เมล บอชเนอร์

ศิลปินชาวอเมริกัน

เมล บอชเนอร์ (อังกฤษ: Mel Bochner) เป็นศิลปินอเมริกันที่มีความสำคัญต่อความเคลื่อนไหวของศิลปะคอนเซ็ปชวลมากที่สุดคนหนึ่ง (อังกฤษ:Conceptual Art) บอชเนอร์เกิดในปี 1940 ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา[1] เติบโตในวัฒนธรรมครอบครัวชาวยิวดั้งเดิม สิ่งที่บอชเนอร์สนใจและมักนำมาใช้ในงานคือ ตัวเลข การวัด การนิยาม เป็นต้น[2] เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างการรับรู้ผ่านการมองเห็นวัตถุ กับสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างขนาด การคำนวณ หรือข้อตกลงร่วมกันอื่นๆในสังคม

เมล บอชเนอร์
ไฟล์:เมล บอชเนอร์.jpg
เมล บอชเนอร์
เกิดปี 1940
พิตส์เบิร์ก, เพนซิลเวเนีย, สหรัฐอเมริกา
สัญชาติอเมริกัน.
การศึกษาสถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกี (มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน)
มีชื่อเสียงจากศิลปะจัดวาง, ประติมากรรม, จิตรกรรม
ขบวนการศิลปะคอนเซ็ปชวล

การศึกษา และชีวิตก่อนเป็นศิลปิน แก้

ช่วงมัธยม บอชเนอร์ได้รับรางวัลจาก เดอะ สโกลาสติก อาร์ต แอนด์ ไวร์ทติ้ง อวอร์ด (The Scholastic Art & Writing Awards) และได้ศึกษากับโจเซฟ ฟิทซ์แพททริก (Joseph Fitzpatrick) อาจารย์สอนศิลปะซึ่งสอนศิลปินที่มีพรสวรรค์หลายคน เช่น แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) และ ฟิลิป เพิร์ลสเตน (Philip Pearlstein) หลังจากนั้นบอชเนอร์เข้าศึกษาที่ คาร์เนกี้ อินสติติว ออฟเทคโนโลยี (Carnegie Institute of Technology) สำเร็จการศึกษาในปี 1962 และยังได้เรียนปรัชญาอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University) และได้ย้ายไปอยู่นิวยอร์กในปี 1964 งานแรกที่ทำในนิวยอร์กคือเป็นผู้รักษาความปลอดภัยที่พิพิธภัณฑ์ยิว (The Jewish Museum)

แนวคิดและงาน แก้

บอชเนอร์เป็นศิลปินในยุคของความเปลี่ยนแปลง (ครึ่งหลังทศวรรษที่ 1960) เป็นช่วงเวลาที่ภาพเขียนค่อยๆ สูญเสียความสำคัญในพื้นที่ศิลปะสมัยใหม่ และภาษาได้เปลี่ยนแปลงจากการมีหน้าที่เพียงอธิบายศิลปะ กลายเป็นศิลปะด้วยตัวมันเอง บอชเนอร์ได้สำรวจระเบียบแบบแผนของทั้งภาพเขียนและภาษามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิธีที่เราสร้างและเข้าใจมัน และวิธีที่มันเชื่อมโยงระหว่างกัน เพื่อที่จะทำให้เราสนใจรหัสภายใต้ข้อตกลงของเรากับสังคมมากขึ้น[3] งานศิลปะของเขาจึงเป็นงานที่มักแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง "ภาษา" กับ "พื้นที่" หรือ "สี"[4]

“สิ่งที่ผมอยากจะทำความเข้าใจคือ ธรรมชาติของข้อตกลง ข้อตกลงเป็นสิ่งที่กำหนดขอบเขตประสบการณ์ของเรา ถ้าคุณตรวจสอบข้อตกลงนั้น คุณจะพบว่าช่องโหว่ของมันอยู่ตรงไหน คุณจะพบการรั่วไหลระหว่างคำว่า ใช่ กับ ไม่ใช่” บอชเนอร์กล่าวกับเจมส์ เมเยอร์ (James Meyer) จากการเสวนา "คุณจะปกป้องการเขียนภาพได้อย่างไรในตอนนี้" (How Can You Defend Making Paintings Now?) ปี 1993[5]

