เจ้าหญิงคาราบู

ผู้อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหญิง

เมรี เบเคอร์ (11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1792 (ตามคำกล่าวอ้าง)[2] ที่วิทเทอริดจ์ เดวอนเชียร์ อังกฤษ – 24 ธันวาคม ค.ศ. 1864 ที่บริสตอล อังกฤษ) ชื่อสกุลก่อนสมรสว่า วิลล์ค็อกส์ เป็นชาวอังกฤษซึ่งอ้างตนเป็นเจ้าหญิงคาราบู โดยแสร้งว่ามาจากอาณาจักรบนเกาะอันห่างไกลแห่งหนึ่ง และหลอกลวงชาวเมืองในเกาะบริเตนอยู่หลายเดือน

เมรี เบเคอร์
ภาพ "เจ้าหญิงคาราบู" โดย เอ็น. แบรนไวต์[1]
เกิดเมรี วิลล์ค็อกส์
11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1792(1792-11-11) (ตามคำกล่าวอ้าง)
วิทเทอร์ริดจ์ เดวอนเชียร์ อังกฤษ
เสียชีวิต24 ธันวาคม ค.ศ. 1864(1864-12-24) (72 ปี)
ถนนมิลล์ เบดมินสเตอร์ บริสตอล อังกฤษ
ที่ฝังศพสุสานฮีบรอนโรด บริสตอล อังกฤษ
ชื่ออื่น
  • เจ้าหญิงคาราบู
  • คาราบูเจ้าหญิงแห่งจาวาซู
  • เบเคอร์สเตนต์
  • เมรี เบอร์เกสส์
อาชีพผู้นำเข้าปลิงดูดเลือด ผู้ปลอมตัวเป็นผู้อื่น
มีชื่อเสียงจากแสร้งเป็นเจ้าหญิงคาราบู
ถูกกล่าวหาเป็นผู้จรจัด
ปลอมตัวเป็นผู้อื่น
รับโทษจำคุก
สถานะทางคดีได้รับอภัยโทษ
คู่สมรสริชาร์ด เบเคอร์ (สมรส 1828)
บุตรเมรี แอนน์ เบเคอร์ (บุตรหญิง) (ค.ศ. 1829–1900)
บิดามารดา
  • โทมัส วิลล์ค็อกส์ (บิดา)
  • เมรี เบอร์เกสส์ (มารดา)

ประวัติ แก้

 
ภาพ "เจ้าหญิงคาราบู" โดย เอ็ดเวิร์ด เบิร์ด (ค.ศ. 1817)[1]

วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1817 ช่างซ่อมรองเท้าผู้หนึ่งในหมู่บ้านอาเมินดส์เบอรี เทศมณฑลกลอสเตอร์เชอร์ ประเทศอังกฤษ พบหญิงสาวผู้หนึ่งอยู่ในอาการงงงวย สวมเสื้อผ้าแปลกประหลาด พูดจาด้วยภาษาที่เข้าใจยาก ภรรยาของนายช่างจึงพาเธอไปพบพนักงานควบคุมดูแลคนยากไร้ พนักงานผู้นั้นมอบเธอให้อยู่ในความดูแลของแซมยวล วอร์รอลล์ เจ้าหน้าที่แมจิสเตรตประจำเทศมณฑล วอร์รอลล์ และเอลิซาเบธ ภรรยาชาวอเมริกันของเขา ต่างไม่เข้าใจสิ่งที่หญิงสาวผู้นั้นสื่อสาร นอกเสียจากว่าเธอเรียกขานตนเองว่าคาราบู และเธอสนใจใคร่รู้ในจิตรกรรมจีน พวกเขาจึงส่งเธอไปยังโรงแรมในท้องถิ่น ณ ที่นั้นเธอเรียกรูปสับปะรดที่มีผู้วาดเขียนไว้ว่า "นานัส" ซึ่งเป็นภาษาอินโดนีเซียแปลว่าสับปะรด และยืนกรานจะหลับนอนบนพื้น วอร์รอลล์จึงประกาศว่าเธอเป็นผู้ขอทาน และควรถูกดำเนินคดีที่เมืองบริสตอลฐานเป็นผู้เร่ร่อน

เธอถูกพิพากษาจำคุก ระหว่างเธออยู่ในคุก มีกะลาสีเรือชาวโปรตุเกสผู้หนึ่งนามว่า แมนูเอล เอย์เนสโซ (หรือเอเนส) ปรากฏตัวขึ้นและกล่าวว่าตนพูดภาษาของเธอได้ จากนั้นก็แปลเรื่องราวของเธอให้ทุกคนฟังว่า เธอคือเจ้าหญิงคาราบูจากเกาะจาวาซูในมหาสมุทรอินเดีย ถูกโจรสลัดจับตัวขึ้นเรือมายาวนาน จนถึงช่องแคบบริสตอล จึงตัดสินใจกระโจนลงจากเรือ และว่ายน้ำขึ้นฝั่ง

