เต่เหลียว
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
บทความนี้ต้องการข้อความอธิบายความสำคัญที่กระชับ และสรุปเนื้อหาไว้ย่อหน้าแรกของบทความ |
ชื่ออื่น | แต่เหลียว แต้เหลี้ยว (ฮกเกี้ยน)(แต้จิ๋ว) จันอับ (ภาษาไทย) |
---|---|
มื้อ | ขนม |
แหล่งกำเนิด | ประเทศจีน |
ภูมิภาค | ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว |
ผู้สร้างสรรค์ | ไม่ปรากฏ |
อุณหภูมิเสิร์ฟ | เย็น |
ที่มาของชื่อ
แก้ขนมแต่เหลี่ยว แต้เหลี้ยว หรือที่คนไทยเรียกขนมจันอับ เป็นขนมประเภทหนึ่งที่กินคู่กับน้ำชาของจีน และก็ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่นไหว้เจ้า งานแต่งงาน งานมงคล ฯลฯ จับอับ เป็นชื่อกล่องใส่ขนมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ชื่อขนม หมายถึงกล่องใส่ขนมแห้งของจีน เอาไว้ถวายหรือไหว้เจ้า จับอับ เพี้ยนมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว ว่า เจ่งอั๊บ หรือ จิ๊งอับ (敬盒/饌盒/薦盒)[1] ส่วนขนมเรียกว่า แต่เหลี่ยว หรือ แต้เหลี้ยว (茶料) ซึ่งหมายถึง ขนมแกล้มน้ำชา[2]
บางครั้ง ก็เรียกขนมแต้เหลี้ยวว่า จับกิ้ม (什錦) แปลว่า หลายหลาก หรือรวมกัน ปนกัน เพราะกล่องขนมหนึ่งกล่องก็มักจะมีขนมแต้เหลี้ยว 4-5 อย่างจากจำนวนทั้งหมดร่วมสิบอย่างปนกัน[3]
สู่เมืองไทย
แก้ขนมแต้เหลี้ยว หรือขนมจันอับ สันนิษฐานว่าน่าจะมีในไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว มีเอกสารชื่อ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง บันทึกว่า มีพวกจีนมาตั้งโรงงานทำขนมจันอับอยู่ตลาดน้อย ใกล้ประตูช่องกุดท่าเรือจ้างข้ามไปวัดพนัญเชิง และมีพวกจีนตั้งโรงงานทำขนมเปี๊ยะ ขนมโก๋ และขนมจันอับอยู่ตลาดขนมจีนอีกแห่งหนึ่ง [4]
จันอับในสมัยรัชกาลที่ 5 หมายถึงขนม 6 อย่าง มีรายชื่อในพระราชบัญญัติอากรจันอับ ร.ศ. 111 ดังนี้ [5]
- น้ำตาลกรวด
- ฟัก ถั่วก้อน ถั่วตัด งาตัด โซถึง ขนมปั้นล่ำ ขนมก้านบัวขิงเคี่ยวน้ำตาลทราย ขนมเปีย ข้าวพอง ตังเม ถั่วงา ขนมโก๋ทำด้วยแป้งเข้าแป้งถั่ว สรรพจันอับ
- วุ้นแท่ง ตังเมหลอด น้ำตาลทรายเขี้ยวหล่อหลอมเป็นรูปต่าง ๆ
- ขนมกะเลาเปา ทำด้วยแป้งข้าวสาลี
- ไพ่กระดาษจีน
- เทียนไขเนื้อ
แต่เอกสารบางเล่มเรียกขนมจันอับเป็นภาษาจีนว่า “แต้เหลี้ยว” ทำให้รู้ว่า จันอับเป็นชื่อกล่องใส่ขนม ในสูจิบัตรงานสมโภชน์พระนครสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีกล่าวถึงขนมแต้เหลี้ยว 58 อย่าง คือ เต้าปัง, อิ้วมั่วปัว, บีปัง, โซถึง, ตังกวยแฉะ, อิ๊วจ๊อ, เม่งถึง, เต้ายุ่น, นึ้งโก, แชะโก, เซียงเต้าทึง, ซกซา, กิมจี้เปีย, กิมเก๊กโซ, กิมโซเปีย, ฮองหงันเปีย, บีปังภู่อิ่ว, เต้าเปีย, บะเปีย, โซเกี้ยว, เบเตยโซ, กุ่ยซือเปีย, กึงกังเปีย, ฮุนเพียงโก, เกียมโก, จือถึงกัว, กังเหล็กเต้าโก, เบ๋เต้ยโก, เงกตัวโก, มี่เปา, ฮวนกัวะโซ, เล่าฮวย, ซะผ่า, ฬ่อใจ, เก๊กฮวยโก, แปะจือมั่วโก, โอจือมั่วโก, ทึ่งปัง, ทึ่งกวย, กิมหัม, ฮำคักโซ, เต้ายินไซ, บียุ่น, เกยปะโก, เปียโถ, มี่เต๊ก, เล่งมึ่งเปีย, เง่าฮุนปัง, กาเปีย, มั่วโซ, เตเปีย, บ้วยกี, เกียมกิดโซ, เฮงยิ่นโช, กวยจี้โก, ตือถึงโก, เปากวน, ลาเลกเต้าโก รวม 58 สิ่งนี้จีนเรียกว่าแต้เหลี้ยว ไทยเรียกว่าเครื่องจันอับ เป็นขนมสำหรับไหว้ เมื่อเทศกาลตรุษจีน หรือสารทจีน ต้องมีเครื่องแต้เหลี้ยวนี้กำกับทุกครั้ง เครื่องแต้เหลี้ยวนี้ยังเป็นของรับประทานกับน้ำร้อนน้ำชาด้วย หากไทยและจีนจะทำพิธีวิวาห์ หรือทำการบุญต่าง ๆ ก็มักใช้เครื่องแต้เหลี้ยวเป็นของขันหมาก รวมถึงใส่ปากกระจาด
