เครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

เครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (อังกฤษ: voting machine) เป็นเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งร่วมมือกับบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ

เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งของบราซิล

ประวัติ แก้

การลงคะแนนเสียงเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อทดสอบหลักการของเสียงข้างมาก (Majority Rule) การลงคะแนนเป็นเครื่องมือที่จะช่วยบอกว่าเสียงข้างมากตัดสินตกลงใจอย่างไรเพื่อให้เกิดผลหรือการปฏิบัติไปตามที่ตกลงใจนั้น ๆ การลงคะแนนอาจทำโดยเปิดเผย หรือโดยการลงคะแนนแบบลับ การลงคะแนนแบบเปิดเผยที่เราเห็นกันอยู่โดยทั่วไป ตัวอย่าง เช่น การยกมือ การแยกกลุ่มคนที่มีความเห็นต่างกัน ออกเป็นกลุ่ม ส่วนการลงคะแนนแบบลับ ตัวอย่าง เช่น การหย่อนบัตรเลือกตั้ง หากสืบสาวราวเรื่องของการลงคะแนน (Voting) หรือการลงคะแนนเสียง (Vote Casting) แล้วจะพบว่าการลงคะแนนเสียงในสมัยแรก ๆ ในสมัยโรมันกระทำโดยการนำก้อนหิน หรือเศษกระเบื้องเล็ก ๆ มาหย่อนลงภาชนะเพื่อนับจำนวน ในเวลาต่อมาเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีกระดาษและหมึกพิมพ์ขึ้น จึงได้มีการนำกระดาษมาใช้ทำบัตรลงคะแนน หรือบัตรเลือกตั้งเพื่อใช้ในการลงคะแนนขึ้น

ต่อมาเมื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น ได้การนำเครื่องมือหรือเครื่องกลมาช่วยในการลงคะแนน เข้าใจว่าเครื่องลงคะแนนเครื่องแรก ๆ น่าจะเป็นแบบบัตรเจาะรู (Punch Card) ต่อมาได้มีการพัฒนาเครื่องลงคะแนนโดยอาศัยกลไกแมคานิกส์เป็นเครื่องลงคะแนนแบบคันโยก (Lver Machine) ซึ่งเคยมีบันทึกไว้ว่าแม้แต่โธมัส อัลวา เอดิสัน ก็ยังเคยประดิษฐ์เครื่องลงคะแนน

ประเภทเครื่องลงคะแนน แก้

เครื่องลงคะแนนเลือกตั้ง แบ่งได้หลายประเภท เช่น

  1. เครื่องนับบัตรเลือกตั้ง เช่น เครื่องนับธนบัตร เครื่องนับบัตรแบบเจาะรู เครื่องนับบัตรแบบ Optical Scan
  2. เครื่องลงคะแนนแบบจักรกล เช่น เครื่องลงคะแนนแบบคันโยก (Lever machine)
  3. เครื่องลงคะแนนแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องลงคะแนนแบบ Direct Record Equipment :DRE เครื่องลงคะแนนแบบจอสัมผัส (Touch Screen)

เครื่องลงคะแนนของไทย แก้

เกิดขึ้นโดยความริเริ่มของ นายวีระชัย แนวบุญเนียร กรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งไปดูงานที่ประเทศอินเดียและกลับมาตั้งคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยนักวิชาการของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าและวิศวกรของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติเห็นชอบลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกับบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2546 เพื่อผลิตเครื่องต้นแบบเครื่องแรกขึ้นในประเทศไทย และได้ทดสอบใช้งานเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งต้นแบบรุ่นแรก ในการเลือกตั้งจริงควบคู่ไปกับการลงคะแนนโดยบัตรเลือกตั้งของสหกรณ์ออมทรัพย์บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2547 หลังจากนั้น ได้มีการส่งมอบเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งต้นแบบ รุ่นที่สองให้กับสำนักงานคณะกรรมการากรเลือกตั้ง เมื่อ วันที่ 23 พฤษภาคม 2547 เมื่อประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้ผลิตเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งรุ่นที่สามโดยปรับปรุงต่อเนื่องจากเครื่องรุ่นที่สองอีกจำนวน 100 ชุด เพื่อแจกจ่ายสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ 76 จังหวัด เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศได้ทดลองใช้ ซึ่งมีประชาชนได้ทดลองใช้ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 600,000 คน และต่อมาได้มีการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อนำเครื่องลงคะแนนมาใช้ในการเลือกตั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ..... ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการลงคะแนนออกเสียงประชามติ พ.ศ..... ร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.....

องค์ประกอบของเครื่องลงคะแนนเลือกตั้งไทย แก้

เครื่องลงคะแนนเลือกตั้งประกอบด้วย 2 ส่วน

  1. ส่วนลงคะแนน (Ballot Unit:BU)
  2. ส่วนรวมคะแนน (Counting Unit :CU)
  3. ส่วนประมวลผล (Processing Unit:PU) รุ่นที่สี่ ตาม ร่างกฎหมาย ที่เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี แต่ยังไม่ได้ผ่านรัฐสภาจะมีส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาเพื่อใช้ในการประมวลผลคะแนนที่ต้องนับรวม ณ ที่นับคะแนนแห่งเดียว