วอร์รอลล์กับภรรยาจึงพาคาราบูออกจากคุกมาอยู่ที่บ้านพวกตน และหญิงสาวผู้เป็นเสมือนเชื้อพระวงศ์แปลกประหลาดนี้ก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าผู้สูงศักดิ์ในท้องถิ่นเป็นเวลาหลายสิบสัปดาห์[3] เธอใช้ธนู ใช้ดาบ ว่ายน้ำด้วยร่างกายเปลือยเปล่า และสวดภาวนาต่อพระเจ้าที่เธอเรียกนามว่า อัลลอฮ์ผู้สูงส่ง เธอยังได้รับเสื้อผ้าอาภรณ์พิสดารต่าง ๆ และภาพเขียนของเธอได้รับการเผยแพร่ซ้ำ ๆ ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ต่อมามีบุคคลผู้หนึ่งนามว่า ดอกเตอร์วิลกินสัน มายืนยันว่าเธอเป็นเจ้าหญิงจริงแท้ โดยนำหนังสือ แพนโทกราเฟีย ของเอดมันด์ ฟราย์ ซึ่งเป็นสารานุกรมอักษรศาสตร์ มารับรองภาษาที่เธอใช้ ทั้งระบุว่า ร่องรอยบนศีรษะเธอเป็นผลมาจากการผ่าตัดแบบตะวันออก[4] หนังสือพิมพ์ต่างนำเสนอเรื่องราวการผจญภัยของเจ้าหญิงคาราบูผู้นี้ จนเธอมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาในระดับชาติ

 
อักขระของชาวเกาะจาวาซู ตามที่เธอระบุ

แต่ที่สุดแล้วความจริงก็ปรากฏเมื่อหญิงผู้หนึ่งชื่อ นีล ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรือนกินนอน จดจำเธอได้จากภาพที่ลงใน วารสารบริสตอล แล้วนำความมาแจ้งแก่วอร์รอลล์กับภรรยา จึงได้ทราบกันว่า หญิงสาวผู้กล่าวอ้างเป็นเจ้าหญิงนี้ ที่แท้คือ เมรี วิลล์ค็อกส์ บุตรสาวของช่างทำรองเท้าในหมู่บ้านวิทเทอร์ริดจ์[5] เคยรับจ้างเป็นสาวใช้ไปทั่วประเทศอังกฤษ แต่ไม่มีที่ใดให้ตั้งรกรากได้ จึงปั้นแต่งภาษาของตนเองขึ้นจากจินตนาการและคำศัพท์ภาษาโรมานี พร้อมเสกสรรค์เรื่องราวและบุคลิกภาพอันผิดประหลาดขึ้น เพื่อให้เป็นที่สนใจ ส่วนร่องรอยบนศีรษะนั้นเป็นแผลจากการบำบัดรักษาด้วยครอบแก้ว ณ โรงพยาบาลฝีมือหยาบแห่งหนึ่งในนครลอนดอน ภรรยาของวอร์รอลล์เกิดเห็นใจเธอขึ้นมา จึงจัดแจงให้เธอได้เดินทางไปยังนครฟิลาเดเฟียในสหรัฐ เธอออกเดินทางในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1817

ครั้นวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1817 มีจดหมายลงพิมพ์ใน วารสารบริสตอล อ้างว่ามาจากเซอร์ฮัดสัน โลว์ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแลจักรพรรดินโปเลียนอยู่บนเกาะเซนต์เฮเลนา จดหมายนั้นว่า ขณะที่เรืออันมุ่งหน้ามายังนครฟิลาเดเฟียและบรรทุกเจ้าหญิงคาราบูมาด้วยนั้นถูกพายุซัดเข้ามาใกล้เกาะเซนต์เฮเลนา เจ้าหญิงคาราบูได้กระโจนลงเรือลำน้อยแล้วแจวมายังเกาะอย่างเด็ดเดี่ยว เป็นที่ประทับพระทัยพระจักรพรรดิยิ่งนัก ถึงขนาดที่พระองค์เสด็จไปขอให้พระสันตะปาปาทรงอนุญาตให้เสกสมรสกับนาง แต่เรื่องนี้ก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน[6]

เมื่ออยู่ในสหรัฐ เธอได้สวมบทบาทเจ้าหญิงต่อไปเป็นเวลาสั้น ๆ โดยได้ปรากฏตนบนเวทีที่วอชิงตันฮอลล์ นครฟิลาเดเฟีย ในฐานะเจ้าหญิงคาราบู แต่ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไร[7] เธอติดต่อกับวอร์รอลล์และภรรยาเป็นครั้งสุดท้ายด้วยจดหมายจากนครนิวยอร์กเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1817 ในจดหมายนั้นเธอพร่ำบ่นถึงการที่ตนตกเป็นผู้มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ไปเสียแล้ว[7] ดูเหมือนว่าเธอจะกลับไปนครฟิลาเดลเฟียอีกครั้งจนกระทั่งลาจากสหรัฐไปใน ค.ศ. 1824 เพื่อกลับประเทศอังกฤษ[7]

