เดกาเมรอน หรือ เดกาเมโรเน (อิตาลี: Decameron หรือ Decamerone) เป็นจุลนวนิยาย (novella) ร้อยเรื่องที่โจวันนี บอกกัชโช นักประพันธ์ชาวอิตาลี เขียนขึ้น อาจเริ่มเขียนราวปี ค.ศ. 1350 และจบลงในปี ค.ศ. 1353 “เดกาเมรอน” เป็นหนังสือที่เขียนเป็นอุปมานิทัศน์ที่เป็นเรื่องราวของความรักแบบต่าง ๆ ตั้งแต่รักที่ยั่วยวนไปจนถึงรักที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม บางท่านก็เชื่อว่าบางส่วนของหนังสือได้รับอิทธิพลมาจาก “ตำราแห่งความรัก” (The Book of Good Love) โดย ฆวน ราอูส

เดกาเมรอน
ภาพเขียนการเล่าเดกาเมรอน
โดยจอห์น วิลเลียม วอเทอร์เฮาส์
ผู้ประพันธ์โจวันนี บอกกัชโช
ชื่อเรื่องต้นฉบับIl Decamerone
วันที่พิมพ์ค.ศ. 1350 ถึง ค.ศ. 1353

“เดกาเมรอน” มีอิทธิพลต่องานประพันธ์และงานจิตรกรรมต่อมาอีกมากเช่น “แคนเทอร์บรีเทลส์” โดยเจฟฟรีย์ ชอเซอร์ หรือ “เริ่มดีจบดี” (All's Well That Ends Well) โดยวิลเลียม เชกสเปียร์ ที่มีรากฐานมาจากเล่มสามเรื่องที่เก้า หรือโคลง “อิสาเบลลาและกระถางใบโหระพา” (Isabella, or the Pot of Basil) โดยจอห์น คีตส์ ที่มาจากเรื่องของลิสาเบ็ตตา

ชื่อเรื่องมาจากคำภาษากรีกสองคำผสมกัน “δέκα” หรือ “déka” ที่แปลว่า “สิบ” และ “ἡμέρα” หรือ “hēméra” ที่แปลว่า “วัน”[1]

เนื้อเรื่อง

แก้

“เดกาเมรอน” เป็นหนังสือที่เขียนโดยใช้โครงสร้างแบบที่เรียกว่า “Frame Narrative” และถือกันว่าเป็นนวนิยายเล่มแรก ที่เขียนเสร็จโดยโจวันนี บอกกัชโชในปี ค.ศ. 1353 บอกกัชโชเริ่มด้วยการบรรยายถึงกาฬโรค (กาฬโรคระบาดในยุโรป) และนำไปสู่การแนะนำกลุ่มชายหนุ่มสามคนและหญิงสาวอีกเจ็ดคนที่เป็นตัวละครในเรื่อง ที่หลบหนีจากโรคระบาดในฟลอเรนซ์ไปยังพำนักอยู่ที่คฤหาสน์ในเนเปิลส์ เพื่อเป็นการฆ่าเวลา สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มก็จะเล่าเรื่องหนึ่งเรื่องต่อแต่ละคืนที่พำนักอยู่ในคฤหาสน์

“เดกาเมรอน” เป็นงานชิ้นสำคัญตรงที่ให้คำบรรยายอย่างละเอียดถึงผลกระทบกระเทือนทั้งทางกาย ทางใจ และทางสังคมของกาฬโรคต่อยุโรป และสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องหลายเรื่องมาปรากฏใน “แคนเทอร์บรีเทลส์” โดยเจฟฟรีย์ ชอเซอร์ แต่ไม่เป็นที่ทราบแน่นอนว่าชอเซอร์รู้จัก “เดกาเมรอน” หรือไม่

แพมพิเนีย ตัวละครสตรีคนหนึ่งได้รับเลือกให้เป็นราชินีของวันแรก แต่ละวันราชินีหรือราชาของวันก่อนหน้านั้นก็จะเลือกหัวข้อของวันต่อไป แต่ละวันก็จะเป็นหัวเรื่องใหม่ นอกจากวันแรกและวันที่เก้า หัวข้อต่าง ๆ ก็รวมทั้งหัวข้อที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ร้ายที่ในที่สุดก็นำความสุขที่มิได้คาดหวังมาให้, ผู้ที่ได้รับความสำเร็จตามที่หวังไว้หรือพบสิ่งที่หายไป, เรื่องรักที่จบลงด้วยความไม่มีความสุข, เรื่องรักที่รอดจากภัยพิบัติอันร้ายแรง, ผู้ที่สามารถรอดจากอันตราย, กลเม็ดของสตรีที่ใช้กับสามี, กลเม็ดของทั้งชายและหญิงที่ใช้ต่อกัน และผู้ที่ได้รับสิ่งต่าง ๆ อย่างมากไม่ว่าจะเป็นความรักหรืออื่น ๆ

บรรยากาศของเรื่องที่บรรยายใน “เดกาเมรอน” มีอิทธิพลเป็นอย่างมากมาจากความเชื่อและความสำคัญของเลขศาสตร์ (numerology) ของยุคกลาง เช่นเป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่าสตรีเจ็ดคนในเรื่องเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมสี่ประการ (ความรอบคอบ ความพอประมาณ ความอดทน และความยุติธรรม) และคุณธรรมสามประการของคริสต์ศาสนา (ความศรัทธา ความหวัง และ ความรัก) และมีผู้เสนอต่อไปว่าชายสามคนเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งสภาวะของกรีกสามอย่าง (ความมีเหตุผล ความโกรธ และความหลง)

ชื่อตัวละครในเรื่องของสตรีเจ็ดคนก็ได้แก่ แพมพิเนีย ฟามเม็ตตา ฟิโลเมนา เอมิเลีย ลอเร็ตตา เนฟิเล และ เอลิสสา ตัวละครชายก็ได้แก่ พานฟิโล ฟิโลสตราโต และ ดิโอเนโอ

อ้างอิง

แก้
  1. The Greek title would be δεκάμερον (τό), with a more correct classical Greek compound being δεχήμερον