เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร)

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (3 ตุลาคม พ.ศ. 2327 - 20 กันยายน พ.ศ. 2406) ชื่อเดิมว่า โต หรือ โต แซ่อึ้ง (黃道 จีนฮกเกี้ยน: n̂g tō จีนกลาง: Huáng Dào) เป็นสมุหนายกในสมัยรัชกาลที่ 3–4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นต้นสกุล "กัลยาณมิตร"

เจ้าพระยานิกรบดินทร์
(โต กัลยาณมิตร)
สมุหนายก
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2392 - พ.ศ. 2406
กษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก่อนหน้า เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ถัดไป เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์)
เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2373 - พ.ศ. 2394
ก่อนหน้า พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี)
ถัดไป พระยาราชสุภาวดี (ปาน สุรคุปต์)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด โต แซ่อึ้ง
3 ตุลาคม พ.ศ. 2327
บ้านกุฎีจีน
เสียชีวิต 20 กันยายน พ.ศ. 2406 (78 ปี)
บิดา หลวงพิชัยวารี (มั่น แซ่อึ้ง)
คู่สมรส ท่านผู้หญิงลิ้ม
บุตร ท้าวสมศักดิ์ (เจ้าจอมมารดาอึ่ง ในรัชกาลที่ 3)
พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร)
เจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร)
ศาสนา พุทธ
สกุล กัลยาณมิตร

ประวัติแก้ไข

เจ้าพระยานิกรบดินทร (โต) เกิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ปีมะโรง พ.ศ. 2327[1] ในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นบุตรของหลวงพิชัยวารี นามว่า มั่น แซ่อึ้ง[2][3] (黃緩 จีนฮกเกี้ยน: n̂g hoǎn จีนกลาง: Huáng Huǎn) ซึ่งนายมั่น แซ่อึ้ง เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนเกิดที่ตำบลไซจั๋มกัวยิม เมืองเอ้หมึง[3] อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณบ้านกุฎีจีนในสมัยกรุงธนบุรี ต่อมานายมั่นได้รับราชการเป็นหลวงพิชัยวารีในรัชกาลที่ 1 เมื่อหลวงพิชัยวารี (มั่น) ถึงแก่กรรมแล้ว นายโตจึงได้เข้ารับราชการต่อจากบิดาดำรงตำแหน่งเป็นพระพิชัยวารี[2] ผู้ช่วยราชการกรมท่า[1] ในรัชกาลที่ 2 พระพิชัยวารี (โต) ได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทำราชการในกรมท่าเกี่ยวกับการค้าขายสำเภา ได้รับสมญานามว่า "เจ๊สัวโต" เจ๊สัวโตมีพี่น้องคนหนึ่งชื่อว่า "เจ๊สัวต่วน"[3]

รับราชการแก้ไข

ในปีพ.ศ. 2367 เมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งพระพิชัยวารี (โต) ขึ้นเป็นพระยาพิชัยวารี[4] พระยาพิชัยวารี (โต) ได้ยกที่บ้านเดิมและซื้อบ้านข้าราชการเจ้าสัวและนายภาษีอากรหลายคน[5] สร้างวัดขึ้นใน พ.ศ. 2368 ถวายเป็นพระอารามหลวง โปรดฯ พระราชทานนามว่า"วัดกัลยาณมิตร" พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่พร้อมทั้งพระวิหารประดิษฐานพระราชทานเพื่อเป็นประธานแก่วัดนี้ด้วย[6]

ต่อมาในพ.ศ. 2373 เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่าที่สมุหนายกแล้ว พระยาพิชัยวารี (โต) จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาราชสุภาวดี เจ้ากรมพระสุรัสวดีกลาง ในสงครามอานัมสยามยุทธ ในพ.ศ. 2381 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมีพระราชโองการให้พระยาราชสุภาวดี (โต) ยกทัพจำนวน 10,000 คน ออกไปบูรณะปรับปรุงกำแพงเมืองเสียมราฐขึ้นใหม่[4] เพื่อป้องการการรุกรานจากญวน และในพ.ศ. 2388 เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ยกทัพไปกัมพูชา พระยาราชสุภาวดี (โต) ออกไปตั้งอยู่ที่กบินทรบุรีทำหน้าที่คอยส่งเสบียงให้แก่เจ้าพระยาบดินทรเดชา[4]

