveris เป็นเอกอัครราชทูตลิทัวเนียประจำประเทศไทย โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงวิลนีอุส ตามที่รัฐบาลลิทัวเนียได้เสนอ สำหรับกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ กรุงวิลนีอุส ได้แก่ นายโรลันดัส วาลีอูนัส (Mr. Rolandas Valiunas) ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2547 และกงสุลกิตติมศักดิ์ลิทัวเนียประจำประเทศไทย คือ ศ.นพ.วงศ์กุลพัทธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2548

ความสัมพันธ์ทางด้านการค้าและการลงทุน (ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) แก้

ปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับลิทัวเนียยังอยู่ในระดับต่ำ ในปี 2546 ปริมาณการค้ารวมมีมูลค่า 14.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกมีมูลค่า 13.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 1.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปริมาณการค้าไทย-ลิทัวเนียในช่วงปี 2547 มีมูลค่า 20.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไทยส่งออก 19.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้า 0.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในด้านดุลการค้าปรากฏว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด (ยกเว้นปี 2542)

สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปลิทัวเนีย ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว เนื้อปลาสด แช่เย็นและแช่แข็ง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า

สินค้านำเข้าจากลิทัวเนีย ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ถ่านหิน เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ และเศษโลหะ นมและผลิตภัณฑ์นม เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-ลิทัวเนีย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งมีเขตอาณาครอบคลุมลิทัวเนีย กระทรวงการต่างประเทศ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาทางธุรกิจ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้มีการทำความรู้จักและการพบปะจับคู่ทางธุรกิจระหว่าง ภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย อาทิ

  1. งาน Lithuanian-Thai Business Forum ที่กรุงวิลนีอุส ในโอกาสการเยือนลิทัวเนียของนายกันตธีร์ ศุภมงคล ผู้แทนการค้าไทย เมื่อวันที่ 1-4 ตุลาคม 2546
  2. งาน Thailand-Lithuania Business Forum ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ ในโอกาสการเยือนไทยของนายเปตรัส เซสนา (Petras Cesna) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจลิทัวเนีย เมื่อวันที่ 10-15 พฤศจิกายน 2546
  3. งาน Thailand-Lithuania Business Forum ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ ในโอกาสการเยือนไทยของนายอันโตนัส วาลิโอนัส (Antanas Valionis) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลิทัวเนีย เมื่อวันที่ 5-7 เมษายน 2547

ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน

  1. การขาดข้อมูลทางการค้าระหว่างกัน
  2. การขาดความมั่นใจในเสถียรภาพทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศลิทัวเนีย ทำให้นักลงทุนชาวไทยไม่กล้าเสี่ยงที่จะเข้ามาลงทุน
  3. ลิทัวเนียถือได้ว่ายังเป็นตลาดขนาดเล็ก มีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 3.5 ล้านคน

และค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับลิทัวเนีย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนราคาสินค้า ที่จะนำเข้าไปจำหน่ายในตลาดของทั้งสองประเทศ มีราคาสูงขึ้น (ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ)