เครื่องบินกระดาษจิ๋ว

เครื่องบินกระดาษไทย (Tiny Paper Plane) หรือ เครื่องบินจิ๋ว เป็นศิลปะการพับกระดาษ ให้เป็นรูปเครื่องบินขนาดเล็ก

ประวัติ แก้

เครื่องบินกระดาษจิ๋ว เป็นกระดาษตัดขนาดเล็ก แยกเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ตามหลักกายภาพของอากาศยาน มีขนาดเล็กจิ๋ว ประมาณหนึ่งฝ่ามือ เป็นผลงานการริเริ่มสร้างครั้งแรกของ นายชัยวัฒน์ โฆษธนาคม อาชีพ นักกฎหมาย และนักพับเครื่องบินกระดาษจิ๋วคนแรกของไทย โดยบุกเบิกมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 การประดิษฐ์ค้นคว้าในครั้งแรกเป็นไปอย่างเรียบง่าย โดยการใช้วัสดุธรรมชาติคือ ผักบุ้ง นำมาต่อเป็นปีกเป็นหางตามรูปแบบของเครื่องบินในรูปแบบจินตนาการของเด็ก ต่อมาได้พัฒนาเป็น แผ่นตะกั่ว แล้วเปลี่ยนเป็นกระดาษในที่สุด

ผลงานเครื่องบินกระดาษจิ๋ว มีปรากฏในสื่อนิตยสารแทงโก ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2536 และรายการโทรทัศน์หลายรายการ อีกทั้งได้รับการตีพิมพ์ลงในสื่อตีพิมพ์หลายแขนง[1]

ในการนำเสนอผลงานงานต่อสายตาชาวต่างประเทศโดยระบบอินเทอร์เน็ต นั้น Papermodelers.com สหรัฐอเมริกา ได้ยกย่องผลงานการประดิษฐ์เครื่องบินกระดาษจิ๋วไทย ให้เป็นภาพปกประจำสัปดาห์ ในสัปดาห์แรกทันที ( 25 ตุลาคม 2552) เมื่อนำเสนอผลงานการประดิษฐ์สู่สายตานักประกอบชุดต่อกระดาษนานาชาติทั่วโลก [2]

การประกอบเครื่องบินกระดาษจิ๋วฝีมือคนไทยมีลักษณะและเอกลักษณ์เฉพาะตัว กล่าวคือ รูปแบบการจำลองของเครื่องบินจะมีลักษณะที่แตกต่างจาก แบบโมเดลกระดาษจำลอง ทั้งฝั่งตะวันตก และเอเชีย กล่าวคือ เครื่องบินกระดาษจิ๋วของไทย เป็นแบบโมเดลเครื่องบินขนาดเล็ก ที่มีแนวแอโรไดนามิค (Aerodynamic curve)และรูปแบบจำลองแบบโมเดล สามมิติ มีสีสัน เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ขณะที่ แบบโมเดลจากทั้งสองแหล่งมีลักษณะแบนเรียบ ไม่มีเส้นโค้งนูนเป็นแนวแพนอากาศแต่อย่างใด อีกทั้ง ไม่มีรายละเอียดต่างๆ เช่น ฝาครอบห้องนักบินมีลักษณะใส (transparent canopy) ซึ่งสร้างจากพลาสติกง่ายๆ อันแตกต่างต่างจากฟากฝั่งต่างประเทศที่ไม่สามารถสร้างแบบฝาประทุนนักบิน และการให้รายละเอียดอื่นๆ ที่ย่อส่วนจากเครื่องบินจริง ในลักษณะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทยนี้ได้ รวมถึงการติดตั้งระบบอาวุธ ที่สามารถติดตั้งได้ทั้งจรวด ระเบิด กระเปาะอุปกรณ์เอวิโอนิค อิเลคทรอนิคส์ และอาวุธนำวิถี[ต้องการอ้างอิง]

