เซียมซู
เซียมซู หรือ กิมเซียมซู (สำเนียงแต้จิ๋ว) หรือ จินฉาน (สำเนียงจีนกลาง; จีน: 金蟾, 蟾蜍, 招财蟾蜍; พินอิน: jīn chán, chánchú, zhāocái chánchú; แปลว่า: "คางคกทอง", "คางคก", "คางคกกวาดความมั่งคั่ง") เป็นกบหรือคางคกในเทพปกรณัมจีน ปัจจุบันนิยมสร้างเป็นวัตถุมงคลรูปคางคกสีทองคาบเหรียญในปาก บูชาเพื่อดลบันดาลความมั่งคั่ง ร่ำรวย ด้วยคติความเชื่อในหลักฮวงจุ้ย แบบเดียวกับปี่เซียะ หรือผีซิว[1]
ตามปกรณัมเล่าว่า ซีหวังหมู่ หรือเอี่ยวตี๊กิมบ๊อ ผู้เป็นพระมารดาของเง็กเซียนฮ่องเต้ เทพผู้สูงสุดผู้ปกครองสวรรค์ พระนางได้เลี้ยงสัตว์ประหลาดไว้ในสระบัวหน้าพระราชวัง สัตว์ตัวนี้เสมือนกับเป็นหนึ่งเซียนหรือเทพเจ้า มีลักษณะคล้ายกบกึ่งคางคกแต่มี 3 ขา มีหางเป็นปลาช่อนอยู่ด้านในมีสีทองอร่ามไปทั้งตัว มีหลังขึ้นสัญลักษณ์รูปดาว 7 ดวง หรือดาวลูกไก่ เซียมซู ไม่ทำอะไรจะใช้ความสามารถพิเศษเรียกเงินเรียกทองมาเล่นสนุกในสระบัว อยู่วันหนึ่งเซียมซูได้แอบหนีมาโลกมนุษย์ พระนางโกรธมากจึงบัญชาให้เซียนมังกรมรกตไปตามตัวเซียมซูได้หนีมาอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตอนใต้แห่งหนึ่งที่เป็นหมู่บ้านที่ยากจนแห้งแล้งกันดาร ประชาชนอดอยากมาก มีชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเป็นคนดีมีความกตัญญูต่อบิดามารดา เซียมซูได้มาอยู่กับชายผู้นี้ได้เรียกเงินเรียกทองมากให้จำนวนมากเพื่อนำมาแจกชาวบ้านแลัวยังบันดาลให้ฝนตกมีความอุดมสมบูรณ์ทั้งหมู่บ้าน จนทั้งชายผู้นี้และทุกคนในหมู่บ้านร่ำรวยไม่มีใครจนเลย เซียนมังกรมรกตจึงไปรายงานต่อพระนาง พระนางได้ประทานพรให้แก่เซียมซู ขอให้ไปอยู่แห่งหนใดก็มีแต่ความสุข ความร่ำรวย
อีกปกรณัมหนึ่งเล่าว่า ศิษย์เอกคนหนึ่งของเล่อตงปิน หนึ่งในแปดเซียน ชื่อ เหล่าไหเซียม เป็นผู้ที่มีวิชาอาคมแก่กล้า ชอบช่วยเหลือผู้อื่น และสามารถปราบอสูรและสยบมารได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งเหล่าไหเซียมได้ปราบมารตนหนึ่ง ที่แปลงกายมาจากเซียมซู หลังจากที่เซียมซูถูกสยบแล้ว ก็ได้กลับตัวกลับใจ และขอติดตามรับใช้เหล่าไหเซียม เนื่องจากเหล่าไหเซี้ยม ชอบช่วยเหลือคนยากคนจน ด้วยการแจกเงินแจกทอง ประจวบกับที่เซียมซู มีความสามารถในการคายเงินทองออกจากปากได้ ตั้งแต่บัดนั้นเซียมซูได้ติดตามเหล่าไหเซียม ไปแจกเงินแจกทองและช่วยเหลือผู้คน[2]
การบูชาเซียมซู นิยมนำมาตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ภายในบ้านที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเงินทอง เช่น โต๊ะทำงาน หรือตู้นิรภัย บูชาด้วยขนมจันอับ และผลไม้ที่มีความหมายมงคล เช่น ส้ม, กล้วย, สับปะรด, ทับทิม หรือลูกท้อ[1]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "The Three-Legged Money Frog: Some Dos and Don'ts". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 28, 2012. สืบค้นเมื่อ 22 September 2012.
- ↑ "FENG SHUI MONEY FROG". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-01. สืบค้นเมื่อ 22 September 2012.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Ch’an Chu: The Lucky Money Toad (อังกฤษ)