ตัวอย่างผลงาน แก้

ปี 1966 บอชเนอร์เป็นศิลปินและภัณฑารักษ์ในนิทรรศการศิลปะที่ชื่อว่า “งานวาดเขียน หรือรูปภาพต่างๆ ที่ปรากฏบนกระดาษไม่จำเป็นต้องเรียกว่าศิลปะ” (Working Drawings and Other Visible Things on Paper Not Necessarily Meant to Be Viewed as Art) จัดขึ้นที่สคูล ออฟ วิชวล อาร์ต (School of Visual Arts) นิทรรศการครั้งนั้นมีความมุ่งหมายว่าภาพเขียนที่จัดแสดงต้องไม่เป็นไปตามธรรมเนียมเดิม บอชเนอร์จึงใช้เทคโนโลยีการถ่ายเอกสารเพื่อคัดลอกภาพหลายชนิด เช่น ภาพสเก็ตช์ ภาพลายเส้น พิมพ์เขียว ไปจนถึงกระดาษโน้ต คำอธิบาย และของอื่นๆ ที่ศิลปินมินิมอลลิสม์ (Minimalism) บางคนมอบให้มาใส่ไว้ในแฟ้มตรงแท่นจัดแสดงผลงาน ดังนั้นจึงไม่มีผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ มีเพียงแนวความคิดทางศิลปะให้ชม โดยมีทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นจากการออกแบบและความบังเอิญ ทำให้ศิลปะและสิ่งที่ไม่ใช่ศิลปะมาปะทะกัน และความแตกต่างระหว่างสองสิ่งนี้ก็เริ่มแยกจากกันได้ยากมากขึ้น สิ่งที่บอชเนอร์นำมาจัดแสดง ยกตัวอย่างเช่น สำเนาภาพสเก็ตช์ของโซล เลวิทท์ (Sol LeWitt) และโดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd) การคำนวณ และโน้ตเพลงของจอห์น เคจ (John Cage) ไปจนถึงแผนภาพการสะสมและถ่ายเอกสารของบอชเนอร์เอง เป็นต้น ในสายตาของนักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายท่านเห็นว่านิทรรศการครั้งนั้นเป็นงานคอนเซ็ปชวลขนานแท้งานแรก และเป็นต้นแบบให้กับการจัดแสดงผลงานอื่นๆ ตามแนวทางคอนเซ็ปชวลในภายหลัง ซึ่งก็คือการที่แนวความคิดสำคัญกว่าตัวผลงาน หลายปีต่อมาบอชเนอร์หันมาทำงานศิลปะในรูปแบบที่เรียกว่า “ความคิดที่ถ่ายทอดออกมาให้เห็นเป็นภาพ” บอชเนอร์ทดลองทำงานหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการทดลองใช้ภาพถ่ายกับภาพวาดต่อเนื่องเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติ องค์ความรู้และประสบการณ์[6][7]

ปี 1969 บอชเนอร์ทำงานชุด “ห้องแห่งการวัด” (Measurement Room) ผลงานชุดนี้ทำให้ห้องกลายเป็นผลงานศิลปะ ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ในการนำเสนอผลงานศิลปะอีกต่อไป โดยบอชเนอร์ทำการวัดขนาดพื้นที่แต่ละส่วนในห้องสำหรับจัดแสดงงานเปล่าๆ และติดขนาดที่วัดได้ไว้ข้างผนังด้วยเทปกาว วิธีการนี้ทำให้ผู้ชมตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างความเป็นนามธรรมจากรูปทรงเรขาคณิตและพื้นที่จริงของห้องที่จัดแสดงผลงาน[8]

ปี 1970 เป็นช่วงเวลาที่บอชเนอร์เริ่มทำงานประเภทจิตรกรรม โดยมักให้ความสำคัญกับภาษา และการใช้สี เช่นผลงานในนิทรรศการกลุ่ม จัดแสดงที่ดวอนแกลเลอรี (Dwan Gallery) โดยเขาเขียนข้อความว่า “ภาษาไม่โปร่งแสง” (Language Is Not Transparent) ไว้บนผนัง ซึ่งเป็นการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับคุณลักษณะที่เป็นนามธรรมของภาษา[9]

ปี 1998 ผลงานชื่อ "Event Horizon" บอชเนอร์ติดผืนผ้าใบขนาดต่างๆ บนผนังต่อกันตามแนวนอน และเขียนขนาดความกว้างเป็นนิ้วบนผ้าใบ

ปี 2011 ผลงานชื่อ "Blah, Blah, Blah" ภาพวาดที่แสดงให้เห็นความหลงใหลอย่างต่อเนื่องในภาษาและการใช้สีของบอชเนอร์ โดยคำว่า Blah Blah Blah จำนวนมาก เป็นสีที่ไหลซึมอยู่บนผืนผ้าสีดำขนาดใหญ่[10]

บทบาทอื่นๆ ในวงการศิลปะ แก้

  • ปี 1965 เป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สคูล ออฟ วิชวล อาร์ต เขียนคอลัมน์ลงในนิตยสาร อาร์ต แมกกาซีน (Arts Magazine) และยังเป็นนักวิจารณ์เกี่ยวกับพัฒนาการในวงการศิลปะมินิมอลลิสม์ในนิวยอร์ก ซึ่งส่งผลต่อการทำงานศิลปะที่คำนึงถึงโครงสร้างทางความคิดและภาษา โดยในช่วงเวลานั้นบอชเนอร์ก็ทำงานศิลปะแบบมินิมอลลิสม์[11]
  • ปี 1979 บอชเนอร์ได้รับตำแหน่งนักวิจารณ์อาวุโส ในสาขาจิตรกรรมและภาพพิมพ์ ที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) และได้เป็นศาสตราจารย์วุฒิคุณที่นั่นในปี 2001[12]
  • งานเขียนได้แก่ Solar System & Rest Rooms: Writings and Interviews, 1965-2007 และ Mel Bochner: Thought Made Visible 1966-1973[13]