เครื่องบินกระดาษจิ๋วไทย เป็นวิทยาการที่ผสมผสานเอาศาสตร์หลากหลายแบบเข้าเป็นกิจกรรมของเล่นสำหรับเด็กและเยาวชน กล่าวคือ ผู้ประกอบเครื่องบินกระดาษ จำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเครื่องบิน ได้แก่ ข้อมูล ของอากาศยาน แบบสี และหลักฐานอ้างอิงอื่นๆ ก่อนลงมือทำการประกอบแบบเครื่องบินกระดาษ ด้วยเหตุว่า เครื่องบินกระดาษจิ๋วเป็นการจำลองแบบเครื่องบินจริง ศึกษา ออกแบบแล้วจึงนำมาย่อ ส่วน ออกแบบตรวจสอบเป็นแผนแบบคลี่พิมพ์ลงบนกระดาษ ปัจจุบันมีแบบเครื่องบินกระดาษจิ๋วแล้วมากกว่า 400 แบบ ซึ่ง มีการมอบให้เป็นวิทยาทานเพื่อประโยชน์การศึกษาของเด็ก ณ พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ โดยอีกส่วนหนึ่งตั้งแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ [3]

เอกลักษณ์เฉพาะของเครื่องบินกระดาษจิ๋วของไทยนั้น มีความแตกต่างจากโมเดลเครื่องบินกระดาษทั่วไปที่ผลิตอยู่ทั่วโลก กล่าวคือ โมเดลเครื่องบินกระดาษซึ่งประดิษฐ์อยู่ทั่วโลกนั้น มักเป็นการพิมพ์กระดาษพร้อมแบบสีเครื่องบินออกมาพร้อมกับการพิมพ์ แบบเครื่องบินจากระบบคอมพิวเตอร์ ส่วนรูปแบบเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทยนั้น ผู้สร้างต้องลงมือทำสีเครื่องบินด้วยตนเอง และต้องลงรายละเอียดอื่นๆ เช่น ระบบอุปกรณ์สายอากาศ อาวุธ การจัดภายในห้องนักบิน แผงเครื่องวัดประกอบการบิน เก้าอี้ดีดตัว ระบบจอภาพหัวกลับ เอวิโอนิคส์ คำเตือนและแนวทางเดินของอากาศยาน ระบบฐานล้อ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบัน ตัวอักษรแสดงหน่วยบิน และคำเตือนต่างๆ ได้ถูกย่อลงโดยระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งติดอยู่กับตัวอากาศยานนั้นๆ (CAD Computer Aided Design) ผู้ประดิษฐ์ต้องศึกษาส่วนเว้าส่วนโค้ง ระบบ จุดเชื่อมต่ออื่นๆ โดยเก็บเป็นข้อมูลไว้ ก่อนประกอบตัวอากาศยานเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการจำลองเครื่องบินแบบ และรุ่นนั้นๆ ย่อขนาดเล็กจิ๋วมาแทบทุกส่วนสัด จนมีรายละเอียดความสมจริงสูงมาก[ต้องการอ้างอิง]

เครื่องบินกระดาษไทย เคยนำออกแสดงให้บุคคลสำคัญหลายท่าน ได้แก่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ในงานพิพิธภัณฑ์ของจิ๋วสัญจร ปี พ.ศ. 2549 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ในโอกาสเสด็จเปิดโรงเก็บอากาศยาน มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ปี พ.ศ. 2536 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในงานวันเด็กแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2550 ณ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ พลเรือโท ชุมพล ศิรินาวิน ในงานประจำปี 2552 โรงเรียนเทศบาล 7 ศิรินาวินวิทยา บริษัท กริพเพน อินเตอร์เนชั่นแนล (Gripen International) ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่สกัดกั้นแบบ ซ้าบ กริพเพน ยาส 39 อันเป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 4 เดือน พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2550 ในงาน ดีเฟนซ์ 2007 (Defense 2007) คุณภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก อดีตมิสยูนิเวิร์สนอกจากนี้ เครื่องบินกระดาษจิ๋วยังเคยถูกนำออกแสดงในงานแสดงการบิน ณ สนามบินกำแพงแสน (Thai Air Show 1993) ในปี พ.ศ. 2536 อีกด้วย