เครื่องแต้เหลี้ยวนี้ จีนทำขายที่สำเพ็ง ราคาซื้อขายที่โรงผู้ทำต้องชั่งน้ำหนักระคนปนกันทุกสิ่ง หนักห้าชั่งจีนต่อบาท ราคาซื้อขายตามตลาดเครื่องแต้เหลี้ยวห่อหนึ่งหนักเจ็ดตำลึงจีนบ้าง แปดตำลึงจีนบ้าง ราคาห่อละเฟื้อง ที่เป็นชิ้นเป็นอันก็ขายกันอันละเฟื้อง อันละ 4 อัฐ, 2 อัฐ, หรือ 1 อัฐ[6][7]
ชนิดของแต้เหลี้ยว
แก้ปัจจุบัน ในประเทศไทยสามารถพบจันอับได้ 2 ชนิดคือ จันอับแบบแต้จิ๋วหรือกวางตุ้ง และ จันอับแบบฮกเกี้ยน
- จันอับแบบฮกเกี้ยนจะมีเครื่องประกอบทั้งหมด 13 ชนิด แต่ละชนิดจะเป็นขนมจันอับแบบที่แต้จิ๋วไม่มี ยกเว้นฟักเชื่อม คือ 1ฉิ่วอิ้ม คือขนมลูกระเบิด 2บี้ผ้าง คือขนมข้าวพอง 3อึ้งโรตีเฉียด คือขนมปังกรอบสีเหลือง 4อั่งโรตีเฉียด คือขนมปังกรอบสีแดง 5หมั่วถึง คือขนมงาตัด 6ถ้อต่าวถึง คือขนมถั่วตัด 7หมั่วเลี๊ยบหรือกิมชิวเปี้ย คือขนมเม็ดงา 8เส่งหยิน คือขนมลูกกวาด 9เป่งถึง คือน้ำตาลกรวด 10ตัวโก๊ยหรือตังกวยแฉะ คือฟักเชื่อม 11อั่งโจ้ คือพุทราแดงแห้ง 12เก็ตฮองเตียวหรือเก็ตหลองเตียว คือขนมโก๋อ่อน 13ฉุ่นโจ้ คือขนมก้านบัว จันอับแบบฮกเกี้ยนหาทานได้ยากมาก พบได้เฉพาะที่ จังหวัดภูเก็ต เท่านั้น
- จันอับแบบกวางตุ้งหรือแต้จิ๋ว โดยรวมมีเครื่องประกอบทั้งหมด ประมาณ 5 ชนิดหลัก คือ 1เต้าปัง(豆方) คือขนมถั่วตัด และอิ่วหมั่วปัง(油麻方) คือขนมงาตัด 2เหม่งทึ้ง(明糖)หรือหนึงทึ้ง(軟糖) คือขนมงาอ่อน 3โหงวจั่งปัง(五層方) คือข้าวพอง 4กวยแฉะ(瓜冊) คือฟักเชื่อม 5ซกซา(束砂)คือลูกกวาด เป็นที่นิยมมาก
วัฒนธรรม
แก้แต้เหลี้ยว หรือ จันอับ ถือว่าเป็นขนมที่ขาดไม่ได้ในงานแต่งงานของชาวจีน และ ชาวไทย เพราะเชื่อว่าความหวานของจันอับจะทำให้ชีวิตคู่รักกันอย่างชูชื่น จันอับ เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของการส่งของหมั่นให้เจ้าสาว ในส่วนของการบูชาต่างๆ ชาวจีนก็ขาดไม่ได้ที่จะบูชาด้วยจันอับ ไม่ว่าจะเป็นงาน มงคล หรือ อวมงคล จันอับก็มีส่วนเกี่ยวด้วย สรุปคือจันอับมีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมไทย และ สังคมจีน
อ้างอิง
แก้- ↑ . http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6316.45.
- ↑ . http://steventearoom.blogspot.com/2016/06/steven-liu.html.
- ↑ . https://www.facebook.com/nirandorn.narksuriyan/posts/1230827800367403.
- ↑ . คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง.
- ↑ . พระราชบัญญัติอากรจันอับ ร.ศ. 111.
- ↑ . สูจิบัตรงานนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. 2425.
- ↑ . https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_113576.