นิทรรศการรวบรวมผลงานย้อนหลัง แก้

ปี 1985 หอศิลป์คาร์เนกี้ เมลลอน (The Carnegie Mellon Art Gallery) จัดงานรวบรวมผลงานย้อนหลัง ชื่อ "เมล บอชเนอร์ :1973-1985" ภัณฑารักษ์คือ อีเลน เอ คิง (Elaine A. King) พร้อมกับการพิมพ์แคตตาล็อกชื่อเดียวกัน แคตตาล็อกนี้ได้รับรางวัลจากสมาคมพิพิธภัณฑ์อเมริกัน โดยคิงได้เขียนบทความ "การสร้างภาษา" และชาร์ลส์ สตัคคี (Charles Stuckey) เขียนเรื่อง "บทสัมภาษณ์กับ เมล บอชเนอร์" นิทรรศการนี้ยังได้ไปจัดแสดงที่ Kuntzmuseum ในลูเซิร์น สวิตเซอร์แลนด์ และเซ็นเตอร์ ออฟ ไฟน์ อาร์ท (Center of Fine Arts) ในไมอามี

ปี 1995 หอศิลป์มหาวิทยาลัยเยล จัดงานชื่อ "เมล บอชเนอร์: ความคิดทำให้เกิดภาพ 1966-1973" (Mel Bochner: Thought Made Visible 1966–1973) โดยยังได้ไปจัดแสดงในบรัสเซล และมิวนิก

ปี 2004 ผลงานของบอชเนอร์ได้จัดแสดงที่ วิทนีย์ ไบเอเนียล (Whitney Biennial) และปี 2005 ผลงานได้เป็นส่วนหนึ่งของ โอเพ็นซิสเทม รีธิงกิ้ง อาร์ต 1970 (OpenSystems: Rethinking Art c.1970) ที่เทต โมเดิร์น (Tate Modern) ในลอนดอน นอกจากนี้ผลงานของเขายังได้ถูกจัดแสดงโดยพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในนิวยอร์ก (Museum of Modern Art)

ในปี 2011 ผลงานย้อนหลังของเขาถูกจัดขึ้นที่เนชันแนล แกลเลอรี่ ออฟ อาร์ต (National Gallery of Art)

การสำรวจผลงานของเมล บอชเนอร์ ชื่อว่า "เมล บอชเนอร์: ถ้าสีเปลี่ยน" (Mel Bochner: If the Colour Changes) จัดขึ้นที่ ไวท์ชาเปล แกลเลอรี่ (Whitechapel Gallery) ในลอนดอน, Haus der Kunst ในมิวนิก และ Museu de Arte Contemporanea de Serralves ในปอร์โต ช่วงปี 2012 เป็นการติดตามเกือบ 50 ปีของการทำงาน นิทรรศการเริ่มด้วยผลงาน "Blah, Blah, Blah" (2011) และนิทรรศการนี้มาพร้อมกับสิ่งพิมพ์ ประกอบด้วยบทความที่เขียนโดย Achim Borchardt-Hume, Briony Fer, João Fernandes, Mark Godfrey และ Ulrich Wilmes

ยังมีการจัดแสดงโดย บริษัท ปีเตอร์ ฟรีแมน (Peter Freeman, Inc.) ในนิวยอร์ก, แฟรงเกิล แกลเลอรี (Fraenkel Gallery) ในซานฟรานซิสโก และ มาร์ค เซลวิน ไฟน์ อาร์ต (Marc Selwyn Fine Art) ใน ลอสแอนเจลิส แคลิฟอร์เนีย

อ้างอิง แก้

  1. ดาเนียล มาร์โซนา, คอนเซ็ปชวลอาร์ต, แปลโดย อณิมา ทัศจันทร์ (เชียงใหม่: ไฟน์อาร์ท,2552), 40.
  2. http://www.whitechapelgallery.org/exhibitions/mel-bochner-if-the-colour-changes
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-03-25. สืบค้นเมื่อ 2013-10-09.
  4. https://www.artsy.net/artist/mel-bochner
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-03-25. สืบค้นเมื่อ 2013-10-09.
  6. ดาเนียล มาร์โซนา, คอนเซ็ปชวลอาร์ต, 40.
  7. Wood, Paul, Conceptual art (London : Tate Publishing, 2002), 34-35.
  8. ดาเนียล มาร์โซนา, คอนเซ็ปชวลอาร์ต, 40.
  9. ดาเนียล มาร์โซนา, คอนเซ็ปชวลอาร์ต, 40.
  10. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-03-25. สืบค้นเมื่อ 2013-10-09.
  11. ดาเนียล มาร์โซนา, คอนเซ็ปชวลอาร์ต, 40.
  12. http://www.artnet.com/artists/mel-bochner/
  13. เรื่องเดียวกัน.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

http://www.melbochner.net/