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้มีพระราชดำรัสในการเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานพิพิธภัณฑ์ของจิ๋วสัญจร และเยี่ยมชมเครื่องบินกระดาษจิ๋ว เมื่อ วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ความว่า

สร้างได้เหมือนจริง ต่อไปเด็กๆ จะมีเครื่องบินแบบนี้แทนที่แบบพับแล้วพุ่ง

เครื่องบินกระดาษจิ๋ว ได้รับการคัดเลือกจากสายการบินแอร์เอเชีย เพื่อเป็นกิจกรรมพิเศษ ในการรับเสด็จของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ และพระสหายในงานกิจกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555

บุคคลผู้หนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการแนะนำเครื่องบินกระดาษสู่สาธารณะ คือ นาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยศริน ประธานมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย กล่าวคือ ในการแนะนำเครื่องบินกระดาษจิ๋วนี้สู่สังคมในช่วงแรกเริ่มนั้น ประธานมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทยได้ผลักดัน ให้ผู้ประดิษฐ์ คือ นายชัยวัฒน์ โฆษธนาคม ได้เขียนบทความในหนังสือ แทงโก ถ่ายทอดความรู้แก่เด็กและเยาวชน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2536 ซึ่งถือเป็นวิสัยทัศน์อันสำคัญในการสั่งสมความรู้ด้านอากาศยานให้แก่เด็กและเยาวชนทั่วโลก ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้การพับเครื่องบินกระดาษจิ๋วตั้งแต่บัดนั้น

เครื่องบินกระดาษไทย กับการประชาสัมพันธ์ของบริษัทซ้าบ แก้

บริษัทซ้าบ (SAAB) ผู้สร้างเครื่องบินขับไล่สกัดกั้นขั้นสูง ยุคที่ 4 แบบยาส 39 กริพเพน ( SAAB JAS 39 Gripen) ได้เคยสั่งซื้อเครื่องบินกระดาษไทย เพื่อให้ในภารกิจบางประการของบริษัทฯ ปัจจุบัน เครื่องบินกระดาษจิ๋วทั้งหมด ถูกจัดเก็บไว้ ณ บริษัท ซ้าบ เมืองลิมโชปิง ประเทศสวีเดน ปัจจุบัน เครื่องบินขับไล่สกัดกั้นอเนกประสงค์แบบ ซ้าบ ยาส 39 กริพเพน (SAAB JAS 39 Gripen) ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นเครื่องบินขับไล่สกัดกั้นแบบที่ 20 ของกองทัพอากาศไทย

ปัจจุบัน มีผู้ผ่านการอบรมการประดิษฐ์เครื่องบินกระดาษจิ๋วในประเทศไทยแล้วทั่วประเทศ และเริ่มกระจายตัวออกไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้ แม่แบบการศึกษาการประดิษฐ์เครื่องบินไทยที่สำคัญในลักษณะ วิชาบูรณาการ คือ ชมรมเครื่องบินกระดาษ โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถมศึกษา กรุงเทพมหานคร กลุ่มลูกเสืออากาศ โรงเรียนดอนเมืองจตุรจินดา โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย โรงเรียนวัดราชาธิวาส ส่วนในระดับอุดมศึกษา ได้แก่ ภาควิชา วิศวกรรมศาสตร์การบินและอากาศยาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2549 กลุ่มแอโรไดนามิค นักเรียนนายเรืออากาศ โรงเรียนนายเรืออากาศ โรงเรียนการบิน กำแพงแสน กองทัพอากาศไทย โรงเรียนเทศบาล 7 ศิรินาวินวิทยา จังหวัดลำปาง และนักศึกษาสถาบันการบินพลเรือน

ในการเรียนการสอนการพับเครื่องบินกระดาษจิ๋ว ที่โรงเรียนเทศบาล 7 ศิรินาวินวิทยา นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมการพับกระดาษจิ๋ว สามารถนั่งพับเครื่องบินยาวนานถึง 5 ชั่วโมง อย่างมีสมาธิที่นับว่าเป็นเรื่องการทำสมาธิที่ยาวนานของเด็กที่แปลกเป็นอย่างยิ่ง