พระยาราชสุภาวดี (โต) สร้างวัดสมุหประดิษฐารามเพื่ออุทิศให้แก่มารดา เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง[7]

เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชาถึงแก่อสัญกรรมในพ.ศ. 2392 ตำแหน่งสมุหนายกว่างลง และตำแหน่งจางวางกรมพระคลังมหาสมบัติว่างลง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดฯ ให้พระยาราชสุภาวดี (โต) เป็นพระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายก และว่าที่จางวางกรมพระคลังมหาสมบัติด้วย[1] เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในพ.ศ. 2394 พระราชทานสุพรรณบัฏตั้งเจ้าพระยาราชสุภาวดี (โต) ว่าที่สมุหนายกขึ้นเป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์ มหินทรมหากัลยาณมิตร อเนกบุญฤทธิประสิทธิธาดา สาธุสิทธิคุณ วิบุลยศุภผล นิพัทธกุศลกิริยาภิรัต ธัญญธนสารสมบัติบริวารสมบูรณ อดุลยเมตยาชวาธยาศัย ศรีรัตนตรัยสรณารักษ อุดมศักดิพิเศษ นาครามาตยเชษฐมหาสมุหนายก สยามโลกดิลกบรมราชมหิศร สกโลตรทิศประเทศาธิบดี มหาราชสีหมุรธาธร อัครมหาดทยวริศรเสนาธิบดี อภัยพิรียบรากรมพาหุ ที่สมุหนายก[8]

บั้นปลายชีวิตแก้ไข

ในพ.ศ. 2402 นายอีซีดูรู ฟรังซิสกู กุยมาราเอส (Isidoro Francisco Guimarães) เจ้าเมืองมาเก๊าของโปรตุเกส นำคณะทูตโปรตุเกสเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) เป็นหนึ่งในคณะผู้แทนฝ่ายสยามในการทำสนธิสัญญากับโปรตุเกส[8] นำไปสู่สนธิสัญญาสยาม-โปรตุเกสซึ่งมอบสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่โปรตุเกส

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 20 กันยายน ปีกุน พ.ศ. 2406 อายุ 79 ปี[2] ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2407 โปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยานิกรบดินทร์[8] อัฐิของเจ้าพระยานิกรบดินทร์บรรจุอยู่ที่เจดีย์วัดกัลยาณมิตร[5]

ครอบครัวแก้ไข

เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) สมรสกับท่านผู้หญิงลิ้ม ปรากฏบุตรธิดาดังนี้คือ;[9]

นอกจากนี้ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ยังมีบุตรธิดาด้วยภรรยาอื่นๆดังนี้;

  • หลวงเดชนายเวร (ทองอยู่ กัลยาณมิตร) ร่วมในคณะทูตสยามไปกรุงลอนดอนเมื่อพ.ศ. 2400
  • พระยาสระบุรี (สุ่ม)
  • นายด้วง
  • นายแตงโม
  • ธิดาชื่อ ม่วง
  • ธิดาชื่อ พลับ
  • ธิดาชื่อ สาลี่
  • ธิดาชื่อ กลาง
  • ธิดาชื่อ สุก
  • ธิดาชื่อ ทองจีน

อ้างอิงแก้ไข

  1. 1.0 1.1 1.2 ประวัติวัดกัลยาณมิตร เรียบเรียงโดย พระครูกัลยาณุกูล. นางสาวปลีก กัลยาณมิตร พิมพ์เป็นบรรณาการ ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเชื่อ เสวิกุล ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๖.
  2. 2.0 2.1 2.2 "เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์". สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. p. 26.
  3. 3.0 3.1 3.2 บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ. "ภัยฝรั่ง" สมัยพระนั่งเกล้าฯ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2550.
  4. 4.0 4.1 4.2 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  5. 5.0 5.1 ศักดิ์ชัย สายสิงห์. งานช่าง สมัยพระนั่งเกล้าฯ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2551.
  6. "ปฐมเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร และนัยที่สะท้อนว่าร.3 ทรงรัก "เจ้าสัวโต" สหายของพระองค์ยิ่ง". ศิลปวัฒนธรรม.
  7. "วัดสมุหประดิษฐาราม". องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน).
  8. 8.0 8.1 8.2 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔. ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗; โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร
  9. รัตนกุลอดุลยภักดี, พระยา. ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2463.