ใน ค.ศ. 1824 เมื่อเธอกลับถึงเกาะบริเตนแล้ว เธอได้แสดงตัวเป็นเจ้าหญิงคาราบูอยู่อีกชั่วขณะหนึ่ง ณ ถนนนิวบอนด์ แต่ไม่มีผู้ใดเชื่อถือ[7] เธออาจจะได้เดินทางต่อไปยังประเทศฝรั่งเศสและประเทศสเปนเป็นเวลาสั้น ๆ ด้วยฐานะปลอมแปลงดังกล่าว แต่ไม่ช้าก็หวนคืนสู่ประเทศอังกฤษดังเดิม

ชีวิตในภายหลัง แก้

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1828 ปรากฏว่าเธอใช้ชีวิตอย่างหญิงม่ายอยู่ในเขตเบดมินสเตอร์ เทศมณฑลซัมเมอร์เซต โดยใช้ชื่อว่า เมรี เบอร์เกสส์ (ซึ่งที่จริงแล้วเป็นชื่อญาติผู้หนึ่งของเธอ) ณ ที่นั้นเธอสมรสกับริชาร์ด เบเคอร์ และในราว ค.ศ. 1829 ก็มีบุตรหญิงด้วยกันชื่อ เมรี แอนน์[8] ครั้น ค.ศ. 1839 มีข่าวว่าเธอขายปลิงดูดเลือดให้แก่โรงพยาบาลผู้ป่วยบริสตอล ต่อมาในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1864 เธอเสียชีวิตเพราะหกล้ม ศพเธอฝังไว้ที่สุสานฮีบรอนโรดในเมืองบริสตอล[7] บุตรสาวของเธอสืบทอดธุรกิจต่อ โดยอาศัยลำพังอยู่ในเขตเบดมินสเตอร์นั้น ณ บ้านหลังหนึ่งซึ่งมากไปด้วยแมว จนกระทั่งเสียชีวิตเพราะอัคคีภัยในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1900[9][10]

ในวัฒนธรรมประชานิยม แก้

ภาพยนตร์ แก้

ไมเคิล ออสติน และจอห์น เวลส์ เขียนบทภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่อง พรินเซสคาราบู โดยมีฟีบี เคตส์ แสดงเป็นเจ้าหญิงคาราบู เผยแพร่ใน ค.ศ. 1994 ได้เสียงวิจารณ์ระคนกัน

วรรณกรรม แก้

แคเทอรีน จอห์นสัน ประพันธ์นวนิยายเรื่อง เดอะคิวเรียสเทลออฟพรินเซสคาราบู เผยแพร่ใน ค.ศ. 2015[11]

ละครเวที แก้

เรื่องราวเจ้าหญิงคาราบูได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวทีหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงเรื่อง คาราบู เผยแพร่ใน ค.ศ. 2004 ลอรา เบแนนตี และเรื่อง พรินเซสคาราบู เผยแพร่ใน ค.ศ. 2016 เป็นละครเพลงเต็มรูปแบบ

การ์ตูน แก้

แอนทวน โอซานาม และจูเลีย แบกซ์ นำเรื่องราวเจ้าหญิงคาราบูมาเขียนเป็นการ์ตูนเรื่อง พรินเซสคาราบู เผยแพร่ใน ค.ศ. 2016

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Baring-Gould, Sabine (1908). "Caraboo". Devonshire Characters and Strange Events. London: John Lane. pp. 35–47.
  2. X, Mr. "Caraboo: A Hypertext Edition of John Matthew Gutch's Narrative". www.resologist.net. สืบค้นเมื่อ 2018-04-09.
  3. Brian Haughton. "Local Legends: Bristol's Princess Caraboo". BBC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-24. สืบค้นเมื่อ 2024-04-04.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  4. "The Times". 6 June 1817. p. 4.
  5. Anonymous (1817). Carraboo, Carraboo. The singular adventures of Mary Baker, alias princess of Javasu. London. สืบค้นเมื่อ 27 November 2023 – โดยทาง nrs.harvard.edu.
  6. Sitwell, Edith (1958). English Eccentrics. Penguin. ISBN 0140032738.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Oxford Dictionary of National Biography (online ed.). Oxford University Press. doi:10.1093/ref:odnb/41062. {{cite encyclopedia}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร)"Baker [née Willcocks], Mary [alias Princess Caraboo]". Oxford Dictionary of National Biography (online ed.). Oxford University Press. doi:10.1093/ref:odnb/41062. (Subscription or UK public library membership required.)
  8. "The History Press | The mysterious Princess Caraboo". www.thehistorypress.co.uk (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-04-09.
  9. "Mary Baker – The Princess Caraboo – Geri Walton". Geri Walton (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2014-11-05. สืบค้นเมื่อ 2018-04-09.
  10. "Princess Caraboo from the Island of Javasu". Jane Austen (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2011-07-17. สืบค้นเมื่อ 2018-04-09.[ลิงก์เสีย]
  11. Johnson, Catherine (2015). The Curious Tale of the Lady Caraboo. London: Corgi Books. ISBN 9781448197583.