เทศบาลเมืองตะพานหิน
ตะพานหิน เป็นเทศบาลเมืองซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ตำบลตะพานหินทั้งตำบล ตั้งอยู่ในอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เคยมีฐานะเป็นเทศบาลตำบล ซึ่งแต่เดิม อาคารสำนักงานเทศบาลตำบลเป็นอาคารไม้ที่ทรุดโทรม จึงได้มีการก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลขึ้นใหม่และเปิดใช้งานใน พ.ศ. 2527[3] ต่อมาใน พ.ศ. 2538 ได้ยกฐานะเทศบาลตำบลตะพานหินขึ้นเป็น เทศบาลเมืองตะพานหิน[1] ปัจจุบันเทศบาลแบ่งการปกครองออกเป็น 16 ชุมชน[4] มีประชากรรวมทุกชุมชนทั้งสิ้น 13,868 คน[2]
เทศบาลเมืองตะพานหิน | |
---|---|
พิกัด: 16°12′38.8″N 100°25′07.7″E / 16.210778°N 100.418806°E | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | พิจิตร |
อำเภอ | ตะพานหิน |
จัดตั้ง |
|
การปกครอง | |
• นายกเทศมนตรี | ปัญญา แพมงคล |
พื้นที่ | |
• ทั้งหมด | 5.20 ตร.กม. (2.01 ตร.ไมล์) |
ประชากร (2562)[2] | |
• ทั้งหมด | 13,868 คน |
• ความหนาแน่น | 2,666.92 คน/ตร.กม. (6,907.3 คน/ตร.ไมล์) |
รหัส อปท. | 04660401 |
ที่อยู่ สำนักงาน | 14 ถนนหนุมาน ตำบลตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร |
เว็บไซต์ | www |
ชื่ออำเภอ ตำบล และเทศบาลเมืองตะพานหิน มีที่มาจากในอดีต บริเวณเหนือตลาดตะพานหินขึ้นไปประมาณ 1 กิโลเมตร มีหินดานอยู่กลางแม่น้ำน่านโดยยื่นออกมาจากฝั่งตะวันออกและยาวขวางแม่น้ำจนเกือบถึงฝั่งตะวันตกเหลือช่องว่างน้ำลึกเพียงเล็กน้อยพอที่เรือจะแล่นผ่านได้ ด้วยลักษณะคล้ายสะพานที่เป็นหินนี่เอง จึงเรียกหมู่บ้านนี้มาตั้งแต่เดิมว่า "บ้านหัวดาน" หรือ "บ้านตะพานหิน" ในอดีตฤดูแล้งตอนน้ำลดจะสามารถมองเห็นหินดานดังกล่าวได้แต่ปัจจุบันไม่สามารถมองเห็นได้อีกแล้ว เพราะเมื่อ พ.ศ 2530 กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมได้ก่อสร้างท่าเรือ ขุดลอกแม่น้ำน่าน และได้ระเบิดหินดังกล่าวออกไป
ในอดีต เทศบาลเมืองตะพานหินมีความสำคัญต่อการคมนาคมเป็นอย่างมาก เพราะมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 113 ที่เชื่อมต่อกับจังหวัดเพชรบูรณ์ และมีสถานีรถไฟตะพานหิน ซึ่งเป็นสถานีรถไฟย่านขนาดใหญ่จำนวน 5 ชานชาลา[5] นอกจากนี้ ตัวเทศบาลยังมีท่าเทียบเรือตะพานหิน ซึ่งเป็นสถานีขนส่งสินค้าทางน้ำ[6] ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน เส้นทางสัญจรและค้าขายที่สำคัญของเทศบาล
พื้นที่เทศบาลเมืองตะพานหิน เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีบ้านเรือนหนาแน่น และมีอาณาเขตติดต่อกับองค์การบริหารส่วนตำบลอื่น ๆ ในอำเภอเดียวกัน ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลงิ้วราย หนองพยอม และห้วยเกตุ เศรษฐกิจมีลักษณะประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตร โดยมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ประมาณ 40 โรงงาน[7] ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ[4] และเทศบาลแห่งนี้ก็เป็นที่ตั้งของวัดเทวประสาท ซึ่งมีพระพุทธเกตุมงคล พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองตะพานหิน ประดิษฐานอยู่
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลเมืองตะพานหิน จังหวัดพิจิตร พ.ศ. ๒๕๓๘" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 112 (40 ก): 53–57. 24 กันยายน 2538.
- ↑ 2.0 2.1 สำนักบริหารการทะเบียน. กรมการปกครอง. กระทรวงมหาดไทย. "ระบบสถิติทางการทะเบียน : รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้านประจำปี พ.ศ. 2562." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/statTDD/ [ม.ป.ป.]. สืบค้น 12 กุมภาพันธ์ 2563.
- ↑ "ประวัติเทศบาลเมืองตะพานหิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-19. สืบค้นเมื่อ 2020-05-07.
- ↑ 4.0 4.1 "ข้อมูลสังคมเทศบาลเมืองตะพานหิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-18. สืบค้นเมื่อ 2020-05-07.
- ↑ สถานีรถไฟตะพานหิน - ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน
- ↑ "รายงานท่าเทียบเรือ - กรมเจ้าท่า (หน้า 22)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-12-09. สืบค้นเมื่อ 2020-05-07.
- ↑ "ข้อมูลทั่วไปของเทศบาลเมืองตะพานหิน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-18. สืบค้นเมื่อ 2020-05-07.