การสร้างเครื่องบินกระดาษไทย แก้

ปัจจุบัน แบบเครื่องบินได้รับการพัฒนาด้วยระบบการเขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์ (CAD Computer Aided Design) ผู้ประดิษฐ์สามารถสร้างสรรค์เครื่องบินแบบต่างๆ โดยใช้กรรไกรขนาดเล็ก หรือ มีดคัตเตอร์ ตัดตามแนวรอยแบบภาพวาดที่กำหนดให้ในแบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ผู้ประดิษฐ์ควรเก็บชิ้นส่วนทั้งหมดไว้ ในกล่องเพื่อป้องกันการพัดของลม เมื่อตัดชิ้นส่วนทุกชิ้นเสร็จเรียบร้อยแล้วให้พักรอไว้ โดยควรเก็บชื้นส่วนไว้ในสถานที่อับลมเพื่อป้องกันการปลิวหายของชิ้นส่วน เมื่อได้ชิ้นส่วนทั้งหมดพร้อมแล้วจึงเริ่มดัดชิ้นงานเป็นรูปทรงของชิ้นส่วนอากาศจริงตามความโค้งเว้านั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากต้องการความสมจริงของส่วนประกอบชิ้นนั้นๆ ควรใช้เครื่องมือเข้าช่วย ในการขึ้นรูป ได้แก่ แหนบ คีบ เข็มหมุด กด ดึง ดัน ตามสภาพโค้งงอของชิ้นส่วนอากาศยานชิ้นนั้นๆ

ในปี พ.ศ. 2552 นาย สตีเว่น เฮซ ช๊อคลี่ย์ เจ้าหน้าที่ภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิค บริษัท ล๊อคฮีด มาร์ติน สหรัฐอเมริกา เกิดข้อสงสัยว่า ถ้าเครื่องบินล่องหนแบบ เอฟ-22 แรพเตอร์ กลายสภาพเป็น เครื่องบินกระดาษ จะมีท่าทางบินร่อน อย่างไร ซึ่งผลเมื่อได้ทำการพับ และประกอบเครื่องบินกระดาษจิ๋วเป็นครั้งแรก และทดสอบการบินร่อนเกาะอากาศโดย พลเรือโท ชุมพล ศิรินาวิน พบว่า เครื่องบินกระดาษจิ๋ว เอฟ-22 แรพเตอร์ สามารถบินเกาะอากาศ ในท่าทางบินผาดแผลง และมีท่าบินที่สวยงาม มีการลงจอดด้วยท่าทางที่น่าประทับใจยิ่ง และในการถ่ายทำสารคดีสะเก็ดข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 พบว่า เครื่องบินกระดาษจิ๋วจำลอง แบบ เอฟ-16 เอ ไฟท์ติ้ง ฟัลคอล สามารถบินเป็นเส้นตรง เป็นระยะทางถึง 32 เมตร ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกและน่าสนใจอย่างมาก

เมื่อได้ดัดพับชิ้นส่วนดังกล่าวแล้ว ให้ทำการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยใช้ลำตัวของเครื่องบินจิ๋ว เป็นแกนกลางในการจัดตำแหน่งรูปทรงให้ถูกต้องตามหลักอากาศพลศาสตร์ (aerodynamic curve) ที่หากใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อยเหล่านี้ และสามารถวางจุดศูนย์ถ่วงกลาง (Center of Gravity CG) ได้ในตำแหน่งเหมาะสม เครื่องบินกระดาษจิ๋วก็จะสามารถร่อน และบินเกาะอากาศ (Glide and airborne capability)ได้ ซึ่งนับเป็นจุดเด่นที่แตกต่างสูงสุดของเครื่องบินกระดาษจิ๋วไทยเมื่อเทียบกับแบบโมเดลเครื่องบินอื่นๆ ทั่วโลก

อ้างอิง แก้

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-17. สืบค้นเมื่อ 2008-02-22.
  2. http://www.papermodelers.com/forum/picture-week/5903-potw-october-25-2009-a.html
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-06. สืบค้นเมื่อ 2008-02-22.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้